“การเรียนทำให้มีงานทำ การทำกิจกรรมทำให้ทำงานเป็น”  เมื่อเราก้าวเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย  นอกจากความรู้ที่เราจะได้รับเพื่อเป็นพื้นฐานในการไปต่อยอดการทำงานของเราในอนาคตแล้ว  ประสบการณ์ในการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การแบ่งเวลาในการเรียนและการทำกิจกรรม  ซึ่งเป็นประสบการณ์ดีๆ ที่เราจะสามารถนำไปใช้ได้  MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับนิสิตนักกิจกรรม  ธีระพัฒน์ ศรีพลัง  นายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2565  ตามเรามาค่ะ



แนะนำตัว 
สวัสดีครับ ผมชื่อนายธีระพัฒน์ ศรีพลัง ชื่อเล่น เฟรม ปัจจุบันศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ เป็นนิสิตรหัส 62 นิสิตศาสตร์ รุ่นที่ 15 จามรี รุ่นที่ 12 เริ่มเข้าศึกษาที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีการศึกษา 2562
        ปีการศึกษา 2562 ได้ลงสมัครเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 แต่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง
        ปีการศึกษา 2563 ดำรงตำแหน่งเป็น อนุกรรมการสภานิสิต
        ปีการศึกษา 2564 ดำรงตำแหน่งเป็น อุปนายก คนที่ 3 สโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์
        ปีการศึกษา 2565 ดำรงตำแหน่งเป็น อุปนายก คนที่ 1 องค์การนิสิต อีกทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกองค์การนิสิต (ภาคเรียนที่ 1/2565) และเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองค์การนิสิต ดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน (ภาคเรียนที่ 2/2565)

เหตุผลที่เลือกเรียน คณะนิติศาสตร์
เนื่องจากว่าในช่วงเรียนมัธยมตอนปลายมีความใฝ่ฝันเป็นนายร้อยตำรวจและได้ติวสอบเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมทหาร เหล่าตำรวจ สอบอยู่ 3 ครั้ง ตั้งแต่ ม. 4 - 6 แต่สอบไม่ติดก็เลยหันเห เบนเข็มมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สมัยนั้นปี 2562 สอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยระบบ TCAS GAT/PAT เลือกมหาวิทยาลัยได้ 3 อันดับ  เราเอา มมส เป็นตัวเลือกสุดท้ายในรอบ 2 ผลปรากฏว่าคะแนนสอบของเราถึงเกณฑ์ที่คณะนิติศาสตร์เปิดรับ จึงมีชื่อสอบสัมภาษณ์ มมส รอบ 2 และได้ผ่านการคัดเลือกเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ครับ
        เหตุผลที่ได้เลือกคณะนิติศาสตร์ก็เพราะว่าตัวเองหัวไม่เก่งในวิชาคำนวณและตอนมัธยมเราค่อนข้างที่จะเรียนเข้าใจในวิชากฎหมายและตัวเองคิดว่าจบแล้วจะนำวิชาความรู้ของเราไปช่วยเหลือผู้คนในอนาคตและก่อนจะเข้าสมัครในคณะนี้ก็ได้ศึกษาความเป็นมาเกี่ยวกับคณะนี้ อาจารย์ผู้สอนที่นี้มีคุณภาพอันดับต้น ๆ ของมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน นี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ผมได้เลือกเรียนต่อระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ



อยากให้เล่าถึงการทำกิจกรรมตลอดระยะเวลา 4 ปี 
ตลอดการทำกิจกรรมในระยะเวลา 4 ปี มันเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด ในห้องเรียนนั้นสอนวิชาการปัญหาและข้อเท็จจริงทางกฎหมาย แต่ในการทำกิจกรรมตลอด 4 ปีนั้น ได้เรียนรู้วิชาที่ในห้องเรียนไม่มีสอน การเขียนโครงการ การบริหารจัดการ งาน เงิน คน และปัญญาต่าง ๆ ในการเตรียมงานหรือแม้กระทั้งปัญหาหน้างานที่เราพบเจอในการจัดกิจกรรม ผมได้เรียนรู้ก็จากประสบการณ์ตรงนี้ สุข เสียใจ ทุกข์ที่สุด มันคือความรู้สึกที่ผมได้รับในการทำกิจกรรม ผมถือได้ว่ามันเป็น Hard Skill ที่ตัวเองได้ฝึกฝนตลอด 4 ปีที่ผ่านผมได้เติบโตและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็น สโมสรนิสิต ชมรมหรือกลุ่มนิสิต สภานิสิต และองค์การนิสิต แต่ละองค์กรก็จะมีบริบทการบริหารงานแตกต่างกันไปภาระหน้าที่แตกต่างกันไปแต่สิ่ง ๆ หนึ่งที่มีเหมือนกันคือจัดกิจกรรมดี ๆ ให้เกิดประโยชน์และเกิดผลลัพธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพแก่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ

การจัดสรรแบ่งเวลาทั้งเรื่องเรียนและการทำกิจกรรมให้ควบคู่กันไป
ในการจัดสรรแบ่งเวลานั้น คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่ต้องอ่านหนังสือท่องตัวบทกฎหมายอยู่ตลอดเวลาและสิ่งที่คณะนิติศาสตร์ มีไม่เหมือนคณะอื่น ๆ คือ ไม่มีสอบกลางภาค จะสอบ Final 100 คะแนนเต็ม ฉะนั้นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จะต้องอ่านหนังสือตั้งแต่เปิดเทอมร่วมทั้งตัวผมเองในการอ่านหนังสือผมจะเน้นอ่านช่วงเวลาดึก ตอนกลางวัน เข้าเรียน ตกเย็นออกกำลังกาย และเวลาช่วงเย็นถึงดึกก็เป็นเวลาที่เรามาทำกิจกรรมตามงานหรือประชุมงานกันในเวลานี้เพราะเป็นเวลาที่สมาชิกในทีมว่างตรงกัน และอีกอย่างหนึ่งการทำกิจกรรมนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของผมมาก เนื่องจากคณะนิติศาสตร์เองส่วนใหญ่จะสอนถึงแค่เวลา 16.00 น. ของทุกวัน ถึงแม้เราจะขาดเรียนไป 1 คาบ เราก็ยังสามารถอ่านหนังสือตามเก็บย้อนหลังได้ และเวลาในการทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยกำหนดนั้นเริ่มได้ตั้งแต่ จันทร์ - ศุกร์ 16.30 - 22.00 น. เสาร์ - อาทิตย์ เริ่มที่เวลา 08.30 - 22.00 น.  จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของตัวเองนักครับ






นายกองค์การนิสิตถือเป็นตำแหน่งผู้นำนิสิตที่สูงที่สุด  สำหรับเราแล้วยากง่ายแค่ไหน/ได้อะไรบ้างจากตำแหน่งนี้
ตำแหน่งนายกองค์การนิสิตถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตการเป็นนิสิต เราต้องรักษาเกียรติที่เราได้รับ การวางตัวหรือแม้กระทั้งการพูด การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันและใน Social media ในการทำงานในตำแหน่งนี้ถือว่ามีความกดดันเป็นอย่างมากเนื่องจากว่าองค์การนิสิตเป็นองค์กรหลักที่จัดกิจกรรมส่วนกลางที่ให้นิสิตทั้ง 17 คณะ 2 วิทยาลัย เข้าร่วม โดยกิจกรรมที่องค์การนิสิตจัดขึ้นนั้นเป็นงานที่ใหญ่ ฉะนั้นการเตรียมการ ต้องประสานงานและประชุมหลายเวทีและต้องประชุมร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในหลาย ๆ ครั้ง ก่อนจะออกมาเป็น 1 โครงการที่เราได้เห็น และเมื่อเวลาเกิดปัญหาในที่ประชุมหรือในที่ประชุมต้องการที่จะเคลียร์ประเด็นนี้ให้ชัดหรือการที่จะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง นั้นนายกองค์การนิสิตเองต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ผมถือว่ามันเป็นความกดดันที่มากพอสมควรแต่มันก็ผ่านไปได้ด้วยดี เนื่องจากว่าได้มีการเตรียมข้อมูลความพร้อมมาเป็นอย่างดีและอีกอย่างการประสานก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นงานใหญ่การประสานงานหลายฝ่ายต้องมีความชัดเจน ทั้งเวลาและรูปแบบงาน แต่ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่สมาชิกในทีมของเราช่วยกันแก้ไขปัญหาออกมาได้ด้วยดี
ได้อะไรบ้างจากการเป็นนายกองค์การนิสิต อย่างที่บอกไปข้างต้นว่ามีเกียรติเป็นความภาคภูมิใจของตัวเอง จากเด็กที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งสวัสดิภาพนิสิต ของสโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์ กับการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกองค์การนิสิต มมส ในที่สุด ผมถือว่าเป็นจุดสูงสุดที่ตนได้มาถึง อีกทั้งอยู่ในปีสุดท้ายแล้วเราอยากจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งในด้านการเรียน การทำกิจกรรม ก่อนที่เราจะไม่มีโอกาสได้ทำมันอีก

ผลงานและรางวัลต่าง ๆ ทั้งด้านการเรียนและทำกิจกรรม รางวัลไหนคือ The Best 
ในด้านการเรียน คงจะต้องเป็นรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันตอบปัญหาทางกฎหมาย เนื่องในวันรพี ที่ทางคณะได้จัดขึ้นถือว่าเป็นการทบทวนสิ่งตัวเองได้เรียนมาตลอด 4 ปีด้วย และเป็นความภาคภูมิใจกับความสำเร็จในด้านวิชาการนี้
สำหรับในด้านการทำกิจกรรม คือทุนการศึกษาพระราชทานภูมิพล นับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงที่สุดในชีวิตที่ได้รับทุนพระราชทานจากพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีการศึกษา 2564 เป็นนิสิตที่ไม่ประพฤติตนให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อตนเอง ต่อองค์กร ต่อมหาวิทยาลัย อีกทั้งมีจิตสำนึกที่ดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นต้นแบบอันดีทั้งในด้านการศึกษาและการใช้ชีวิตทำให้ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัลทุนการศึกษาพระราชทานนี้
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติบัตรรางวัลผู้มีความประพฤติดีงาม ประจำปี 2563 พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลเชิดชูเกียรติคนดีศรี มมส ประจำปีการศึกษา 2563 รางวัลนิสิตต้นแบบ MSU FOR ALL ประจำปีการศึกษา 2564 และรางวัลช่อราชพฤกษ์ ระดับดีเด่นพิเศษ ด้านการบริหารงานองค์กรนิสิต ประจำปีการศึกษา 2565 ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับชีวิตนิสิตนักกิจกรรมที่มีผลงานโดดเด่นและทุ่มเทแรงกายแรงใจอุทิศตนปฏิบัติงานด้านกิจกรรมนิสิตจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป





สุดท้าย ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากทำกิจกรรมไปพร้อมกับการเรียน
มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี เมื่อเข้ามาเรียนแล้วนั้นสิ่งสำคัญคือการเรียนและถัดมานอกจากการเรียนคือการทำกิจกรรม “การเรียนทำให้คนมีงานทำ แต่การทำกิจกรรมทำให้คนทำงานเป็น” สิ่งนี้คือประตูสู่การเรียนรู้ของเรา เราได้เพื่อน รู้จักพี่ ๆ ในองค์กรของเรา ได้รู้จักการฝึกแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมและการเรียน แต่สิ่งหนึ่งที่นักกิจกรรมจะต้องพึ่งระลึกอยู่เสมอเมื่อเข้ามาทำกิจกรรมคือ อย่าให้กิจกรรมมากระทบต่อการเรียนจนส่งผลให้เรานั้นสอบตกในวิชานั้น ๆ ถ้าเราฝึกบริหารการเรียนการทำกิจกรรมได้ เราจบออกไปเราจะเป็นบัณฑิตที่พร้อมในการทำงานและจะเป็นแรงกำลังทำงานที่สำคัญที่พร้อมพัฒนาประเทศชาติอย่างแน่นอน สวัสดีครับ....



Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts