นักวิจัย มมส เพาะเลี้ยง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก "ไข่ผำ" เชิงพาณิชย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลายคนคงจะรู้จักไข่ผำกันบ้างแล้ว และมีอีกหลายคนที่ยังไม่เคยรู้จักว่า “ไข่ผำ” หน้าตาเป็นอย่างไร รับประทานได้หรือไม่ มีประโยชน์เช่นไรบ้าง วันนี้นักวิจัยมหาวิยาลัยมหาสารคามได้มีการนำเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงไข่ผำที่แตกต่างออกไป มาใช้ในการเพาะเลี้ยง และผลิตไข่ผำที่มีคุณภาพสูง โดยพบว่าคุณภาพ"ไข่ผำ"ที่เพาะเลี้ยงมีโปรตีนที่สูงกว่าถั่วเหลืองเมื่อเทียบในพื้นที่การเพาะปลูกที่เท่ากัน อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน มีวิตามิน มีไฟเบอร์สูง อุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นอีกมากมาย  และดีต่อระบบการย่อยอาหาร  รวมถึงมีแคลอรี่ แป้ง น้ำตาลและไขมันต่ำ เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนัก 



อีกทั้ง “ไข่ผำ” ยังเป็นหนึ่งในพืชน้ำ ที่อยู่ในยุทธศาสตร์นโยบายการขับเคลื่อนใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในด้านอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่มาแรงและถูกกล่าวถึงอย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมอาหารต่างให้ความสนใจ และเป็นผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต Future Food ที่มีตัวเลขที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นอนาคตที่ดีของเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมอาหาร “ไข่ผำ” จึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้ศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาไปอีกก้าวภายใต้การนำของอาจารย์ ดร.ศุภชัย  สุทธิเจริญ รองคณบดีฝ่ายจัดการทรัพยากรและพัฒนาคุณภาพนิสิต  และทีมนักวิจัยที่มีประสบการณ์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ชื่อผลงาน 
ชื่อผลงาน : การเพาะเลี้ยงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก" ไข่ผำ"เชิงพาณิชย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 



กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการเลี้ยงไข่ผำเพื่อการค้า มีความเป็นมาอย่างไร
     ไข่ผำ นั้น เป็นพืชน้ำ มีสีเขียว เม็ดกลมขนาดเล็ก คล้ายๆ ไข่ปลา มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่พบ กระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพ มักจะขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น บึง และหนองน้ำธรรมชาติทั่วไป จัดเป็นพืชดอกไม่มีรากและใบ จะมีมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีน้ำไหลเวียน เวลาเก็บไข่ผำ ต้องใช้สวิงช้อนขึ้นมา แล้วล้างให้สะอาด ก่อนจะนำไปปรุงทำอาหาร เป็นพืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แกง ผัด หรือใส่เป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความหอม มัน อร่อย มากยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันปัญหาก็คือผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องของแหล่งที่มา และความสะอาดโดยเฉพาะการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ในธรรมชาติที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ที่ติดมากับไข่ผำ อย่างไรก็ตามการนำไข่น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ยังประสบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะการที่ไม่สามารถควบคุมผลผลิต และคุณภาพของไข่ผำน้ำ โดยเฉพาะคุณค่าทางโภชนาการได้ ดังนั้นการเลี้ยงไข่น้ำในระบบปิดจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ต้องการได้ในขณะเดียวกันจากรายงานการวิจัย ยังพบว่า ในไข่ผำพบกรดอะมิโนที่จำเป็น และไม่จำเป็นครบทุกชนิด โดยกรดอะมิโนจำเป็นที่พบมากสุด 3 อันดับแรก คือ ไลซีน ฟีนิลอะลานีน ลิวซีน (ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันของร่างกายและระบบประสาท) และเมื่อมีการวิเคราะห์กรดไขมันของไข่ผำแห้งพบว่า มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงกว่ากรดไขมันอิ่มตัวประมาณ 2 เท่า และยังพบกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายต้องการอีก 2 ชนิด คือ กรดไขมันโอเมกา 3 และ 6 ในปริมาณที่สูง จึงถือได้ว่าเป็นการยกระดับวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านสู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต “ไข่ผำ” สุดยอดของแหล่งโปรตีนทดแทนได้



ทำไมจึงเลือกที่จะเพาะเลี้ยงไข่ผำเพื่อการค้า
   “ไข่ผำ” เป็นหนึ่งในพืชน้ำที่อยู่ในยุทธศาสตร์นโยบายการขับเคลื่อนใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในด้านอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่มาแรง และถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง ภาคอุตสาหกรรมอาหารต่างให้ความสนใจ และเป็นผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต Future Food ที่มีตัวเลขน่าสนใจ เป็นอนาคตที่ดีของเกษตรกรและอุตสาหกรรมอาหาร เพราะจากข้อสรุปของงานวิจัย และแนวโน้มอนาคตการเติบโตด้านการตลาดของ Future Food โดยการส่งออกของไทยปี 2564 มีมูลค่า 115,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% คิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกอาหารในภาพรวม ซึ่งไข่ผำ ถือว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมาก ในสินค้าที่เป็น Plant based โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ได้



ไข่ผำที่เลี้ยงมีกี่ชนิด และมีความต่างกันอย่างไร 
ข้อมูลทั่วไปและการจำแนกชนิดของไข่ผำ
ชื่อไทย : ไข่ผำ
ชื่อสามัญ : Wolffia, Water meal
ชื่อวิทยาศาสตร์: Wolffia arrhiza (L.) Wimm
ปัจจุบันไข่ผ้าที่พบในสกุล Wolffia มีทั้งหมด 16 ชนิด ดังนี้ W. angusta, W. arrhiza, 
W. borealis, W. brasiliensis, W. Columbiana, W denticulate, W. gladiata, W. globoas, W. hyaline,      W lingulata, W. microsvopica, W. netropica, W. oblonga, W. reanda, W. roanda และ W. welwitschii แต่ที่ปรากฏในประเทศไทยมี 2 ชนิดได้แก่ Wolffia arrhiza (L.) wimm และ Wolffia globosa (L.) wimm  ซึ่งจะมีชื่อที่ใช้เรียกกันเฉพาะตามในภูมิภาคท้องถิ่นของ ประเทศไทย อาทิเช่น ผำ ไข่ผำและไข่แหน นอกจากในประเทศไทยแล้วจากงานวิจัย อื่นยังพบไข่ผำในประเทศแถบยุโรปแอฟริกากลาง แอฟริกาใต้ ออสเตรเรีย บราซิล และอินโดนีเซีย 



ไข่ผำถ่ายใต้กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอสโคป
      ความแตกต่างของไข่ผำ ทั้ง 2 ชนิดที่พบในประเทศไทย ได้แก่ W.arrhiza ถ้าสังเกตุแล้วจะมีขนาดใหญ่กว่า ผิวด้านบนนั้นค่อนข้างจะมีสีเขียวเข้ม ลำต้นมีลักษณะทึบแสง ส่วน W.globosa จัดได้ว่าเป็นพืชดอกที่มีขนาดเล็กมากที่สุด ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า W.arrhiza และจะเป็นรูป ทรงกระบอกมากกว่า W.arrhiza นอกจากนี้ถ้าสังเกตุลำต้นยังจะมีลักษณะโปร่งแสงมากกว่าอีกด้วย



กล่าวถึงประโยชน์ของไข่ผำ
สามารถให้ผลผลิตโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลืองเมื่อเทียบในพื้นที่การเพาะปลูกที่เท่ากัน
     1.มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนและอุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นอีกมากมาย อาทิ เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ช่วยเสริมกระดูก การไหลเวียนโลหิต และเพิ่มภูมิคุ้มกันวิตามิน บี 12 ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ซึ่งไม่พบในผลิตภัณฑ์จากพืชตามธรรมชาติชนิดอื่น
     2.วิตามิน เอ ลูทีน ซีอาแซนทิน ช่วยบำรุงสายตา
     3.วิตามิน บี-คอมเพล็กซ์ วิตามิน ซี วิตามิน อี วิตามิน เค โฟเลต ซีอาแซนทิน ลูทีน และสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ในระดับสูงทั้งยังย่อยง่าย 
     4.ไฟเบอร์สูง ดีต่อระบบการย่อยอาหารรวมถึงมีแคลอรี่ แป้ง น้ำตาล และไขมันต่ำ เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนัก
     5.ยิ่งไปกว่านั้น ผำยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้เทียบเท่ากับป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่ๆ เท่ากันอีกด้วย



จุดเด่นของไข่ผำที่เราเพาะเลี้ยงเป็นอย่างไร
"ไข่ผำ" ที่ทีมวิจัยได้ทำการทดลองเลี้ยงเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม ก่อนที่จะทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยมีจุดเด่น คือ สร้างรูปแบบระบบการจัดการฟาร์มเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การขอการรับรองมาตรฐานการผลิตและสอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) และคิดค้นพัฒนาสูตรสารอาหารสำหรับเลี้ยงไข่ผำโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นผสม เป็นการสร้างมาตรฐานการผลิตเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย และพัฒนารูปแบบการผลิตสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่อไปในอนาคต

ไข่ผำที่เราเพาะเลี้ยง กับไข่ผำที่เกิดตามธรรมชาติมีความต่างกันอย่างไร
แตกต่างในด้านความปลอดภัยจากการปนเปื้อนในกระบวนการเลี้ยง เช่น การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากที่มีการออกแบบรูปแบบการเลี้ยงในระบบปิด ซึ่งสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกได้



กลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มใด
เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่มีความสนใจทิ่ยากจะเลี้ยงไข่ผำไว้เพื่อบริโภคหรือการเลี้ยงเพื่อการค้าและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

เราจะมีการพัฒนาการเลี้ยงไข่ผำเชิงพาณิชย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน และให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
ทีมวิจัยซึ่งประกอบไปด้วย นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยี และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมมือ พัฒนาระบบการเลี้ยงไข่ผำในบ่อซีเมนต์ โดยทำการควบคุมคุณภาพน้ำในกระบวนการเลี้ยงไข่ผำ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บผลผลิต โดยทำการเปรียบเทียบการเลี้ยงแบบดั้งเดิมโดยวิธีปกติเกษตรกรจะใช้น้ำมูลสัตว์หมักเป็นสารอาหารซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น E.coli, และ coliform กับรูปแบบการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ด้วยสารอาหารที่คิดค้นสูตร และพัฒนาจากโปรตีนพืชจนได้สารอาหารในรูปแบบกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับพืช และธาตุอาหารอื่นๆ โดยที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ซึ่งหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเป็นส่วนผสม ซึ่งจะช่วยให้ไข่ผำมีการเจริญเติบโตและช่วยในการแตกหน่อใหม่สามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้

สารอาหารสำหรับเลี้ยงไข่ผำที่ได้จากการพัฒนาสูตรจากงานวิจัย



ไข่ผำเราสามารถจะนำมาแปรรูปเมนูอะไรได้บ้าง
     เมนูไข่ผำ ไข่ผำ ส่วนใหญ่สามารถนำมาประกอบอาหารไทย ได้หลากหลาย เช่น แกงคั่ว แกงอ่อม ไข่เจียว ไข่ตุ๋น เมนูยำ รวมทั้งนำไปทำสุกเป็นเครื่องจิ้ม แกงไข่ผำ แกงไข่ผำ  แต่ในโครงการได้มีการนำไปแปรรูปเป็น สปาเก็ตตี้ไข่ผำ เส้นพาสต้าไข่ผำ ไอศกรีมไข่ผำ เส้นหมี่ขากไข่ผำ และอยู่การพัฒนาเจลลี่โปรตีนจากไข่ผำพร้อมทานแบบซองไอศกรีมไข่ผำมัทฉะ
  
ฝากอะไรถึงกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเรื่องนี้
สำหรับกลุ่มเกษตรกร หรือท่านใดที่มีความสนใจในการเลี้ยงไข่ผำควรทำการศึกษาข้อมูลโดยใช้หลักวิชาการประกอบการพิจารณา ควรลงมือปฏิบัติทดลองเลี้ยงในพื้นที่ขนาดเล็กก่อนเพื่อจะได้เห็นปัญหาของการเลี้ยงไข่ผำ เพราะจะได้นำปรับแก้ไขใช้ในการวางแผนหากขยายพื้นที่เพื่อการค้าในอนาคตต่อไป



ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
          อาจารย์ ดร.ศุภชัย   สุทธิเจริญ  รองคณบดีฝ่ายจัดการทัพยากรและพัฒนาคุณภาพนิสิต
คณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรง081-3872812  
Supachai606@gmail.com



Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts