นักวิจัย มมส พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม : Research and Development Unit for Smart City Solution: RDSC เป็นหน่วยวิจัยที่พัฒนาทางด้านการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ ภาครัฐ และภาคเอกชน มีองค์ความรู้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดย รศ.ดร.ธราวุฒิ บุญเหลือ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม




ที่มาของการทำโครงการ
       การวิจัยนี้ได้ดำเนินการโดยการบูรณาการองค์ความรู้จากการวิจัยและการเรียนการสอนในหลายศาสตร์สาขาวิชา ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง ภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมกับการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ เช่น อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เน้นการต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับนิสิตสถาปัตยกรรมในคณะของเรา อีกทั้งยังส่งเสริมความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันมาใช้ในการวิจัย และการเรียน การสอน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Building Information Modeling (BIM) และ Geographic Information System (GIS) หรือ Geospatial Intelligence ซึ่งที่ผ่านมายังคงมีการทำงานที่แยกแพลตฟอร์มกันอยู่มาทำงานร่วมกัน ส่งผลให้การแสดงผลทางด้านสถาปัตยกรรมผังเมืองมีความทันสมัย สวยงาม เสมือนจริง พร้อมด้วยข้อมูลต่างๆ ของเมืองในแพลตฟอร์มเพียงแพลตฟอร์มเดียว ในงานวิจัยนี้ เราได้พัฒนาและบูรณาการแพลตฟอร์ม BIM+GIS+IoT อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำมารวมในแพลตฟอร์ม ไม่เพียงแต่การแสดงผลของอาคารเพียงอาคารเดียว แต่ยังสามารถแสดงผลในระดับกลุ่มอาคาร ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะให้กับนิสิตในด้าน Building Information Modeling (BIM) และ Geospatial Information System (GIS) ถือเป็นการบูรณาการระหว่าง BIM, GIS และ IoT ที่สมบูรณ์



เป้าหมาย
      มีความต้องการที่จะเผยแพร่โครงการลักษณะนี้ ให้การยอมรับและนำไปใช้ในระดับมหาวิทยาลัยอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยการต่อยอดการบูรณาการระหว่าง BIM, GIS และ IoT เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นรูปแบบของ Digital Twin ในการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Smart University) ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย

ในเรื่องของทุน
     ในเรื่องของทุนเราได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานภาคนอก เมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งเราได้รับทุนจากการเคหะแห่งชาติ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งล้วนแต่เป็นทุนจากหน่วยงานภายนอกทั้งหมด 



ลักษณะของโครงงาน
     การทำความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ โดยหน่วยวิจัยและพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (RDSC) ร่วมกับ บริษัท SuperMap Software จำกัด ร่วมกันศึกษาวิจัยโครงการลักษณะนี้โดย หน่วยวิจัย RDSC ที่เป็นผู้นำของประเทศ และภาคภูมิภาคนี้ ที่ใช้เทคโนโลยีของ SuperMap Software ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศของเราอย่างเป็นรูปธรรม มีผลงานปรากฎหลายโครงการ



จุดเด่นของตัวงาน
  จุดเด่นของโครงการนี้คือการรวมข้อมูลมาใช้ในการแสดงผลและวิเคราะห์พื้นที่ในภาพที่มีมุมมองกว้างขึ้น ไม่เพียงแค่การออกแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงานหรือการใช้แค่ข้อมูลทาง GIS แต่เป็นการนำข้อมูลมาแสดงผลกับอาคาร 3D เสมือนจริง การวิเคราะห์เชิงลึกทั้งในระดับรายละเอียดและภาพรวม สามารถเชื่อมต่อกับระบบ IoT ได้ ตัวอย่างเช่น การรวมข้อมูลจากกล้อง CCTV, ระบบควบคุมอากาศ (Air Controller), และระบบการเข้าถึงประตู (Access Control) ซึ่งช่วยเสริมให้เทคโนโลยีมีความอัจฉริยะมากขึ้น การบูรณาการระหว่าง BIM, GIS และ IoT ทำให้ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมต่อกันได้ เช่น ระบบการป้องกันอัคคีภัยและข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม สามารถแสดงผลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน



โครงการนี้เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายใดมากที่สุด
       เราเริ่มต้นโครงการจากมหาวิทยาลัยของเรา เนื่องจากเป็นพื้นที่ผู้ใช้หลัก การที่เรามีข้อมูลอยู่ในมือทำให้เราสามารถรวบรวม และจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลของ Smart MSU University เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความอัจฉริยะมากขึ้น เริ่มจากข้อมูลของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ที่มีอยู่ เช่น ข้อมูลอาคารและระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เราได้ทำการทดลองในงานวิจัยและแสดงผล ขณะนี้เราได้นำเข้าข้อมูลในแพลตฟอร์มผ่านขั้นตอนของ BIM และ GIS แล้ว และกำลังอยู่ในช่วงของการบูรณาการข้อมูลต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ข้อมูลรูปแบบ MIS ธรรมดา แต่เป็นลักษณะการแสดงผลแบบ Digital Twin ซึ่งเป็นการจำลองเสมือนจริงที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีในอนาคตผ่าน AI, AR, VR ที่เชื่อมโยงกับระบบอินเทอร์เน็ต เราจึงเริ่มจากการดำเนินงานในคณะต่างๆ และจะขยายไปยังส่วนบริหารจัดการในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความปลอดภัย การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย เช่น การใช้รถบัสไฟฟ้า (EV) และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างพื้นที่ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้บริหารสามารถเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลในระบบได้ คณาจารย์สามารถใช้ระบบในการจัดการเรียนการสอน และผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวางแผน และตัดสินใจในการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างเต็มรูปแบบ หากโครงการนี้สำเร็จ จะเป็นต้นแบบที่สำคัญที่สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการเมืองที่มีความซับซ้อนของข้อมูล และการบริหารจัดการต่อไป เป็นการต่อยอดจาก Smart University City โดยสามารถรวบรวมและจัดการข้อมูลเมืองใหญ่ๆ ไปใช้ในการบริหารจัดการเมืองขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ



งานวิจัยชิ้นนี้มีการใช้งาน
โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโดยได้รับนโยบายจากผู้บริหารเพื่อดำเนินการ ในขณะนี้เรายังไม่ได้รับงบประมาณใดๆ เพียงแต่เราใช้ศักยภาพของนักวิจัยในหน่วยวิจัย และนิสิตปริญญาโท ที่เข้ามาช่วยดำเนินงาน พร้อมทั้งความร่วมมือจากนักวิจัยหลายสาขาวิชา ไม่เพียงแค่สถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่รวมทั้งด้านภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เราคาดหวังว่าหากเราสามารถดำเนินโครงการ Pilot Project นี้ได้สำเร็จ เราจะสามารถขยายงานวิจัยนี้ต่อยอดไปยังระดับมหาวิทยาลัยอื่นๆ และส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนี้เราเชื่อมั่นว่าเรามีความสามารถในการทำงานนี้ให้สำเร็จ



ความเป็นเมืองอัจฉริยะต้องเป็นอย่างไร
    เมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ เราต้องมีแผนการป้องกันและการเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์อุบัติภัย เราต้องมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม อีกทั้งยังต้องมีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเมือง โดยใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ภายใต้ข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจที่ถูกต้อง



ขั้นตอนแรกในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่จำเป็นต้องพิจารณาในลำดับแรก คือการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการตัดสินใจ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เนื่องจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ต้องพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเมืองอย่างครบถ้วน ตัวอย่างเช่น ในโครงการวิจัยของจังหวัดนครราชสีมา ที่เราได้รวบรวมข้อมูลทั้งจังหวัด ทำให้เราสามารถรู้รายละเอียดต่างๆ เช่น โครงการที่เกี่ยวข้อง คุณลักษณะของถนน ผู้ควบคุมงาน ความคืบหน้าของงาน และข้อมูลสัญญาประกัน เป็นต้น งานวิจัยนี้ RDSC ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม Korat Smart City ที่สามารถรวบรวมและใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ



การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และต่อยอด
      ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้คือการรวบรวมข้อมูลทั้ง BIM+GIS และข้อมูลทางด้าน Attribute ต่างๆ โดยสามารถรวมข้อมูลเหล่านี้เข้าด้วยกันในรูปแบบของ Digital Twin ที่สามารถแสดงผลในลักษณะสามมิติ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องง่ายโดยไม่ต้องเปิดโปรแกรมพิเศษ เพียงใช้เบราว์เซอร์ในการใช้สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลโดยทาง RDSC มีความร่วมมือกับบริษัท SuperMap Software จำกัด ผู้นำอันดับ 2 ของโลก และที่ 1 ในเอเซียจากประเทศจีน ศึกษาพัฒนาโครงการวิจัย ซึ่ง RDSC ใช้เทคโนโลยีนี้เป็นแห่งแรกของประเทศที่มีผลงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยปีที่ผ่านมาทาง RDSC ได้รับรางวัล Co-Partner Award 2023 จาก SuperMap Software ที่งานประชุมวิชาการ GISTC 2023 ที่ปักกิ่ง เป็นการยืนยันถึงผลงานด้านการฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ให้กับนิสิตเพื่อประกอบอาชีพในอนาคต และในปีนี้ก็น่ายินดีอย่างยิ่งที่ RDSC ได้รับรางวัล Best Education Partner Award 2024 อีกครั้ง ซึ่งเป็นการยืนยันถึงมาตรฐานการเป็นผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายๆ ประเทศที่ร่วมงาน International Forum, GISTC 2024 ที่ผ่านมา ในปัจจุบัน RDSC ของเราเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและนานาชาติ ว่าเราเป็นผู้นำด้านการพัฒนา Smart City ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังผลักดันการพัฒนา Digital Twin ในมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้เป็นรูปธรรมต่อไป



ช่องทางการติดต่อ
     สำหรับช่องทางการติดต่อกับเรา สามารถเข้าชมเว็บเพจของหน่วยวิจัยและพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (RDSC) ซึ่งมีตัวอย่างผลงานทางวิชาการและตัวอย่างโครงการที่เราได้ดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีลิงก์สำหรับดูรายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อเราโดยตรงผ่านทางเว็บไซต์

เว็บไซต์ RDSC Link: rdsc.ac.th และ Facebook: https://www.facebook.com/SmartCitybyRDSC/

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts