จากการพบปัญหาในอุตสาหกรรมยางพารารมควันเกรดต่ำ  ซึ่งยากต่อการนำมาก่อให้เกิดประโยชน์และกำจัดทิ้ง  จึงก่อให้เกิด Cattle Tender  รองเท้าสำหรับวัวจากยางพาราเก่า จากทีม  Victorem  ผลงานแผนธุรกิจแผนธุรกิจสีเขียว สู่สังคมที่ยั่งยืน  ของนิสิตสาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะการบัญชีและการจัดการ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ จากโครงการประกวดแผนธุรกิจ Green Business Plan towards Sustainable Society ครั้งที่ 5  สาร MSU ONLINE จะนำทุกท่านไปรู้จักพูดคุยกับพวกเขา กับแนวคิดดีๆ การทำงานจนได้รับผลสำเร็จ ผ่านบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้ อยากให้ทุกท่านมาติดตามกันค่ะ



แนะนำตัว
        สวัสดีครับ พวกเราทีม Victorem เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3  สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ  คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ  สมาชิกในทีมของเราประกอบด้วย นายวิรวิศว์ โตประโคน นายชโยดม นพสุวรรณวงศ์  นายอภิชาติ  วิโย นายวสุพล  พรมเลิศ  นายวรทัศน์ เนื่องมัจฉา  และมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ  อาจารย์ ดร.วีระศักดิ์  สว่างโลก และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธีรา จันทร์เทศ ครับ



บอกเล่ารายละเอียดรางวัลที่ได้รับ
        ชื่อผลงาน Cattle Tender  ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดแผนธุรกิจ Green Business Plan towards Sustainable Society ครั้งที่ 5 ภายใต้โครงการจัดประชุมทางวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2567 มีทีมที่ส่งเข้าประกวดแข่งขันทั้งหมด 85 ทีม 
        โดยในการแข่งขันประกวดนั้นจะแข่งออกเป็นทั้งหมด 2 รอบ ได้แก่  รอบคัดเลือก ทั้งหมด 85 ทีม และรอบชิงชนะเลิศ 5 ทีมสุดท้าย  โดย กำหนดการจะเริ่มให้ส่งผลงานในรอบคัดเลือก ภายในวันจันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วย แผนธุรกิจฉบับย่อ 1 หน้ากระดาษ A4 และคลิป VDO นำเสนอไม่เกิน 3 นาที ใช้เวลาในการคัดเลือกประมาณ 27 วัน ประกาศผลพิจารณารอบคัดเลือก ในวันที่ 22 มกราคม 2567 ต่อมาให้ส่งผลงานฉบับสมบูรณ์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567  และทำการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 ครับ



ความเป็นมาที่ได้เข้ามาร่วมโครงการนี้
        เราได้รับทราบมีโครงการนี้เนื่องจาก อาจารย์ที่ปรึกษาของโครงการ อ.ดร.วีระศักดิ์ สว่างโลก ได้เป็นผู้เสนอ  หาผู้เข้าร่วมแผนการประกวด พวกผมจึงได้มีความสนใจในการร่วมกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่ได้มีโอกาส เนื่องจากขาดหายจากกิจกรรมการต่างๆ มาตั้งแต่ช่วงของโควิด 2019 โดยปีผมเป็นเด็กรหัส 64 ที่ปีแรกเป็นการเรียนระบบออนไลน์ Online ทำให้ขาดหายจากช่วงของการทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นปีที่พวกผมเหมาะกับการเข้าร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างประวัติส่วนของในการเข้าร่วมกิจกรรมเข้าไว้ เผื่อในช่วงเวลาของการทำ Resume หรือ CV เพื่อยื่นในการสมัครงานหรือ ยื่นเพื่อขอเข้ารับการฝึกงานทั้งในช่วงของSummer หรือจะเป็นการยื่นการฝึกสหกิจศึกษาในชั้นปีที่ 4 เทอม 2 อีกด้วยครับ 



แนวคิดในการจัดทำแผนธุรกิจนี้
        มันเกิดขึ้นจากคำถามง่ายๆ นั่นคืออะไรที่เป็นปัญหาในอุตสาหกรรมยางพารารมควันเกรดต่ำ  ที่ยากต่อการนำมาก่อให้เกิดประโยชน์และกำจัดทิ้ง เราศึกษาเรื่อง เกษตรปศุสัตว์  ทำให้รู้ว่าเมื่อสัตว์เท้าเกิดอาการบาดเจ็บกีบเท้านั้นจำเป็นต้องมีการดูแลในช่วงของกระบวนการการรักษาที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดแรงบัลดาลใจให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาคอยดูแลหรือเข้ามาสู่กระบวนการดูแลรักษากีบเท้าของโคนม พอเราทราบถึงปัญหา เราก็กลับมาคิดกันว่าเราจะทำยังไงกับปัญหาเหล่านั้นได้บ้างเพื่อช่วยเหล่าเกษตรกร และเราก็ได้พบถึงทางออกของปัญหา คือ  มหาวิทยาลัยได้มีการจัดทำโปรเจค นวัตกรรมแปรรูปแผ่นยางพารารมควันเกรดต่ำสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์คุณภาพสูง และจากการที่ทางเราได้มีช่องทางติดต่อจากเกษตรกร ผู้จัดการฟาร์มและสัตวบาลที่ PP ฟาร์ม จังหวัดขอนแก่นครับ



อยากให้เล่าถึงการเตรียมตัว/การดำเนินการในการจัดทำ /ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
        เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมเราใส่ใจทุกก้าวของการดำเนินการจัดทำ  เวลาเราเจอปัญหาต่างๆ เราทุกคนก็พร้อมคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและพร้อมรับฟังคำแนะนำซึ่งกันและกันเพื่อทำมาปรับใช้ การแบ่งหน้าที่ความสามารถ เราทุกคนทำงานกันหนักมาก ตามความรับผิดชอบของแต่ละคนเพื่อเป็นการดำเนินงานที่มีกระบวนการมากที่สุดโดย จะมีคนหนึ่งในการวางโครงแบบร่างและแนวทางของแผน และการทำงานที่จะทิศทางที่แน่นอนและเป็นทิศทางเดียวกัน และในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกันในการออกแบบ  ในส่วนนี้จะพบปัญหาที่เนื่องจากทางกลุ่มมีความต้องการที่จะออกแบบแล้วทำการวาดโครงร่าง 3 มิติ ในส่วนของปัญหากลุ่มเราไม่ค่อยประสบปัญหาในการดำเนินการมากนัก แต่่อาจจะเป็นปัญหาทางด้านกระบวนการหรือเกิดความสับสนในส่วนที่เล็กน้อยก็จะทำการร่วมกันปรึกษาหาทางแก้ไข และทำการรับฟังคำแนะนำที่เป็นแนวทางในการรับมือจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่มากประสบการณ์ ซึ่งขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ  และที่สุดแล้วพวกเราก็สามารถทำได้ และสิ่งที่ทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่สพเร็จตามแผนที่ได้วางไว้นั้น ก็เกิดมาจากการทำงานหนักของทุกคนครับ



เราคิดว่าจุดเด่นอะไรในงานของเราที่คณะกรรมการเลือกทีมให้ทีมที่ชนะเลิศ
        การเข้าใจแผนธุรกิจ กลุ่มเป้าหมายและธุรกิจที่เราจะทำอย่างลึกซึ้งทั้งการศึกษาจากการสอบถามผู้ที่พบเจอปัญหา และผู้ที่มีส่วนในการจัดทำผลงานให้เกิดขึ้นจริงได้  ซึ่งเรื่องนี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากพวกเราขาดการสนับสนุนจาก อ.ดร.วีระศักดิ์ สว่างโลก และ ผศ.ดร.สุธีรา จันทร์เทศ ที่มีบทบาทสำคัญมากๆกับทีมเรา สุดท้ายต้องขอบคุณทุกคนที่คอยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม ขอขอบคุณทางคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สนับสนุนและให้โอกาสในการลงพื้นที่จริงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ครับ



ประสบการณ์ดีๆที่ได้รับจากการประกวดครั้งนี้
        การที่ได้รู้จักผู้คน แนวคิด ความรู้และการบอกเล่าประสบการณ์ ใหม่ๆ ในงาน ของทั้งคู่แข่งและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน และเป็นเหมือนการพิสูจน์ในสิ่งที่เราคิดและตั้งใจทำว่านักธุรกิจจริงๆ เขาคิดเห็นยังไง แทบเรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีและเป็นก้าวสำคัญในชีวิต ของพวกเราครับ

ต่อจากนี้ไปวางเป้าหมายไว้อย่างไรบ้าง
        เราจะผลักดันสิ่งที่เราคิดให้เกิดขึ้น และพัฒนาแผนธุรกิจอยู่เสมอเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการประกวดต่างๆ ที่จะเข้ามา ซึ่งเราจะทำตัวให้พร้อมสำหรับโอกาสเหล่านั้น



ข้อคิดดีๆ ในการที่อยากจะฝากบอก
        การที่ได้ส่งแผนไปแข่งแบบนี้นั้น มีแต่ได้กับได้  แทบไม่มีอะไรเสียหายเลยต่อให้ผลจะออกมาเป็นยังไง สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์จากการแข่งแน่นอน สุดท้ายที่อยากจะฝากคือการบาลานซ์สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพ

เชิญชวนและฝากถึงรุ่นน้องที่สนใจเข้าเรียน
        สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสาขาที่มีความหลากหลายไม่ตายตัว มีความเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจมากมาย การเรียนรู้ที่ไม่มีขอบเขต สามารถค้นคว้าหรือผสมในส่วนของในเรื่องที่สนใจเข้ากับเศรษฐศาสตร์ได้ครับ  


Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts