นักวิจัย มมส ค้นพบค้นพบหอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลก จากแม่น้ำชี บริเวณบ้านท่าขอนยาง และบ้านท่าสองคอน จังหวัดมหาสารคาม หอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลกนี้มีความยาวของเปลือกถึง 21 เซนติเมตร เป็นหอยกาบน้ำจืดสกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหอยกาบน้ำจืดด้วยกัน สามารถเรียกว่า หอยกาบใหญ่แม่น้ำชี หรือ หอยกาบใหญ่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นหอยกาบน้ำจืดชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำโขง หรือเรียกว่า หอยกาบใหญ่ซึ่งปัจจุบันหอยกาบชนิดนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากจำนวนลดลงมากจนแทบไม่พบตัวเป็นที่ยังมีชีวิตอยู่ภายใต้การค้นพบของ  รศ.ดร.บังอร กองอิ้ม ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะ 



จากการสำรวจกว่า 10 ปี พบหอยชนิดนี้เพียง 2 ตัว เท่านั้น โดยชาวบ้านใช้ประโยชน์ด้วยการนำตัวมาประกอบอาหารเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ หรือนำมาเลี้ยงสัตว์ ส่วนเปลือกหอยจะนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น หรือเผาเปลือกเพื่อผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต หรือ ปูนขาว ในธรรมชาติหอยกาบน้ำจืดจะทำหน้าที่กรองตะกอนในแหล่งน้ำทำให้น้ำใส เปลือกเมื่อถูกย่อยสลายจะช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุคืนสู่ระบบนิเวศแหล่งน้ำ

ชื่อผลงานและผู้ค้นพบ
ชื่อผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ คือเรื่อง 
Discovery of a New Endangered Freshwater Mussel Species in the Genus Chamberlainia Simpson, 1900 (Bivalvia: Unionidae) from Mekong Basinการค้นพบหอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลกที่ใกล้สูญพันธุ์ในสกุลแคมเบอร์ไลเนีย แห่งลุ่มน้ำโขง "ค้นพบโดย รองศาสตราจารย์ ดร. บังอร กองอิ้ม อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีผู้ร่วมวิจัย คือ รองศาสตราจารย์ ดร. เอกชัย จิรัฏธิติกุล จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร. จิรศักดิ์ สุจริต จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"



ที่มาของงานวิจัย
การสำรวจพบหอยกาบน้ำจืดในประเทศไทยมีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีนานกว่า 200 ปี โดยตัวอย่างที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ หอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่หรือมักเรียกว่า หอยมุกน้ำจืด เนื่องด้วยมีเปลือกใหญ่และหนา ให้ไข่มุกขนาดใหญ่ที่มีสีสันสวยงาม และมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ชนิดแรกถูกตั้งชื่อว่า Unio hainesianus Lea, 1856 จัดอยู่ในวงศ์ Unionidae พบแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลักษณะเด่นคือ เปลือกเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งต่อมาถูกย้ายไปอยู่ในสกุลแคมเบอร์ไลเนีย Chamberlainia hainesiana ส่วนชนิดที่สอง 
C. duclerci มีรายงานพบแถบลุ่มน้ำแม่กลอง ส่วนหอยมุกน้ำจืดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดิมใช้ชื่อ 
C. hainesiana ซึ่งการระบุชนิดส่วนใหญ่ใช้ลักษณะเปลือกเป็นหลัก จนกระทั่งช่วงเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2015 พบตัวอย่างหอยมุกน้ำจืดขนาดใหญ่ จำนวน 1 ตัว และในปี ค.ศ. 2022 พบตัวอย่างหอยมุกน้ำจืดขนาดใหญ่เพิ่มอีก 1 ตัว จึงได้วิเคราะห์ลักษณะทางสัณฐานวิทยา โครโมโซม และดีเอ็นเอ ข้อมูลยืนยันว่าเป็นหอยกาบน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกซึ่งบทความวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2023 ถือเป็นการรายงานการค้นพบหอยมุกน้ำจืดชนิดที่ 3 คือ C. somsakpanhai ในสกุล Chamberlainia ของประเทศไทยและของโลก ทั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยหลักจากหน่วยวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางงชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 



จากการทำวิจัยทำให้ทราบว่าหอยกาบน้ำจืดลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว หลายชนิดอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะหอยมุกน้ำจืดขนาดใหญ่นี้ พบว่าจำนวนลดลงมากจนแทบไม่พบตัวเป็น ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั้งทางโตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะสภาพถิ่นอาศัยและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ทั้งนี้จากการสำรวจและติดตามหอยชนิดนี้มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี พบตัวเป็นเพียง 2 ตัว จึงควรช่วยกันดำเนินการด้านการอนุรักษ์ให้เร็วที่สุด

ค้นพบหอยกาบชนิดนี้ที่ไหน และจะพบในช่วงฤดูใดมากที่สุด
ค้นพบหอยมุกน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่จากแม่น้ำชี บริเวณบ้านท่าขอนยาง และบ้านท่าสองคอน จังหวัดมหาสารคาม ค้นพบช่วงฤดูร้อนในเดือนเมษายน ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำชีลดต่ำมากจนสามารถสำรวจหาหอยกาบน้ำจืดตามพื้นท้องน้ำได้


หอยกาบชนิดนี้มีพิษหรือไม่
หอยกาบชนิดนี้ไม่มีพิษ  หอยกาบน้ำจืดจะไม่มีพิษ ชาวบ้านนำมาเป็นอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์ โดยมีการผ่าเอากระเพาะอาหารและลำไส้ออกก่อนนำมาประกอบอาหาร ในทางกลับกันตัวหอยมีสารอาหารที่มีประโยชน์สูงโดยเฉพาะโปรตีนเมื่อเทียบกับเนื้อไก่

หอยกาบชนิดนี้สามารถนำประกอบอาหารได้หรือไม่
หอยกาบน้ำจืดสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิเช่น ย่างหรือลวกจิ้มน้ำพริก ก้อย ผัดเผ็ด ผัดพริกแกง เป็นต้น 

หอยกาบน้ำจืดชนืดนี้มีบทบาทและมีความสำคัญอย่างไร
การใช้ประโยชน์ตัวหอยจะนำมาเป็นอาหารแหล่งโปรตีนที่สำคัญให้ทั้งมนุษย์และสัตว์ ส่วนเปลือกหอยจะนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ภาชนะใส่อาหาร ช้อน มีด เป็นต้น ใช้ทำเครื่องประดับตกแต่งโดยเฉพาะเปลือกด้านในมีชั้นมุกที่มีสีสันสวยงามและเป็นมันวาว  แหล่งผลิตไข่มุก นอกจากนี้เปลือกยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต หรือ ปูนขาว ทั้งนี้ในธรรมชาติหอยกาบจะทำหน้าที่กรองตะกอนในแหล่งน้ำทำให้น้ำใส นอกจากนี้หอยกาบยังเป็นอาหารของสัตว์ชนิดอื่นด้วย เปลือกเมื่อย่อยสลายจะช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุคืนสู่ระบบนิเวศแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี



ลักษณะเด่นของหอยกาบชนิดนี้เป็นอย่างไร
ลักษณะเด่นของหอยกาบน้ำจืดชนิดนี้คือ มีเปลือกขนาดใหญ่และหนามากแตกต่างจากชนิดอื่นอย่างชัดเจน เปลือกยาว 21 เซนติเมตร รูปร่างเป็นรูปไข่ ปลายป้าน เปลือกด้านนอกมีสีน้ำตาลแกมเขียว พบบริเวณพื้นท้องน้ำที่เป็นดินเหนียวผสมโคลนตะกอนก้นแม่น้ำชี ที่ระดับความลึก 2-3 เมตร จะพบได้ในฤดูแล้ง และระดับน้ำลดลงมาก

หอยกาบชนิดนี้มีอายุได้นานแค่ไหน
หอยมุกน้ำจืดมีอายุยืนยาวหากแหล่งน้ำและสภาพแวดล้อมมีคุณภาพดี มีรายงานหอยมุกน้ำจืดสกุล Margaritifera ในวงศ์ Unionidae มีอายุยืนยาวมากกว่าร้อยปี สำหรับหอยกาบน้ำจืดสกุล Chamberlinia ในประเทศไทย เคยมีรายงานว่ามีอายุอย่างน้อย 25 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำอาศัย
แตกต่างจากหอยกาบน้ำจืดกลุ่มอื่นซึ่งส่วนใหญ่มีอายุสั้น เช่น หอยกาบน้ำจืดในสกุล Pisidium ในวงศ์ Sphaeriidae จะมีอายุสั้นโดยมีอายุตั้งแต่ 2-3 เดือน ไปจนถึงสูงสุด 4 ปี 


 
ในอนาคตเราจะมีวิธีการพัฒนา และอนุรักษ์พันธุ์หอยกาบชนิดนี้อย่างไรบ้าง
การอนุรักษ์จำเป็นต้องมีการบูรณาการวิธีการเพาะขยายพันธุ์โดยมนุษย์ในช่วงแรก รวมถึงดูแลรักษาถิ่นอาศัยและสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำ สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความสมดุลของการใช้ประโยชน์และการเพิ่มจำนวนของสัตว์น้ำ เป็นต้น จนสัตว์สามารถขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้เองในที่สุด 

 ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อยากให้เราทุกคนรักและหวงแหนทรัพยากรที่มีค่าของเราไว้ ช่วยกันศึกษาวิจัยต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน โดยตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและมีความสุขของมนุษย์และธรรมชาติ



คติในการทำงาน
ทำให้ดีที่สุด 

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts