นักวิจัย มมส ประดิษฐ์ของเล่นแคปซูล กาชาปอง“ซอร์หวัดดี” เป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ สู่โลกดึกดำบรรพ์ โดยผู้วิจัยเล็งเห็นถึงการพัฒนาศักยภาพขององค์ความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยาไทยให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านของเล่นแคปซูลหรือกาชาปอง  วิจัยและบริการวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยา ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ด้านศิลปกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ 
        โดยมีการนำข้อมูลจากการศึกษาวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา มาพัฒนาต่อยอดเป็นของเล่นแคปซูลไดโนเสาร์ไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่อจากนั้นมีการต่อยอดจากของเล่นพัฒนามาเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ นิทรรศการ และส่งเสริมความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพในอดีตเชื่อมโยงมาถึงความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน ภายใต้การนำของ ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัย ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมทีมวิจัยที่มีความสามารถ



ชื่อผลงาน และชื่อ-ตำแหน่ง นักวิจัย
ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัย ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา
ผลงาน เรื่อง ของเล่นแคปซูล (กาชาปอง) “ซอร์หวัดดี”

กล่าวถึงที่มาของ การคิดค้นการทำของเล่นแคปซูลไดโนเสาร์ และทำไมถึงเลือกที่จะทำของเล่นแคปซูลไดโนเสาร์
ไดโนเสาร์เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วซึ่งพบปรากฏบนสื่อต่างๆ ทั่วโลก ผู้ผลิตสินค้านิยมใช้ไดโนเสาร์เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน แม้ว่าประเทศไทยจะมีการค้นพบและการวิจัยที่ก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม สื่อการสอนและนวัตกรรมอื่นๆ ที่ให้ความรู้ด้านไดโนเสาร์และบรรพชีวินวิทยาของประเทศไทยยังไม่แพร่หลายนัก ผู้คนอีกจำนวนมากยังไม่รับรู้ว่าบรรพชีวินวิทยาคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ในทางตรงกันข้าม ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการค้นพบไดโนเสาร์จำนวนน้อยกว่า แต่สามารถนำไดโนเสาร์มาเป็นจุดขาย ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว สร้างอัตลักษณ์ในแหล่งพื้นที่พบซากดึกดำบรรพ์ สร้างรายได้แก่คนท้องถิ่น อีกทั้งช่วยจุดประกายความใฝ่รู้ใฝ่เรียนด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็กและเยาวชนโดยใช้ไดโนเสาร์เป็นสื่อกลางในรูปแบบการศึกษาบันเทิง (Edutainment) ดังที่สามารถพบเห็นได้ในรูปแบบของเล่น เกม และสื่อต่าง ๆ 


       ผู้วิจัยเล็งเห็นถึงการพัฒนาศักยภาพขององค์ความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยาไทยให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านของเล่นแคปซูลหรือกาชาปอง  คณะผู้วิจัยที่ประกอบด้วยนักวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา ภัณฑารักษ์ อาจารย์และศิลปิน ผู้มีประสบการณ์การวิจัยและบริการวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยา ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ด้านศิลปกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ โดยนำข้อมูลจากการศึกษาวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา มาพัฒนาเป็นของเล่นแคปซูลไดโนเสาร์ไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากนั้นต่อยอดจากตัวของเล่นพัฒนาเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ นิทรรศการ ส่งเสริมความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพในอดีตเชื่อมโยงมาถึงความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน เน้นการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



ความพิเศษของของเล่นแคปซูลไดโนเสาร์เป็นอย่างไร
        เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ที่จะใช้ในการผลิตของเล่นแคปซูล ทีมวิจัยได้เลือกไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยห้าชนิด ซึ่งเป็นตัวแทนจากสี่หมวดหินของกลุ่มหินโคราชที่พบฟอสซิลไดโนเสาร์ ประกอบด้วย หมวดหินน้ำพอง ภูกระดึง เสาขัว และโคกกรวด รวมถึงเป็นตัวแทนของไดโนเสาร์ทั้งสามกลุ่มใหญ่ได้แก่ ซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว) เทอโรพอด (ไดโนเสาร์กินเนื้อ) และออร์นิธิสเชียน (ไดโนเสาร์กินพืชสะโพกคล้ายนก) เพื่อการสร้างคาแรกเตอร์ให้เป็นมิตรและดึงดูดคนได้หลายกลุ่ม การออกแบบนี้จึงดัดแปลงให้มีลักษณะของการ์ตูนในท่าทางไหว้ที่เป็นการทักทายของไทย และใช้ชื่อซีรีส์นี้ว่า “ซอร์หวัดดี” โดยมาจากคำว่า “ซอร์” ที่หมายถึงสัตว์เลื้อยคลานหรือไดโนเสาร์ และหวัดดีหรือสวัสดีของไทยอันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ก่อนที่จะมาลงตัวที่ดีไซน์นี้ก็ต้องผ่านการปรับเปลี่ยน ประชุมหารือเพื่อหาจุดกึ่งกลางของชิ้นงาน เพื่อให้การสร้างการ์ตูนต้นแบบ หรือคอนเซปต์อาร์ต (Concept art) อยู่บนหลักความถูกต้องของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ นอกจากเวอร์ชั่นต้นฉบับที่ลงสีอย่างสวยงามแล้ว ผู้ที่กดตู้กาชาปองยังมีสิทิ์ลุ้นสีพิเศษที่มีจำนวนจำกัดอีกด้วย
 


ไดโนเสาร์ทั้งห้าชนิดที่ถูกเลือกมาพัฒนาคาแรกเตอร์ (จากซ้ายไปขวา อีสานโนซอรัส สยามโมไทแรนนัส สยามโมซอรัส สยามโมดอน และมินิโมเคอร์เซอร์

คอนเซปต์อาร์ต “ซอร์หวัดดี” ที่ออกแบบเสร็จเรียบร้อย โมเดลต้นแบบที่ลงสีเสร็จสมบูรณ์


  
กลุ่มเป้าหมายของ ของเล่นแคปซูลไดโนเสาร์ เป็นกลุ่มใด และมีการตอบรับกับของเล่นนี้อย่างไรบ้าง
       กาชาปองดโนเสาร์ซีรีย์ซอร์หวัดดี เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย ถูกนำมาทดลองใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ครั้งแรก ในงานวันวันเด็กแห่งชาติ ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. เดือนมกราคม 2567 โดยมุ่งหวังให้เป็นสื่อของเล่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และผู้สนใจงานด้านบรรพชีวินวิทยาของไทย ผ่านคำอธิบายที่บรรจุภายในไข่กาชาปอง และต่อยอดไปสู่การชมนิทรรศการหลักของพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า และนิทรรศการพิเศษ ไดโนเสาร์ไทย ในงานวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้น ณ อพวช. รวมถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงกาชาปองซอร์หวัดดีกับการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ไดโนเสาร์ยักษ์ใหญ่ เหตุไฉนจึงสูญพันธุ์” เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงอาชีพนักบรรพชีวินวิทยา


       
       จากการประเมินความเหมาะสมและผลสัมฤทธิ์ของชุดของเล่นกาชาปองซีรีส์ซอร์หวัดดี โดยใช้กลุ่มประชากรที่เป็นเด็กและเยาวชน อายุ 8-15 ปี จำนวน 200 คน ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรมของผู้เล่น พบว่าของเล่นมีรูปแบบที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และยังมีรูปลักษณ์ที่เป็นมิตร มีสีสัน ดีไซน์ที่สวยงาม สามารดึงดูดความสนใจให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น และสามรถใช้เป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ด้านบรรพชีวินวิทยาและไดโนเสาร์ไทย กระตุ้นให้ผู้เล่นสังเกตเสาะแสวงหาคำตอบทั้งคำตอบจากแผ่นความรู้ที่ให้ไว้กับไข่กาชาปอง ตลอดจนจากนิทรรศการถาวรและนิทรรศการพิเศษด้วยตัวเอง หรือเกิดบทสนทนาซักถามจากผู้รู้ หรือผู้ปกครองระหว่างเล่น ทำให้ผลทดสอบการวัดผลสัมฤทธ์ทางการเรียนรู้หลังเล่นสูงกว่าก่อนเล่น ทั้งการรับรู้องค์ความรู้และการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากการเล่น นิทรรศการพิเศษ ไดโนเสาร์ไทย จัดแสดงในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567 ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช.
  

  
การบรรยายพิเศษ เรื่อง “ไดโนเสาร์ยักษ์ใหญ่ เหตุไฉนจึงสูญพันธุ์” เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงอาชีพนักบรรพชีวินวิทยา อีกทั้งทีมผู้วิจัยและกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครที่ชื่นชอบไดโนเสาร์ และสร้างกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยา

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
       ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เกิดความล่าช้าในกระบวนการผลิตต้นแบบของเล่น ทำให้ปฏิทินการดำเนินงานต้องเปลี่ยนแปลงและต้องขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ



มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
      โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัย ประเภท Fundamental Fund ประจำปีงบประมาณ 2566 โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)



ในอนาคตเราจะมีการพัฒนางานนี้อย่างไรบ้าง
ของเล่นแคปซูลชุดนี้เพิ่งถูกใช้ในงานวันเด็กแห่งชาติ 2567 เท่านั้น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากเยาวชน ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป โดยหลังจากนี้ คณะผู๋วิจัยมีความตั้งใจจัดกิจกรรมและนิทรรศการเพื่อขยายผลนวัตกรรมนี้ในกิจกรรมหรือโครงการอื่นๆ ของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา อพวช. พิพิธภัณฑ์หรือองค์กรต่างๆ ตลอดจนพัฒนาการผลิตและสร้างไดโนเสาร์หตัวอื่น ๆ ออกมาในอนาคต



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
         การศึกษาบรรพชีวินวิทยาในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังต้องการนักวิจัยรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญ น่าดีใจที่เยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากให้ความสนใจ และมีบทบาทในการขับเคลื่อนให้วงการบรรพชีวินวิทยาของไทยมีสีสัน และเข้าถึงสาธารณชนได้มากขึ้น หากน้องๆ คนไหนมีความตั้งใจจริง ขอให้อดทนตั้งใจเรียน และพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด เพราะมีทุนสนับสนุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศให้สมัครอย่างต่อเนื่อง สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ การศึกษาบรรพชีวินวิทยาเป็นวิทยาศาตร์บริสุทธิ์ (Pure science) ที่อาจจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานผู้ให้ทุนในประเทศไทยน้อยกว่างานวิจัยด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าทางเศรฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความท้าทายของนักวิจัยที่ต้องประยุกต์การเขียนข้อเสนองานวิจัย แต่ขอให้ทุกคนยึดมั่นให้ความตั้งใจของตัวเอง เพราะบรรพชีวินวิทยาก็มีความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้รากฐานในการเข้าใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและโลก อีกมีบทบาทในการสร้างสังคมการเรียนรู้แก่เยาวชน และกระตุ้นเศรฐกิจการในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์จากการท่องเที่ยวได้อีกด้วย



Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts