นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาสู่การศึกษาในโรงเรียนชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และทันสมัย ในการให้บริการฝึกอบรมการใช้งานหุ่นยนต์ เพื่อการศึกษาในโรงเรียนของชุมชน ไม่เพียงแต่ช่วยให้นักเรียนได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ยังช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกันกับ ผศ.ดร.มานิตย์ อาษานอก อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา และคอมพิวเตอร์ศึกษาภาควิชาเทคโนโลยี และสื่อสารการศึกษา และทีมวิจัยมากด้วยประสบการณ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่นำเทคโนโลยีในรูปแบบการเรียนรู้  จากการให้บริการพี่เลี้ยงฝึกอบรมหุ่นยนต์ทางการศึกษาในโรงเรียนของชุมชน Educational Robotic Training Service Model in Community Schools  



กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย 
การเรียนการสอนวิทยาการคำนวณ ในโรงเรียนกลายเป็นแนวคิดใหม่ทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือ ช่วยเตรียมทรัพยากรบุคคล ให้เป็นนวัตกรในการพัฒนานวัตกรรม และคุณภาพชีวิตในอนาคต การเขียนโค้ดถูกคาดหวังว่า ไม่เพียงแต่ครูจะสอนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังสอนวิธีคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และเป็นระบบด้วย ความสนใจทั่วโลกในแนวคิดเกี่ยวกับการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น และปัจจุบันหลายประเทศได้รวมการเขียนโค้ดเป็นหัวข้อสำคัญในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชา “วิทยาการคำนวณ” (Computing Science) อย่างไรก็ตามการสอนวิทยาการคำนวณ ในประเทศไทยพบปัญหาการขาดประสบการณ์เรียนรู้ ของผู้เรียนแล้วยังพบปัญหาการขาดแคลนครู และขาดความสามารถในการสอน วิทยาการคำนวณของครูในโรงเรียนของชุมชน  ความพยายาม เพื่อปฏิรูประบบการศึกษาในประเทศไทย ด้วยการปรับปรุงกระบวนการการสอน และการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณภายในปี 2020 โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ และการเรียนรู้นวัตกรรม เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ในโรงเรียนของประเทศไทย โดยเฉพาะการฝึกอบรมการเรียนรู้ด้วยหุ่นยนต์ เพื่อฝึกฝนการคิดเชิงคำนวณ และการเขียนโค้ดทั้งด้านหลักสูตร และการเรียนการสอน เนื่องจากต้องสร้างความสนใจของเด็กมุ่งเน้นไปที่การเล่นมากกว่าความรู้ เครื่องมือเขียนโค้ดที่เหมาะสมจึงต้องสามารถดึงความสนใจของเด็กได้ การใช้งานหุ่นยนต์สามารถช่วยให้นักเรียนมีสมาธิ และมีแรงจูงใจมากขึ้น ช่วยพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา และคิดอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้วิธีการเขียนโปรแกรม และพัฒนาการคิด เชิงคำนวณผ่านการเล่น ช่วยเสริมสร้างความสามารถด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนานวัตกรรมในชุมชนได้



อยากให้พูดถึงความโดดเด่นของงานวิจัย
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากการให้บริการพี่เลี้ยงฝึกอบรมหุ่นยนต์ทางการศึกษา เป็นวิธีการศึกษาที่ผสมผสานการบริการชุมชนเข้ากับการสอนทางวิชาการ การพัฒนาส่วนบุคคล และการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยให้นิสิตมีส่วนร่วมในโครงการบริการที่มีโครงสร้าง เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของชุมชน และสะท้อนถึงประสบการณ์ของพวกเขา เพื่อเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหาวิชา และพัฒนาสำนึกในหน้าที่พลเมืองให้เข้มแข็งขึ้น เป็นกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์การให้บริการแก่ชุมชน และได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นแนวทางที่มีคุณค่าในการพัฒนาความตระหนักรู้ในตนเอง และการเติบโตขึ้นของนิสิตครูฝึกหัด



ความพิเศษของงานวิจัยเป็นอย่างไร
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จากการให้บริการพี่เลี้ยงฝึกอบรมหุ่นยนต์ทางการศึกษา มีความโดดเด่นคือ “การทำหนึ่งอย่างได้ประโยชน์อย่างน้อย 3 อย่าง” เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วได้ประโยชน์ตอบโจทย์ คือ 1) มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับใช้สังคม  2) นิสิตครูได้ฝึกหัดการสอนผ่านการให้บริการเป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรม  3) โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณผ่านการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์



กลุ่มเป้าหมายของงานวิจัยคือกลุ่มใด
  ครู และนักเรียนชั้น ป.5-ม.3 ในเครือข่ายโรงเรียนของชุมชน ในเขตพื้นที่ให้บริการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม



ปัจจุบันมีการนำงานวิจัยไปทดลองใช้แล้วหรือไม่ อย่างไร
รูปแบบการเรียนรู้จากการให้บริการพี่เลี้ยงฝึกอบรมหุ่นยนต์ทางการศึกษาในโรงเรียนของชุมชน มีความโดดเด่นด้วยกระบวนการวิจัยการออกแบบ (Design based Research) หลักสูตรการให้บริการฝึกอบรมพัฒนามาจากความต้องการของครูในโรงเรียนของชุมชน มีการนำไปทดลองใช้ และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจากการทดลองใช้ในบริบทจริง  
 

ระบบการศึกษาในด้าน IT ควรปรับปรุง หรือพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้างอย่างไรเพื่อเตรียมนิสิตให้พร้อมกับตลาดแรงงานในอนาคต?
ระบบการศึกษาในด้าน IT ควรปรับปรุงเรื่องการส่งเสริม และสนับสนุนของระบบการศึกษา วิสัยทัศน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การปรับปรุงหลักสูตร และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้รู้เท่าทัน 



อาจารย์คิดว่าเราจะสามารถนำงานวิจัยลงสู่ชุมชนได้อย่างไรบ้าง
ตนเองคิดว่า ต้องมีการทำงานร่วมกันกับชุมชนอย่างจริงใจ ให้สิ่งที่เขาต้องการ และให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ด้วยความจริงใจ และจริงจัง ให้ประโยชน์กับชุมชน จนชุมชนเห็นความตั้งใจ ก็จะเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและเกิดการยอมรับอย่างแท้จริง



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง
เวลาทำวิจัยให้คิดว่าวิจัย แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรกับชุมชน ปัญหา และความต้องการของชุมชน คืออะไร โดยเฉพาะชุมชนเครือข่ายการศึกษา ต้องพยายามเข้าไปชวนเขาทำ อย่าแค่เข้าไปเก็บข้อมูลแล้วนำมาตีพิมพ์ ความสำเร็จไม่ใช่การตีพิมพ์แต่ความสำเร็จคือ สิ่งที่เกิดจากความร่วมมือ คือต้องได้ทั้งสองฝ่าย



ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
ผศ.ดร.มานิตย์ อาษานอก และ อ.ดร.มาณวิกา กิตติพร ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มือถือ 099-7949551 


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์ ภาพข่าวจากทีม MSU TV

Related Posts