นักวิจัยเก่ง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำมันแกวมายกระดับศักยภาพ กลุ่มผู้ปลูกมันแกวคุณภาพดีสู่การเพิ่มมูลค่าเครื่องดื่มฟังก์ชันมันแกวเพื่อสุขภาพ ส่งเสริมกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดมหาสารคาม ภายใต้การจัดทำโครงการบริการวิชาการแบบบูรณาการ เพื่อสร้างนวัตกรรม และชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาวิจัยและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันแกว โดยการนำมันแกวมาทำน้ำมันแกวเพื่อสุขภาพ ภาบใต้การวิจัยของดร.นิจฉรา ทูลธรรม อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมทีมวิจัย
ผลิตภัณฑ์: เครื่องดื่มฟังก์ชันมันแกว
ชื่อโครงการ: โครงการการยกระดับศักยภาพกลุ่มผู้ปลูกมันแกวเพื่อผลิตมันแกวคุณภาพดีสู่การเพิ่มมูลค่าเครื่องดื่มฟังก์ชันมันแกว ส่งเสริมกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดมหาสารคาม
การสนับสนุนงบประมาณโดย: โครงการบริการวิชาการแบบบูรณาการเพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
ผู้รับผิดชอบ
คณะทำงานหลักหน่วยงานในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้แก่
- อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์ ดร.นิจฉรา ทูลธรรม (ผู้รับผิดชอบโครงการ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กู้เกียรติ ทุดปอ อาจารย์ ดร. ธาริณี นิลกำแหง อาจารย์ ดร. เฉลิมพร นามโยธา และอาจารย์ ดร. กษมา วงษ์ประชุม
- อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย ดร. ปริยาภรณ์ อิศรานุวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิศราวุธ ประเสริฐสังข์ และอาจารย์ ดร.ธิติวุทธิ วงค์คำแปง ภาคี
เครือข่ายหน่วยงานภายนอก ได้แก่
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม ว่าที่ ร.ต.อนุชา เหล่าเคน และนายสุวิทย์ นาสินธุ์พร้อม
- สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม นางแพทลียา พรมแดน จากประชารัฐรักสามัคคีมหาสารคาม (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด นางปัญณิสาร์ จันทร์ลุน
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกมันแกวและหัวไชเท้า
กล่าวถึงที่มาของการทำน้ำมันแกว
มันแกว (Jicama หรือ Yam bean) โดยทั่วไปจะบริโภคแบบสดเหมือนผลไม้ และสามารถนำมาปรุงประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน และมันแกว มีคุณสมบัติเป็นอาหารฟังก์ชัน ด้วยความหวานในเนื้อมันแกวมาจากสารอินนูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นน้ำตาลโอลิโกฟรุกโทส (Oligofructose) ที่ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญได้ มันแกวจึงมีดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index) ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาล และช่วยลดน้ำหนักได้ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก(ปนมณี ขวัญเมือง, 2560; กรมส่งเสริมการเกษตร, 2554) นอกจากนี้ มันแกว ยังนับเป็นพืชอาหารที่มีเส้นใยสูง ชนิดพรีไบโอติกฟรุคแทน (prebiotic fructan) หรือที่เรียกว่า โอลิโกฟรุคโตสอินูลิน (oligofructose inulin) ซึ่งมีบทบาทช่วยส่งเสริมสุขภาพหลายประการ ได้แก่ ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ จึงช่วยส่งเสริมระบบการย่อยอาหาร และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกายมันแกว ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของจังหวัดมหาสารคาม กล่าวกันว่า มันแกวที่ให้รสชาติหวาน กรอบ อร่อยที่สุด คือ มันแกวที่ปลูกในพื้นที่อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เรียกกันติดปากว่า “มันแกวบรบือ”
เนื่องจากเป็นมันแกวที่ปลูกได้จากอำเภอบรบือ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “มันแกวบรบือ” เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ โดยมุ่งหวังสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชน การแปรรูปมันแกวเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชัน เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เสริม และเพิ่มโอกาสที่ให้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากมันแกวสามารถแข่งขันได้ในตลาด ซึ่งมีกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยัง สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการเป็นผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยต่อสุขภาพ ส่งเสริมการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยที่มีคุณภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ใน ระดับชาติและนานาชาติต่อไป
วัตถุประสงค์ในการทำงานวิจัย
เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากการพัฒนาและวิจัยเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเกษตรกร โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกมันแกวคุณภาพดีและปลอดภัยตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปมันแกวเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันเพื่อเพิ่มมูลค่ามันแกวตามหลักการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนสร้างแบรนด์สินค้า ออกแบบฉลาก และบรรจุภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และชุมชน รวมถึงให้องค์ความรู้ด้านการจัดการด้านการผลิต Productivity และการตลาด โดยมุ่งหวังให้เกิดเกษตรผู้ปลูกมันแกวอินทรีย์ต้นแบบ และเกษตรกรมีรายได้เสริม
ขั้นตอนการทำน้ำมันแกวมีความยุ่งยากมั้ยคะ
ไม่ยุ่งยากค่ะ ใช้กระบวนการ Thermal process ในระดับพาสเจอไรซ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถเก็บได้นานในตู้เย็น 10-15 วัน และมีส่วนผสมสำคัญ คือ มันแกว และเพิ่มรสหวานด้วยน้ำหญ้าหวาน จึงใช้น้ำตาลผลิตภัณฑ์เพียงเล็กน้อย
จุดเด่นของงานวิจัย
- เกษตรกรได้เรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดี รวมถึงการเลือกใช้ระบบการผลิตพืชที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้วยปัจจัยของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้อย่างยั่งยืน ด้วยระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์
- การนำผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า ยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกมันแกวให้เข้าสู่ระบบการเป็นผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย
- ผู้บริโภคมีความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
ไม่มี
กลุ่มเป้าหมายสำหรับงานวิจัย
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันแกวบ้านพงโพด พงสว่าง ต.หนองสิม อ.บรบือ จ.มหาสารคาม
คุณสมบัติของน้ำมันแก้วมีสรรพคุณทางยาหรือประโยชนอย่างไร
ยังไม่มีข้อมูลจากการวิจัยในโครงการในประเด็นสรรพคุณทางยา จึงของกล่าวอ้างในข้อมูลของมันแกวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในผลิตภัณฑ์
- ช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด
- ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ จึงช่วยส่งเสริมระบบการย่อยอาหาร และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย
มีแนวทางจะนำงานวิจัยลงสู่ชุมชนอย่างไร
- งานวิจัยนี้ได้เริ่มต้นจากความต้องการของชุมชุมชน อีกทั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาในโครงการมีพันธกิจมุ่งพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของจังหวัดมหาสารคาม ดังนั้น โครงการนี้จึงมีการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในชุมชนเป็นสำคัญอยู่แล้ว
ในอนาคตจะมีการพัฒนางานวิจัยย่างไรบ้าง
- พัฒนาให้เกิดเป็นโรงเรือนต้นแบบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากมันแกว และเตรียมความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐาน อย.
ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
- ขอเป็นกำลังให้กับนักวิจัยที่ทำงานเพื่อชุมชนทุกท่านค่ะ ส่วนตัวคิดเห็นว่านักวิจัยที่ผลิตผลงานให้กับชุมชน พื้นฐานเป็นผู้มีความจริงใจ มุ่งมั่น และตั้งใจดีที่ต้องการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของคนทำงานเพื่อชุมชน และต้องทราบดีว่างานวิจัยที่จะพัฒนาชุมชนต้องเกิดจากแรงบันดาลใจร่วมกันของทีมวิจัยกับชุมชน เกิดจากการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา และการขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการพัฒนา แม้ว่าจะต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าความจริงใจ มุ่งมั่น และตั้งใจที่ทุกท่านมีจะนำไปสู่ความสำเร็จของทุกๆ งาน
คติในการทำงาน
- ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
- แม้ผลงานจะชี้วัดความสำเร็จที่ปลายทาง แต่การสร้างความสุขระหว่างทางเป็นกำไรที่มีค่าไม่น้อยไปกว่าความสำเร็จ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
อาจารย์ ดร. นิจฉรา ทูลธรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 089-7154718 หรือ ตัวแทนกลุ่มกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกมันแกวและหัวไชเท้า คุณสุภารัตน์ สรรพสมบัติ 093-12196466
Facebook page “บ้านมันแกว”/ “Jicama’s house” หรือ Open chat line บ้านมันแกว (Jicama’s house)