ปัจจุบัน ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพกันมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตนะคะ การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้มากพอสมควรผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น อาหารออร์แกนิก เครื่องดื่มไร้น้ำตาล หรือผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่มาจากธรรมชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับเราในปัจจุบัน นอกจากจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตัวเราแล้ว แต่ยังสะท้อนถึงการใช้ชีวิตที่ ใส่ใจต่อตัวเราเองรวมไปถึงการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความยั่งยืน ในอนาคตได้เป็นอย่างดีแล้วนั้น และอะไรที่จะเป็นตัวเลือกที่ดี ที่จะเป็นมิตรกับเรา
หลาย ท่านคงจะเริ่มจะหันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกันแล้วใช่มั้ยคะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ได้กลายเป็นแนวทางสำคัญในอุตสาหกรรมความงาม และการดูแลผิวพรรณ สบู่เหลวสมุนไพร ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกซึ่งมีสารสกัดจากธรรมชาติ ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกที่ปลอดภัย และยั่งยืน
หลายท่านทราบกันมั้ยคะว่า เปลือกมังคุดที่เป็นผลไม้ที่แสนอร่อยของคนไทย นั้นสามารถนำเอามาทำอะไรได้บ้าง มีประโชน์อย่างไรบ้าง และสารสกัดจากทานาคามีคุณสมบัติอะไร และเมื่อนำของสองสิ่งนี้มารวมกันแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร ในวันนี้สาร MSU Online จะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องการพัฒนานวัตกรรมการพัฒนาตำรับสบู่เหลวสมุนไพรสารสกัดทานาคา และเปลือกมังคุด ภายใต้การดูแลของ คุณจิราภรณ์ โสดาจันทร์ นักวิจัยสังกัดแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หัวข้อโครงการวิจัย : การพัฒนาตำรับสบู่เหลวสมุนไพรสารสกัดทานาคา และเปลือกมังคุด
ชื่อโครงการ /ชื่อ-สกุล ผู้รับผิดชอบ : การพัฒนาตำรับสบู่เหลวสมุนไพรสารสกัดทานาคา และเปลือกมังคุด / น.ส.จิราภรณ์ โสดาจันทร์ ที่ปรึกษาโครงการวิจัย : รศ.ดร.อำภา คนซื่อ
กล่าวถึงที่มาของการทำวิจัยชิ้นนี้
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่พัฒนามาจากจากสมุนไพรกำลังเป็นที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน และมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ทานาคาก็เป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น แป้งทาหน้า ครีมบำรุงผิว รวมทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มทำความสะอาดผิวกาย เช่น สบู่เหลว ทานาคาเป็นพืชที่ชาวเมียนมาร์นำมาใช้มานานกว่า 1,000 ปี เพื่อบำรุงผิวพรรณ มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสเพื่อทำให้ผิวขาว และนอกจากนี้มังคุดยังเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆเช่นกัน ในเนื้อมังคุดมีสารกลุ่มแคททีชินและฟลาวานอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ฤทธิ์น้อยกว่าเปลือกมังคุด ซึ่งจะพบสารกลุ่มแซนโทน โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ พญายา หรือทานาคา ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem. และมีชื่อพ้องว่า Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson
ปัจจุบันงานสถานผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีความสนใจในการพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สบู่เหลวสมุนไพรจากสารสกัดทานาคาและเปลือกมังคุดเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผู้วิจัยสนใจนำมาพัฒนาตำรับเพื่อการใช้งาน ตลอดจนการนำสารสกัดที่ได้ไปพัฒนาเป็นตำรับสบู่เหลวสมุนไพร ที่มีการควบคุมปริมาณเชื้อจุลินทรีย์และโลหะหนัก ตลอดจนศึกษาความคงตัวของตำรับ เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picylhydrazyl (DPPH) radical scavenging assay และฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสในตำรับสบู่เหลวสมุนไพรสารสกัดทานาคาและเปลือกมังคุดเพื่อเป็นการประยุกต์นำมาใช้ในงานประจำต่อไปในอนาคต
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำวิจัยเรื่องนี้?
เนื่องด้วยคณะกรรมการฝ่ายบริหารเสนออยากให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และด้วยหน่วยงานสถานผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปัจจุบัน ได้ทำการผลิตสบู่เหลวจากสารสกัดทานาคาเพื่อใช้ในห้องพักคนไข้พิเศษโรงพยาบาลสุทธาเวช จึงเป็นที่มาให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อพัฒนาตำรับสบู่เหลวที่มีอยู่นั้นให้มีฤทธิ์เพิ่มขึ้นอีกด้วยกันผสมสารสกัดของเปลือกมังคุดเข้าไปเพิ่มเสริมฤทธิ์กัน และเนื่องจากเปลือกมังคุดเป็นวัตถุดิบที่มักจะถูกทิ้งหลังจากการรับประทาน จึงเป็นที่มาของการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
คุณสมบัติของสมุนไพรแต่ละชนิดมีความพิเศษอย่างไร ทำไมต้องเป็น 2 อย่างนี้ในการสกัดออกมาเป็นเป็นสบู่
เนื่องด้วยทานาคามีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศพม่า เช่น แป้งพม่าทาหน้าขาว ก่อนจะได้รับความนิยมนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย และต้นพญายา หรือทานาคา ยังเป็นต้นไม้ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่วนสารสกัดเปลือกมังคุดมีงานวิจัยหลายชิ้นที่รายงานผลการทดสอบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Propionibacterium acnes และเชื้อ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวที่ผิวหนัง และเปลือกมังคุดหาได้ง่ายในท้องตลาดเป็นวัตถุดิบที่ใช้หลังจากการรับประทานแล้วนั้น จึงเหมาะที่จะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
ประสิทธิภาพ: สารสกัดจากทานาคาและเปลือกมังคุดมีคุณสมบัติทางชีวภาพใดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของสบู่เหลว เช่น การต้านเชื้อแบคทีเรีย การลดการอักเสบ หรือการฟื้นฟูสภาพผิวอย่างไร?
สารสกัดทานาคามีสารประกอบ marmesin ซึ่งเป็นสารที่มีบทบาทในการกรองรังสีอุลตราไวโอเลต ในทานาคามีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ในปริมาณสูง ซึ่งช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ tyrosinase ที่มีบทบาทในการสังเคราะห์เม็ดสีผิวหรือเมลานิน โดยการเปลี่ยนสารตั้งต้นไทโรซินให้เป็นเมลานิน สารอีกชนิดหนึ่งที่พบในทานาคาคือ arbutin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ ซึ่งเม็ดสีเมลานินเป็นต้นเหตุของฝ้า กระ และรอยหมองคล้ำด่างดำของผิว สารประกอบเหล่านี้มีบทบาทร่วมกันในการออกฤทธิ์เพื่อช่วยบำรุงผิวพรรณอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สาร coumarin ในทานาคา ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ให้กลิ่นหอมละมุน ที่พบได้ในเปลือกไม้ของพืชหลายชนิด นอกจากนี้แล้ว Coumarin ยังเป็นสารที่นำไปใช้ในทางเภสัชวิทยา โดยเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์anticoagulants รวมทั้งอนุพันธ์ของ coumarin ก็มีบทบาทในการต้านการอักเสบและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
สำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าเนื้อมังคุดมีสารกลุ่มแคททีชินและฟลาวานอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ฤทธิ์น้อยกว่าเปลือกมังคุด ซึ่งจะพบสารกลุ่มแซนโทน ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำคั้นเนื้อมังคุดผสมเปลือกมังคุด โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ ศวดี พจนานุกิจ และ สมใจ ขจรชีพพันธุ์งาม 2010. ได้ทำการการทดสอบการยับยั้งเชื้อ Propionibacterium acnes และเชื้อ Staphylococcus aureus ของสารสกัดจากพืชสมุนไพร 3 ชนิดได้แก่สารสกัดจากเปลือกมังคุด ขมิ้นชันและใบบัวบก พืชทั้ง 3 ชนิดจะถูกนําไปสกัดและนําไปวิเคราะห์หาปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่สกัดได้ด้วยเทคนิค HPLC พบว่าสามารถสกัดสารแซนโทน (Xanthones) จากเปลือกมังคุดได้ 1.1929 mg/g ของเปลือกมังคุด สารเคอร์คูมิน (Curcumin) จากขมิ้นชันได้ 0.8753 mg/g ของขมิ้นชัน และสารเอเชียติโคไซด์ (Asiaticoside) กับกรดเอเซียติค (Asiatic acid) จากใบบัวบกได้ 0.0142 และ 0.0960 mg/g ของใบบัวบก ตามลําดับ จากการทดสอบการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากเปลือกมังคุด ขมิ้นชันและใบบัวบก พบว่าบริเวณยับยั้งเชื้อ (Inhibition zone) ของสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีค่ามากกว่าสารสกัดจากขมิ้นชันและใบบัวบกที่ความเข้มข้นของสารสกัดเท่ากัน และการทดสอบหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ของสารสกัดจากเปลือกมังคุด ขมิ้นชันและใบบัวบก สําหรับเชื้อ Propionibacterium acnes มีค่าเท่ากับ 12.5, 25 และ 200 mg/ml ตามลําดับและเชื้อ Staphylococcus aureus มีค่าเท่ากับ 6.25, 12.5 และ 200 mg/ml ตามลําดับ และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) ของสารสกัดจากเปลือกมังคุด ขมิ้นชันและใบบัวบก สําหรับเชื้อ Propionibacterium acnes มีค่าเท่ากับ 25, 50 และ 200mg/ml ตามลําดับและเชื้อ Staphylococcus aureus มีค่าเท่ากับ 12.5, 25 และ 200 mg/ml ตามลําดับ เมื่อเปรียบเทียบการยับยั้งเชื้อของสารสกัดจากพืชทั้ง 3 ชนิดพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดใช้ความเข้มข้นน้อยที่สุด (25 mg/ml) ในการยับยั้งเชื้อทั้ง 2 ชนิด
การทดสอบประสิทธิผล: สบู่เหลวจากสารสกัดทานาคาและเปลือกมังคุดมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับสบู่เหลวที่มีสารสังเคราะห์หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น ๆ อย่างไร?
ยังไม่ได้ทำการทดสอบฤทธิ์เปรียบเทียบกับสบู่เหลวสมุนไพรตัวอื่นที่มีจำหน่ายในท้องตลาด คาดว่าอาจจะเป็นงานวิจัยในชิ้นถัดไปค่ะ
กระบวนการสกัด: วิธีการสกัดสารจากทานาคาและเปลือกมังคุดแบบใดที่สามารถคงคุณสมบัติของสารออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดและเหมาะสมมากที่สุด
เนื่องด้วยสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นสารในกลุ่มที่มีขั้น จึงเลือกวิธีการต้มสกัดด้วยน้ำ ไม่ได้เลือกวิธีการหมักสกัดด้วยแอลกอฮอล์เพราะเสี่ยงการปนเปื้อนของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการแพ้แอลกอฮฮล์ในผู้ใช้บางรายค่ะ และการสกัดต้มด้วยน้ำต้นทุน ในการสกัดถูกกว่าการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ที่มีต้นทุนสูงกว่า
ความพึงพอใจของผู้ใช้: ผู้ใช้มีความพึงพอใจในด้านประสิทธิภาพ กลิ่น สี และเนื้อสัมผัสของสบู่เหลวตำรับนี้มากน้อยเพียงใด?
ยังไม่ได้ทำการทดสอบในงานวิจัยชิ้นนี้ จะดำเนินการทดสอบในงานวิจัยชิ้นถัดไปต่อจากนี้ค่ะ
งบประมาณในการผลิตตำรับสบู่เหลวสมุนไพรนี้เมื่อเทียบกับสบู่เหลวทั่วไปในท้องตลาดมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่?
เฉพาะราคาต้นทุนสบู่เหลวสมุนไพร ขนาด 200 มล. อยู่ที่ 10 บาท ยังไม่รวมค่าขวดบรรจุ ค่าขวดและค่าฉลากขึ้นอยู่กับการเลือกบรรจุภัณฑ์ หากขวดทั่วไปราคาประมาณ 20 บาท ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาท ราคาสบู่เหลวสมุนไพรที่ขายตามท้องตลาด 200 มล. อยู่ที่ประมาณ 50-120 บาท/ขวด
อุปสรรค หรือปัญหาอะไรบ้างที่พบระหว่างการทำวิจัย?
การเก็บวัตถุดิบสมุนไพรเปลือกมังคุด เนื่องจากว่าเป็นผลไม้ที่ออกตามฤดูกาล จะต้องคำนวณปริมาณการใช้เพื่อทำการสกัดให้เพียงพอต่อการผลิตทั้งปี
คุณสมบัติและจุดเด่นของงานวิจัยเป็นอย่างไร
เป็นการนำสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า และนำสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของคณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสบู่เหลวบำรุงและรักษาผิว
ในอนาคต มีแผนการจะพัฒนางานวิจัยที่ไปในทิศทางไหนอย่างไร?
พัฒนางานวิจัยต่อยอดในการประเมินความพึงพอใจด้านสี และกลิ่น ทดสอบอาการแพ้ทางผิวหนัง และทดสอบฤทธิ์เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด
ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
บางครั้งงานวิจัยก็ไม่จำเป็นต้องมองสิ่งที่อยู่ไกลตัวเรามากเกินไป บางทีสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นก็สามารถยกขึ้นมาทำวิจัยได้ค่ะ และสิ่งที่ทำอยู่ในงานประจำก็สามารถหยิบขึ้นมาพัฒนาเป็นงานวิจัยได้ค่ะ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
สถานผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร งานแพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยาสตร์ ม.มหาสารคามค่ะ เบอร์โทร. 043-021021 ต่อ 7770