นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประสบความสำเร็จในการค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก (New species) โดยทีมนักวิจัย ได้มีการตั้งชื่อพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก เพื่อเป็นการยกย่องในความทุ่มเทของศาสตราจารย์ ดร.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ผู้เป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวไทยคนแรกที่บุกเบิกการศึกษาอนุกรมวิธานพืชวงศ์ขิงของประเทศไทย ว่า “เปราะทอง” ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางพฤกษศาสตร์ไทย และเป็นความพิเศษของ “เปราะทอง” ที่มีลักษณะเด่นทางสัณฐานวิทยาที่แตกต่างจากพืชวงศ์ขิงชนิดอื่น ทั้งรูปร่าง ดอกที่มีเอกลักษณ์ สีทองเหลืองอร่ามของกลีบดอก และการเจริญเติบโตในระบบนิเวศเฉพาะถิ่น ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย อีกทั้งยังสะท้อนถึงศักยภาพของทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่หายาก และมีคุณค่าต่อระบบนิเวศ และการศึกษาในอนาคต ภายใต้การนำของรองศาตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข (Surapon Saensouk)หัวหน้าหน่วยวิจัยฯ และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยลัยมหาสารคาม พร้อมทีมวิจัยที่มีประสบการณ์
อาจารย์พวงเพ็ญ” (𝘾𝙤𝙧𝙣𝙪𝙠𝙖𝙚𝙢𝙥𝙛𝙚𝙧𝙞𝙖 𝙥𝙪𝙖𝙣𝙜𝙥𝙚𝙣𝙞𝙖𝙚 𝗣. 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗕𝗼𝗼𝗻𝗺𝗮 & 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗮)
โดยทีมนักวิจัย หน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิง และพืชที่มีท่อลำเลียง เพื่อการประยุกต์ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค้นพบพืชสกุลเปราะทองชนิดใหม่ ในตระกูลพืชวงศ์ขิง ซึ่งเป็นการค้นพบในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ภาคเหนือของประเทศไทย
ที่มาของการค้นพบเปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญ
“เปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญ” (𝘾𝙤𝙧𝙣𝙪𝙠𝙖𝙚𝙢𝙥𝙛𝙚𝙧𝙞𝙖 𝙥𝙪𝙖𝙣𝙜𝙥𝙚𝙣𝙞𝙖𝙚 𝗣. 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗕𝗼𝗼𝗻𝗺𝗮 & 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗮) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae family) สกุลเปราะทอง (𝘊𝘰𝘳𝘯𝘶𝘬𝘢𝘦𝘮𝘱𝘧𝘦𝘳𝘪𝘢 genus) ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดยคำระบุชนิดมาจากชื่อของท่าน การตั้งชื่อพืชชนิดใหม่ให้กับท่านเป็นการยกย่องในความทุ่มเทของศาสตราจารย์ ดร.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ผู้เป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวไทยคนแรกที่บุกเบิกการศึกษาอนุกรมวิธานพืชวงศ์ขิงของประเทศไทย ที่ได้สร้างคุณูปการอันสำคัญยิ่งต่อการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลังในการสืบสานงานด้านพฤกษศาสตร์ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

พืชชนิดใหม่ชนิดนี้ ถูกพบในระหว่างที่ทำการศึกษาความหลากหลายของพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีการร่วมกันศึกษาอนุกรมวิธานโดย รองศาตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข (Surapon Saensouk) หัวหน้าหน่วยวิจัยฯ และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์, ผศ.อารีรัตน์ รักษาศิลป์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และนายธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตปริญญาเอกหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยนักวิจัยทั้งสี่เป็นสมาชิกของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิง และพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (𝗗𝗶𝘃𝗲𝗿𝘀𝗶𝘁𝘆 𝗼𝗳 𝗙𝗮𝗺𝗶𝗹𝘆 𝗭𝗶𝗻𝗴𝗶𝗯𝗲𝗿𝗮𝗰𝗲𝗮𝗲 𝗮𝗻𝗱 𝗩𝗮𝘀𝗰𝘂𝗹𝗮𝗿 𝗣𝗹𝗮𝗻𝘁 𝗳𝗼𝗿 𝗜𝘁𝘀 𝗔𝗽𝗽𝗹𝗶𝗰𝗮𝘁𝗶𝗼𝗻𝘀) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศึกษาวิจัยร่วมกับ นายชัยณรงค์ เตชา จากสวนสุโข จังหวัดสุโขทัย, ดร.ศรายุทธ รักอาชา จากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, และ Mr.Danh Đức Nguyễn จากมหาวิทยาลัย Thu Dau Mot ประเทศเวียดนาม

หลังจากที่ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ไม่ตรงกับชนิดอื่นๆ ที่มีการระบุชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว ทีมวิจัยจึงได้ขออนุญาตจากท่านศาสตราจารย์ ดร.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ในการนำชื่อของท่าน มาตั้งเป็นชื่อพืชชนิดใหม่ของโลก โดยตั้งชื่อภาษาไทยว่า “เปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญ” และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “𝘾𝙤𝙧𝙣𝙪𝙠𝙖𝙚𝙢𝙥𝙛𝙚𝙧𝙞𝙖 𝙥𝙪𝙖𝙣𝙜𝙥𝙚𝙣𝙞𝙖𝙚 𝗣. 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗕𝗼𝗼𝗻𝗺𝗮 & 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗮” โดยผลงานพืชชนิดใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, กองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สนับสนุนโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ได้รับการตีพิมพ์ และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ 𝗛𝗲𝗹𝗶𝘆𝗼𝗻 ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (มกราคม 2025)
ที่มาของชื่อ“เปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญ” (𝘾𝙤𝙧𝙣𝙪𝙠𝙖𝙚𝙢𝙥𝙛𝙚𝙧𝙞𝙖 𝙥𝙪𝙖𝙣𝙜𝙥𝙚𝙣𝙞𝙖𝙚 𝗣. 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗕𝗼𝗼𝗻𝗺𝗮 & 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗮)
. ที่มาของชื่อ “เปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญ” (𝘾𝙤𝙧𝙣𝙪𝙠𝙖𝙚𝙢𝙥𝙛𝙚𝙧𝙞𝙖 𝙥𝙪𝙖𝙣𝙜𝙥𝙚𝙣𝙞𝙖𝙚 𝗣. 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗦𝗮𝗲𝗻𝘀𝗼𝘂𝗸, 𝗕𝗼𝗼𝗻𝗺𝗮 & 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗮) นี้เป็นการ ร่วมเทิดทูนพระคุณครู ซึ่งในการค้นพบ และตั้งชื่อพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่นี้ เพื่อมอบให้แก่นักพฤกษศาสตร์ชาวไทยคนแรกที่ศึกษาอนุกรมวิธานพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย
ลักษณะเด่นเปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญ
มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาคล้ายกับเปราะทองกมลวรรณมากที่สุด แต่สามารถแยกความแตกต่างได้ชัดเจนจากลักษณะเด่นดังต่อไปนี้
(1) เปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญ จะมีใบด้านใต้ใบเป็นสีแดงอมม่วง ในขณะที่ใบของเปราะทองกมลวรรณจะเขียวทั้งสองด้าน
(2) เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน (staminodes) ของเปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญมีปลายแหลม แต่เปราะทองกมลวรรณมีส่วนปลายโค้งมน
(3) กลีบปาก (labellum) ของเปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญมีปลายแหลมไม่มีแฉก แต่เปราะทองกมลวรรณมีส่วนปลายโค้งมนและมีแฉกเล็กน้อย
เปราะทองพันธุ์ใหม่ของโลก (new variety)
(𝘊𝘰𝘳𝘯𝘶𝘬𝘢𝘦𝘮𝘱𝘧𝘦𝘳𝘪𝘢 𝘢𝘶𝘳𝘢𝘯𝘵𝘪𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 var. 𝘷𝘦𝘴𝘱𝘦𝘳𝘢 P.Saensouk, Saensouk & Boonma)
นอกจากการนี้การศึกษาครั้งนี้ยังพบเปราะทองพันธุ์ใหม่ (new variety) 𝘊𝘰𝘳𝘯𝘶𝘬𝘢𝘦𝘮𝘱𝘧𝘦𝘳𝘪𝘢 𝘢𝘶𝘳𝘢𝘯𝘵𝘪𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 var. 𝘷𝘦𝘴𝘱𝘦𝘳𝘢 P.Saensouk, Saensouk & Boonma โดยมีลักษณะคล้ายกับเปราะทอง 𝘊𝘰𝘳𝘯𝘶𝘬𝘢𝘦𝘮𝘱𝘧𝘦𝘳𝘪𝘢 𝘢𝘶𝘳𝘢𝘯𝘵𝘪𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 มากที่สุด แต่มีช่วงเวลาในการบานของดอกที่แตกต่างกัน โดย 𝘊. 𝘢𝘶𝘳𝘢𝘯𝘵𝘪𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 var. 𝘷𝘦𝘴𝘱𝘦𝘳𝘢 จะบานในช่วงเย็น ในขณะที่ 𝘊. 𝘢𝘶𝘳𝘢𝘯𝘵𝘪𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 var. 𝘢𝘶𝘳𝘢𝘯𝘵𝘪𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 จะบานในช่วงเช้า
ปัจจุบันมีความหลากชนิดของพืชสกุลเปราะทองในโลกทั้งหมดมีกี่ชนิด
ปัจจุบันมีความหลากชนิดของพืชสกุลเปราะทองในโลกทั้งหมด 8 ชนิด (species) ได้แก่ เปราะทอง (𝘊𝘰𝘳𝘯𝘶𝘬𝘢𝘦𝘮𝘱𝘧𝘦𝘳𝘪𝘢 𝘢𝘶𝘳𝘢𝘯𝘵𝘪𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 Mood & K.Larsen), เปราะทองก้านใบยาว (𝘊. 𝘭𝘰𝘯𝘨𝘪𝘱𝘦𝘵𝘪𝘰𝘭𝘢𝘵𝘢 Mood & K.Larsen), เปราะทองลาร์เซน (𝘊. 𝘭𝘢𝘳𝘴𝘦𝘯𝘪𝘪 P.Saensouk), เปราะทองชยันต์ (𝘊. 𝘤𝘩𝘢𝘺𝘢𝘯𝘪𝘪 Yupparach & Wongsuwan), เปราะทองกมลวรรณ (𝘊. 𝘬𝘢𝘮𝘰𝘭𝘸𝘢𝘯𝘪𝘢𝘦 Picheans., Yupparach & Wongsuwan), เปราะทองใบเงิน (𝘊. 𝘢𝘳𝘨𝘦𝘯𝘵𝘪𝘧𝘰𝘭𝘪𝘢 Boonma & Saensouk) เปราะทองศรีสุมนตร์ (𝘊. 𝘴𝘳𝘪𝘴𝘶𝘮𝘰𝘯𝘪𝘢𝘦 P. Saensouk, Saensouk & Boonma) และชนิดใหม่ล่าสุด เปราะทองอาจารย์พวงเพ็ญ (𝘊. 𝘱𝘶𝘢𝘯𝘨𝘱𝘦𝘯𝘪𝘢𝘦 P. Saensouk, Saensouk, Boonma & Techa) โดยทั้งหมดพบกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ในขณะที่เปราะทองลาร์เซนพบทั้งในไทยและลาว ทำให้เปราะทอง 7 ชนิดที่พบแค่ในประเทศไทยยังคงมีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย (Endemic species) ยกเว้นเปราะทองลาร์เซนที่พบกระจายพันธุ์ในประเทศลาวด้วย ...
การค้นพบพืชชนิดใหม่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าอะไรเป็นพิเศษ
การค้นพบพืชชนิดใหม่ (new species) และพันธุ์ใหม่ (new variety) สะท้อนถึงคุณค่าและความสำคัญของการศึกษาด้านอนุกรมวิธานและการอนุรักษ์พืชพื้นถิ่นของประเทศไทย นอกจากนี้ การตั้งชื่อพืชชนิดใหม่เป็นการยกย่องในคุณูปการอันสำคัญที่มีต่อการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ผลลัพธ์จากงานวิจัยนี้ไม่เพียงช่วยยืนยันสถานะความเป็นพืชถิ่นเดียวของเปราะทองส่วนใหญ่ในประเทศไทย แต่ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์พืชพื้นถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการต่อยอดการวิจัยในด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
อ้างอิง: Saensouk P., Saensouk S., Boonma T., Techa C., Rakarcha S., Ragsasilp A. & Nguyen D.D. (2025). 𝘊𝘰𝘳𝘯𝘶𝘬𝘢𝘦𝘮𝘱𝘧𝘦𝘳𝘪𝘢 𝘱𝘶𝘢𝘯𝘨𝘱𝘦𝘯𝘪𝘢𝘦 sp. nov. and 𝘊. 𝘢𝘶𝘳𝘢𝘯𝘵𝘪𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 var. 𝘷𝘦𝘴𝘱𝘦𝘳𝘢 var. nov. (Zingiberaceae) from Northern Thailand. 𝗛𝗲𝗹𝗶𝘆𝗼𝗻 11(2): e41603. https://doi.org/10.1016/j.heliyon.2024.e41603
ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่
รองศาตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข (Surapon Saensouk) หัวหน้าหน่วยวิจัยฯ และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เบอร์ 043 043 754407