นายชัชยา คงสมจิตต์ ชื่อเล่นลูกตาล นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขานิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ
รางวัลที่ได้รับ
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันการกล่าวสุนทรพจน์ระดับปริญญาตรี (ภาคภาษาอังกฤษ) ในงานวันรพี ประจำปี 2567 จัดโดย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ครับ โดยในการแข่งขันรอบคัดเลือกหัวข้อ Ethics of Lawyers and Facilitation of Access to Justice มีผู้เข้าแข่งขันประมาณ 20 คน โดยแต่ละคนมีเวลา 5 นาทีในการกล่าวสุนทรพจน์ ผมจับได้ลำดับที่ 1 ซึ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะต้องเริ่มต้นก่อนใคร แต่ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อก้าวเข้าไปในห้องคัดเลือก สิ่งที่ผมผมประทับใจมาก คือ ท่านคณะกรรมการตั้งใจฟังอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้ผมรู้สึกภูมิใจและมั่นใจมากขึ้น การแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของแพ้หรือชนะ แต่เป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจของเราเองครับ
หลังจากแข่งรอบแรกเสร็จ ผมมีเวลามากพอที่จะเตรียมตัวสำหรับหัวข้อรอบชิง แม้จะเป็นการเตรียมไว้เผื่อโอกาส ผมก็ใส่เต็มที่ เมื่อถึงเวลาประกาศผล ผมตื่นเต้นมากว่าจะมีชื่อผมหรือไม่ และปรากฏว่ามี! จากผู้เข้ารอบ 6 คน มีผู้หญิง 5 คน และผมเป็นผู้ชายคนเดียว ตอนนั้นผมทั้งตกใจและดีใจที่ทำได้ถึงขนาดนี้ และรู้ได้ว่าผมต้องทำให้ได้และทำให้ดีที่สุด เพราะทุกคนในรอบชิงล้วนมีความสามารถไม่แพ้กัน
ในรอบชิงชนะเลิศ ผู้เข้าชิง 6 คนจะกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ The Role of Lawyers in Maintaining the Rule of Law มีการแข่งขันถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กของสภาทนายความ ผมจับสลากได้ลำดับที่ 6 ซึ่งให้เวลาผมดูผู้แข่งขันคนอื่นและคิดว่าจะปรับการพูดของตัวเองอย่างไรเพื่อเพิ่มโอกาสคว้ารางวัล เมื่อถึงเวลาของผม ผมพูดอย่างมั่นใจ ชัดเจน ตรงประเด็น
แม้จะมีช่วงติดขัดบ้าง แต่ผมก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยพูดตามที่คิด เพื่อให้การพูดลื่นไหลต่อเนื่องครับ
หลังจบการแข่งขัน ผมลุ้นอย่างมากว่าจะได้รางวัลใหญ่หรือรางวัลชมเชย ตอนประกาศรางวัลชนะเลิศ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากๆ เพราะทุกคนทำได้ดีไม่แพ้กัน เมื่อชื่อผมถูกประกาศเป็นผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ความรู้สึกดีใจ ประทับใจ และเกินความคาดหมายก็ท่วมท้น เพราะนี่เป็นการแข่งขันครั้งแรกของผมครับ
แรงบันดาลใจและการเข้าร่วมการแข่งขัน
ในการเข้าร่วมการแข่งขันสุนทรพจน์ครั้งนี้ เริ่มจากรุ่นพี่ (ซึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในภาคภาษาไทย) ชักชวนผมด้วยคำพูดว่า "น้องเก่งภาษาอังกฤษ สนใจเข้าร่วมไหม?" คำชวนนี้ทำให้ผมรู้สึกอยากเข้าร่วมทันที จึงตอบตกลงไปครับ
ก่อนจะเข้าร่วมการแข่งขัน ผมต้องผ่านการคัดเลือกจากท่านคณบดี โดยได้ทดสอบกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าท่านคณบดีและรองคณบดี ซึ่งคณาจารย์ได้ให้คำแนะนำว่าผมควรพัฒนาตรงไหนบ้าง ตอนแรกผมคิดว่าอาจไม่ได้ไป แต่เพราะท่านคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดาริกา โพธิรุกข์ ท่านรองคณบดีฝ่ายวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.ตุลญา โรจน์ทังคำ และท่านรองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพ อาจารย์จุฬาลักษณ์ โภคาสุข ปัญญจิตร ท่านเห็นว่าผมเป็นคนเดียวที่กล้าใช้ภาษาอังกฤษในการแข่งขัน จึงมอบโอกาสให้ผม และแนะนำให้ไปปรึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายเอกชน ซึ่งท่านเป็นผู้ชำนาญภาษาอังกฤษอย่างมาก และท่านมีเพจ English for Lawyers by Duangden ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมายกับ อ.ดวงเด่น ครับ
เมื่ออาจารย์มีความเชื่อมั่นในตัวผม ผมก็เริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และพร้อมที่จะแสดงความสามารถ พร้อมกับพัฒนาตัวเองไปอีกขั้นครับ
อยากให้เล่าถึงการเตรียมตัว ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่/มีการซ้อม /มีการเตรียมข้อมูลที่จะพูด อย่างไรบ้าง? มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำ
ผมได้พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช ทันที โดยใช้เวลา 1 สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน ในช่วงแรกอาจารย์ให้ผมทดสอบภาษาอังกฤษด้วยการพูดและออกเสียง เพื่อปรับระดับการกล่าวสุนทรพจน์ จากนั้นผมให้ท่านช่วยตีความหัวข้อรอบคัดเลือก ก่อนนำข้อมูลมาเขียนเป็นภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อส่งให้อาจารย์ตรวจแก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหา รวมถึงปรับไวยากรณ์ จนได้บทสุนทรพจน์ที่สมบูรณ์ และเมื่อได้บทสุนทรพจน์แล้ว ผมท่องจำและฝึกพูดหน้ากระจกทุกคืน ใช้เวลา 4 วันจนรู้สึกมั่นใจ วันก่อนการแข่งขัน อาจารย์นัดซ้อมใหญ่และปรับบทให้เหมาะกับการพูดของผม ท่านยังถามด้วยว่าผมต้องการเตรียมบทรอบชิงชนะเลิศหรือไม่ ซึ่งผมตอบตกลงและส่งข้อมูลที่เตรียมไว้ให้อาจารย์ช่วยเรียบเรียงต่อไป ครับ
การกล่าวสุนทรพจน์ จากหัวข้อที่ได้รับ “บทบาททนายความกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน” อยากให้เล่าให้เพื่อนๆฟัง
ผมอยากบอกเพื่อนๆ ว่า ถ้าเรากล้าที่จะทำอะไรและทำอย่างเต็มที่ เราจะสามารถทำได้ แม้ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือเราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้น การกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ ผมยังมีจุดที่ต้องปรับปรุง โดยเฉพาะการออกเสียงภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่ทำให้ผมเดินหน้าได้คือความมั่นใจและกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง ผมอยากให้ชาว มมส. ทุกคนมีความกล้านี้ เพราะมันสามารถสร้างประโยชน์และส่วนรวมได้ และผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคามของเราไม่แพ้ที่ไหน หากพวกเรากล้าที่จะแสดงศักยภาพของตัวเอง
การประกวด การกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ มีความท้าทายอย่างไรสำหรับคุณบ้าง
การพูดภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการอาจมีคำที่ออกเสียงยาก แต่โชคดีที่มีอาจารย์ช่วยแนะนำ ประกอบกับพื้นฐานภาษาอังกฤษของผมค่อนข้างดี ผมจึงสามารถเรียนรู้ได้เร็วครับ และการสบตากับผู้ฟังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเคยรู้สึกเขินอาย แต่ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์ ผมจึงเรียนรู้วิธีมองหน้าเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง และนี่เป็นการแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกของผม ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและกังวล แต่ด้วยการสนับสนุนจากอาจารย์ที่คอยให้คำแนะนำและกำลังใจ ผมสามารถจัดการกับความรู้สึกและทำได้สำเร็จครับ
บอกความคุณรู้สึกที่ได้รับรางวัลนี้ ตลอดจน ขอบคุณผู้ที่คอยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ
การได้รับ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เป็นเกียรติอย่างยิ่งและทำให้ผมรู้สึกขอบคุณตัวเองที่สามารถทำได้เกินคาด ผมภูมิใจในความสำเร็จนี้อย่างมากครับ
ผมขอขอบคุณและซาบซึ้งต่อทุกคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ โดยเฉพาะพ่อแม่และครอบครัวที่สนับสนุน รวมถึงคณาจารย์ พี่ๆ เจ้าหน้าที่ในคณะ และเพื่อนๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผม ขอขอบคุณทุกท่านมากครับ
ขอคำแนะนำสำหรับนักเรียนหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
ควรประเมินความสามารถด้านภาษาอังกฤษของตนเองว่ามีพื้นฐานดีพอที่จะเข้าใจและสื่อสารได้ตรงประเด็นหรือไม่ หากมั่นใจแล้ว ต้องกล้าเข้าหาอาจารย์เพื่อขอคำแนะนำในการกล่าวสุนทรพจน์ เพราะอาจารย์คือผู้ชี้แนะแนวทางที่ดีให้เรา นอกจากนี้ การฝึกพูดต่อหน้ากระจกก็สำคัญ ช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองได้มากขึ้นครับ
ข้อคิด หรือ คติ ที่เราใช้เตือนตัวเอง
“จงภาคภูมิใจในตนเองเมื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง จงรับฟังผู้อื่นเพื่อขัดเกลาตนเอง จงรักและขอบคุณกับคนที่ทำให้เรามีวันนี้”
อยากให้เชิญชวนน้องๆที่สนใจจะมาเรียน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สำหรับน้องๆม.6 คนไหนอยากเรียนนิติศาสตร์ในภาคอีสาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่แพ้ที่อื่นใด เพราะเรามีคณาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์ ที่จะมอบความรู้ทางวิชาการ ให้คำปรึกษา และพัฒนานิสิต เพื่อสร้างนิสิตมีคุณภาพสู่การพัฒนาสังคมในด้านกฎหมาย และสิ่งสำคัญคือเรามีรุ่นพี่ รุ่นน้อง รุ่นพี่ศิษย์เก่า ที่น่ารักคอยให้คำปรึกษา ผลักดัน และส่งเสริมซึ่งกันและกัน เสมือนกับว่าพวกเราคือครอบครัวเดียวกัน หากน้องๆคนไหนสนใจมาเป็นครอบครัวเดียวกันกับเรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับน้องๆ ครับ :)
สาร MSU ONLINE เราได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายเอกชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษาในการแข่งขันสุนทรพจน์ ภาคภาษาอังกฤษ จะมาบอกเล่าความรู้สึกภาคภูมิใจ กับความสำเร็จของ ชัชยา คงสมจิตต์ ในครั้งนี้ค่ะ
ในฐานะอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษาในการแข่งขันสุนทรพจน์ ภาคภาษาอังกฤษ ของนายชัชยา คงสมจิตต์ หรือตาล นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ ซึ่งได้เข้าร่วมแข่งขันประกวดสุนทรพจน์ ภาษาอังกฤษ ในหัวข้อ Role of Lawyers in Maintaining the Rule of Law จัดโดยสภาทนายความ เรามีเวลาเตรียมตัวเพียง 5 วัน โดยซักซ้อมกันหลังอาจารย์สอนเสร็จและฝึกซ้อมใหญ่ที่คณะฯ สำหรับรอบคัดเลือก และในรอบชิงชนะเลิศ เราได้ปรึกษากันผ่าน Facebook ตอนกลางคืนก่อนการแข่งขันในเช้าวันรุ่งขึ้น
ตาลมีความกล้า มั่นใจในตัวเองและมีไหวพริบในการแก้ปัญหา แม้จะกดดันจากเวลาที่จำกัด แต่ตาลก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยกำลังใจจากคณาจารย์ เพื่อนๆ และครอบครัว ทำให้ผลงานของตาลออกมาอย่างยอดเยี่ยมและสามารถชนะใจกรรมการและผู้ฟังได้
สำหรับอาจารย์ รู้สึกยินดีและภูมิใจในความสำเร็จของตาลอย่างมาก เพราะนี่เป็นปีแรก ครั้งแรกของคณะนิติศาสตร์ ที่ได้ส่งนิสิตเข้าร่วมการแข่งขันและเป็นครั้งแรกของอาจารย์เองเช่นกัน ที่มีโอกาสรับผิดชอบในการเตรียมความพร้อม/ฝึกซ้อม ให้ตัวแทนนิสิต เพื่อเข้าร่วมในการแข่งขันประกวดสุนทรพจน์ ภาษาอังกฤษ อาจารย์อยากให้ตาลฝึกฝน และพัฒนาตัวเองในพรสวรรค์นี้ต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์และแรงบันดาลใจนี้แก่รุ่นน้องต่อไป