มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับนิสิตคนเก่ง สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ ทีม  04:00 A.M. Production (ตี 4) ที่ได้คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการประกวดคลิปวิดีโอสั้น ในหัวข้อ THE MEMORIES ในหัวข้อ #ฟูจิฟิล์มความทรงจำที่สัมผัสได้ ในชื่อผลงาน #อีกครั้ง วันนี้ สาร MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับพวกเขา กับแนวคิดดีๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน และถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีเสน่ห์และลึกซึ้งของพวกเขา ตลอดจนแนวคิดในการทำงานเป็นทีมอย่างไรให้ได้รับผลสำเร็จ ผ่านบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้ อยากให้ทุกท่านมาติดตามกันค่ะ



แนะนำตัว 
       พวกเราสมาชิกในทีม  04:00 A.M. Production (ตี 4) ประกอบด้วย นิสิตจากสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ ดังนี้ 1.นายชินวัตร เสาเวียง  2.นางสาวมาลิดา ทอทับทิม 3.นายอนุชา ปัสสา 4.นายทีปกร ใจอ่อน 5.นายอภิวัฒน์ แก้วปินตา 6.นางสาวศิรินันท์ โพธิ์งาม  7.นางสาวพิมพิศา ป่าตุ้ม  8.ดวงฤทัย บัวแสง  9.นายตะวัน ราชสุรินทร์  10.นางสาวณัฐมน ดวงบุดศรี 11.นางสาวไปรยา เสาศิลา 12.นางสาวสุนิสา ภักดี 13.นางสาวนภัสสร สระอุบล และนิสิตสาขาศิลปการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ และวัฒนธรรมศาสตร์ 14.พรนิชา เกตุโคกกรวด 15.นายธีรราช อัศวจารุพันธ์  โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ  อาจารย์ ดร. สถิติพงษ์ เอื้ออารีมิตร ครับ

 
รางวัลที่ได้รับ
        ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดคลิปวิดีโอสั้น THE MEMORIES ในหัวข้อ #ฟูจิฟิล์มความทรงจำที่สัมผัสได้  
 กับชื่อผลงาน #อีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความลับของภาพที่ปริ้นออกมา ว่ามีความหมายกว่าไฟล์ภาพอย่างไร  ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้น  โดยบริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ครับ



จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจในการทำผลงานชิ้นนี้ 
        สำหรับจุดเริ่มต้นของการได้ทำผลงานชิ้นนี้ เกิดขึ้นระหว่างพวกเราทีมงาน (ตี 4 โปรดักส์ชั่น) มีความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมประกวดอยู่เเล้ว พอได้เห็นว่าทางฟูจิฟิล์มได้เปิดโครงการก็สนใจเข้าร่วมทันทีครับ และจากที่พวกเราได้ศึกษาหัวข้อที่ได้กำหนดให้ คือ หัวข้อ #ความทรงจำที่สัมผัสได้ พวกเราได้ตีความออกเป็นหลายอย่าง เเต่สุดท้ายเราก็เลือกที่จะเล่าเรื่องผ่านตัวละครที่ เป็นบุคคลพิการทางด้านการมองเห็น  เพราะเรามองว่าการสัมผัสเเละความรู้สึกของมนุษย์ไม่ได้มีเพียงเเค่การมองเห็น ครับ



ระยะเวลาในการดำเนินการ/ อุปสรรคและปัญหาที่พบระหว่างจัดทำผลงาน 
        เราใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 3 วันครับ อุปสรรคที่เราเจอนั้นมักเป็นเรื่องของสภาพอากาศ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่เรานั้นควบคุมไม่ได้ ด้วยที่เราต้องไปถ่ายที่ต่างจังหวัดความยากอีกอย่างของการทำผลงานชิ้นนี้อีกอย่างก็คือเวลา ถ้าเราพลาดนิดเดียวก็อาจจะต้องกลับมาเเก้ใหม่ซึ่งเป็นอะไรที่ยากพอสมควร  
        อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ ดร. สถิติพงษ์ เอื้ออารีมิตร ท่านได้ให้ความสนับสนุนในหลายๆ ด้าน โดยส่วนตัวเเล้วความรู้หลายๆ อย่างในการถ่ายทำก็มาจากที่ได้เรียนวิชากับท่าน เเละท่านยังสนับสนุนให้ทุนในการเข้าไปรับรางวัลที่กรุงเทพฯ อีกด้วยครับ ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ



เล่าให้ฟังถึงการทำงานเป็นทีม (Teamwork)  และข้อคิดดีๆที่การทำงานเป็นทีมอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ 
        สำหรับเรื่องนี้ เป็นเรื่องยากที่เราจะทำงานให้เพอร์เฟค ด้วยความที่เราทุกคนประสบการณ์ทำงานของเราก็ไม่ได้มีเยอะ เเต่เราไม่ได้มองจุดนั้นเป็นข้อด้อยในการพัฒนาตัวเอง พวกเราเลือกที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดเเละเรียนรู้จากการได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆเสมอ  พวกเราต่างก็มองซึ่งกันเเละกันเเบบเพื่อน  หากใครมีเจอปัญหาอะไรเราก็จะช่วยกันเเก้ไขหรือใครมีความรู้เเละไอเดียใหม่ๆเราก็จะมาเเชร์ให้เพื่อนๆทุกคนฟังตลอดครับ

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้ 
        การประกวดในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ใหญ่มากๆ สำหรับเด็กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เราได้รับมากที่สุดจากการทำกิจกรรมนี้คือการเรียนรู้  เเละการได้กล้าลองในสิ่งใหม่ๆ เเละได้รับคำติชมมากมายซึ่งมันคือสิ่งที่เราอยากจะขอบคุณมากๆ กับตรงนี้ ครับ 



บอกเล่าความรู้สึกเมื่อได้รับรางวัลในครั้งนี้ 
        พวกเราบอกเลยว่าเกินฝันมากๆ จนถึงตอนนี้เรายังคิดอยู่เลยว่าไม่ได้ฝันไปใช่ไหม มันคือเรื่องจริงใช่ไหม ด้วยความที่เราพึ่งได้รางวัลชนะเลิศเป็นครั้งเเรกด้วย เเละอะไรหลายๆ ซึ่งก็อยากจะขอบคุณทางฟูจิที่ให้โอกาสกับพวกเราเพราะรางวัลนี้มันมากกว่าอะไรที่หลายๆคนคิด เพราะการเริ่มต้นของพวกเราเป็นโปรดักส์ชั่นที่ไม่มีอุปกรณ์เลยเเต่มีใจรักที่อยากจะเรียนรู้เเละอยากจะทำ นี่ถือเป็นกล้องตัวเเรกเเละเป็นก้าวเเรกในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ของพวกเรามาก  



ฝากข้อคิดดีๆ ถึงเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่อยากเข้าร่วมแข่งขันและประสบความสำเร็จแบบนี้บ้าง 
        สำหรับตรงนี้พวกเราก็อยากฝากถึงน้องๆ เพื่อนๆ หรือใครก็ตามนะครับที่มีความฝันเเละมีใจรักในด้านนี้ สิ่งหนึ่งที่จะหยุดให้เราได้เริ่มลงมือทำก็คือใจเรา  เเละสิ่งหนึ่งที่จะพาเราให้ได้ทำเเละไปสู่ความสำเร็จมันก็คือใจของเราเองเช่นกัน หากเรากล้าอะไรหลายๆที่จะได้หลังจากนี้พวกเราบอกเลยว่าคุ้มเเน่นอน ถึงเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างน้อยเราก็ได้เริ่มที่จะชนะใจของตัวเองเเละมีประสบการณ์ในการเจองานใหม่ๆในอนาคตได้  ครับ

แนะนำ เชิญชวน มาเรียนที่ สาขา สาขา นิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ 
        พวกเรา 04:00 A.M. PRODUCTION (ตี4) ก็อยากจะบอกว่าสำหรับใครที่สนใจในด้านภาพยนตร์ สำหรับคณะเรา ถึงจะขึ้นต้นชื่อว่าคณะวิทยาการสารสนเทศ เเต่เราไม่ได้มีเเค่เรื่องเทคโนโลยี ในสายนิเทศของเรายังมีการเรียนการสอนมากมายหลายๆ ทางสำหรับคนที่ชอบทางด้านนี้  ยังไงก็ขอฝากและเชิญชวนน้องๆ มาเรียนรู้ไปกับเราด้วยครับ




Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts