นิสิตภาควิชาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาการสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คว้า  3 รางวัล จากโครงการประกวดการออกแบบแผนที่ภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 (The 1st Geographical Map-Designed Exhibition and Contest of Thailnad) รูปแบบออนไลน์บนแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส spatial.io  จัดโดยสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมการแผนที่แห่งประเทศไทย และสาขาวิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สนับสนุนโดย สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สสวทท)  



    โดยมีเกณฑ์ในการแข่งขัน คือ ผู้เข้าร่วมแข่งขันในโครงการต้องระบุหัวข้อ เนื้อหาและรายละเอียดของแผนที่ที่ต้องการนําเสนอ โดยระบุ รายละเอียดต่อไปนี้ เช่น เรื่องราวความเป็นมาของแผนที่ แหล่งที่มาของข้อมูล สถิติที่นํามาใช้ในการแสดง ข้อมูล และการสื่อความหมายของสีและสัญลักษณ์ที่ใช้ในแผนที่ รวมถึงจุดเด่นที่น่าสนใจของแผนที่ เป็นต้น 
    และนิสิตภาควิชาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาการสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คว้า  3 รางวัล ประเภทการจัด legibility & balance ระดับปริญญาตรี จากโครงการประกวดการออกแบบแผนที่ภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 (The 1st Geographical Map-Designed Exhibition and Contest of Thailnad) รูปแบบออนไลน์บนแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส spatial.io  โดยมีอาจารย์ธีรญา อุทธา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ดังนี้



 รางวัล "ยอดเยี่ยม"  
จากทีม "พลัง GISAMSU"  โดยมีสมาชิกในทีม  คือ  นายนรภัทร ผาบุญ  นางสาวกฤติยา ทิพย์พันดุง

แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม
    จังหวัดนครพนม จัดเป็น “เมืองรองน่าเที่ยว” จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย มีความน่าสนใจ ในการประกวดครั้งนี้ จึงได้นำ “พระธาตุประจำวันเกิด” มาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบแผนที่ ประกอบกับนิสิตในทีมเป็น “คนนครพนม” จึงอยากจะนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวจากมุมมองคนนครพนม
ในการทำแผนที่ ข้อมูลภาพแผนที่จังหวัดนครพนม ตำแหน่งของแหล่งท่องเที่ยว และทางหลวงที่สำคัญ เป็นข้อมูลสร้างขึ้นมาจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) จึงทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องในเชิงตำแหน่ง สามารถนำไปใช้ในเครื่องมือภูมิศาสตร์ได้ เช่น GPS, google map หรือแอพลิเคชันต่าง ๆ ได้



รางวัลประเภท  "ดีเด่น"
จากทีม "กล้วย กล้วย"  โดยมีสมาชิกในทีม  คือ  นางสาวปริญนา ยินดี  นางสาวกนกวรรณ ชาญนรา

แผนที่แสดงความหนาแน่นของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    สถิติประชากร มักจะนำเสนอในรูปแบบตาราง หรือกราฟ ทำให้ไม่เห็นรูปแบบการกระจายตัวเชิงพื้นที่ว่า พื้นที่บริเวณใดที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก ดังที่เราทราบกันดีกว่า ประชากรมักจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมือง ซึ่งมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค ทำให้เราพบว่า พื้นที่ที่มีจำนวนประชากรต่อตารางกิโลเมตร หรือความหนาแน่นของประชากรสูง มักจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ ๆ 
    ดังนั้น ในการทำแผนที่นี้ จึงได้นำข้อมูลจำนวนประชากรปี พ.ศ. 2565 จากเว็บไซต์ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง (https://stat.bora.dopa.go.th/) มาสรุป และวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูล GIS และนำเสนอในรูปของแผนที่



รางวัลประเภท "ดี"
จากทีม " GISMSU "  โดยมีสมาชิกในทีม  นายกฤตภาส อ่อนสี  นายปฏิพัทธ์ หายทุกข์

แผนที่แสดงลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำชี
    “ลุ่มน้ำชี” เป็นลุ่มน้ำที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเองก็ตั้งอยู่พื้นที่ลุ่มน้ำชี มีแม่น้ำชีและลำน้ำสายสำคัญไหลผ่านพื้นที่ใกล้เคียง
    จากเหตุการณ์น้ำท่วมในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้นิสิตในทีมมองเห็นความสำคัญของความรู้ความเข้าใจในสภาพพื้นที่โดยรวมของลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้ รู้เท่าทัน และเข้าใจ ในสาเหตุและผลกระทบจากน้ำท่วมประเภทน้ำล้นตลิ่ง (River Flood) ซึ่งมักจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน (Flash Flood) ในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักเป็นเวลานาน
    ในแผนที่นี้ จึงได้นำชุดข้อมูล GIS ได้แก่ แบบจำลองความสูงเชิงเลข (DEM) ลำน้ำและแหล่งน้ำที่สำคัญ มาพัฒนาเป็นแผนที่ลุ่มน้ำ โดยใช้ขอบเขตลุ่มน้ำใหม่ตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564



ระยะเวลาในการพัฒนางาน
    เริ่มตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ของข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนาผลงนา รวบรวมข้อมูล การออกแบบ การสร้างชั้นข้อมูลเชิงพื้นที่ และการทำแผนที่ด้วยซอฟต์แวร์ตามความถนัดของแต่ละทีม ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 วัน

ปัญหาและอุปสรรคของทั้ง 3 ทีม คือ
    1. ข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา เนื่องจากมีเวลาในการพัฒนางานเพียง 5 วัน อยู่ในช่วงสอบปลายภาคของภาคเรียนที่ 3/2565 สมาชิกบางคนเป็น Staff เชียร์ของมหาวิทยาลัย และ Staff เชียร์ของคณะ ที่จะต้องฝึกซ้อมทุกวัน 
    2. ข้อมูล GIS ที่นำมาใช้ในการทำแผนที่ จะต้องมีการปรับแก้ข้อมูลให้มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ก่อนการนำมาทำแผนที่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากพอควร เช่น ในกรณีของแผนที่ความหนาแน่นของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิสิตจะต้องนำข้อมูลจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565 มาสรุปใหม่ ให้สอดคล้องกับฐานข้อมูล GIS ก่อน เนื่องจาก code ของบางจังหวัดและอำเภอในฐานข้อมูลไม่ตรงกัน จึงต้องปรับปรุงข้อมูลให้ตรงกันก่อนที่จะเชื่อมโยมข้อมูลจากทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน



ประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้
    1. การนำเสนอข้อมูล GIS ให้บุคคลทั่วไป เข้าใจได้ง่ายด้วย “แผนที่เพียงหน้าเดียว” ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะข้อมูล GIS จริง ๆ แล้ว เป็นฐานข้อมูลไม่ใช่แค่ภาพ ทำให้จะต้องมีการวิเคราะห์ สรุปข้อมูล ออกแบบและวาง Layout ขององค์ประกอบให้เหมาะสม ในการทำงานครั้งนี้ พบว่า มีออกแบบ รื้อทำใหม่หลายรอบ กว่าจะลงตัว ซึ่งเป็นงานที่สนุก ท้าทาย ที่จะทำให้แผนที่หน้าเดียวนั้นอธิบายข้อมูลได้ครบถ้วนอย่างที่ต้องการ
   2.  ได้มีประสบการณ์ใหม่กับการนำเสนอผลงานวิชาการในแพลตฟอร์มแบบ Metaverse เป็นรูปแบบที่สนุกสนาน เหมือนเล่นเกมส์มากกว่างานวิชาการ
    3. มีโอกาสได้เห็นแนวทางการทำแผนที่ด้วยซอฟต์แวร์ที่หลากหลายจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ





Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts