อาจารย์นักวิจัย มมส แปรรูปผลิตภัณฑ์ชุดอาหารอีสานพร้อมทาน (อ่อมฮวก และกบยัดไส้ย่างสเตอริไลซ์ ) โดยการนำกบ และลูกอ๊อดที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นจำนวนมากในเขตภาคอีสาน อีกทั้งยังนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู  นำมาแปรรูปให้ไม่เสียง่ายโดยผ่านการสเตอริไลซ์ผลิตภัณฑ์ที่มาจากลูกอ๊อด (หรืออ่อมฮวกของชาวอีสาน) และกบย่างยัดไส้สเตอริไลซ์ โดยผ่านกรรมวิธีการเพิ่มมูลค่า อีกทั้งยังเป็นการถนอมอาหารที่มีตามฤดูกาลเก็บไว้ทานนอกฤดูกาลได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร. อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร และโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



ชื่อผลงาน และผู้รับผิดชอบ
ชุดอาหารอีสานพร้อมทาน (อ่อมฮวก และกบยัดไส้ย่างสเตอริไลซ์ )

กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย (ทำอาหารชุดพร้อมทาน) ชิ้นนี้ เป็นอย่างไร
เรามีโอกาสไปจัดโครงการวิจัยที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็น การทำอาหารชุดพร้อมบริโภค ผลิตภัณฑ์ที่ทำเป็นอีกหนึ่งผลงานของผู้บริโภคที่เราทำได้ หลังจากนั้น มีการขยายผลิตภัณฑ์ หลายชนิด นอกเหนือจากสิ่งที่เคยทำ โดยมีการทำวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งงานวิจัยเป็นของนิสิตส่วนหนึ่ง ที่ทำขึ้นในปีที่ผ่านมา มีการนำมาทำเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง มีการแก้ปัญหาที่มีการปฏิบัติงานจริงของภาคอุตสาหกรรม ที่ดำเนินการทำอยู่ โดยปกตินั้น จะมีงานของภาคอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับงานวิจัยชุดอาหารพร้อมบริโภค หลังจากนั้นมีการขยายผลิตภัณฑ์ออกมาหลายชนิด นอกเหนือจากสิ่งที่เคยทำ โดยทำการวิจัยเพิ่มเติม  ดังนั้นกลุ่มอาหารบริโภค ก็จะมีกลุ่มอาหารข้าว ที่เป็นพื้นฐานจากงานวิจัยเดิม และเป็นชนิดกับข้าว ซึ่งเริ่มมีหลายชนิด อีกทั้งมีผู้ประกอบการทราบข้อมูลของงานวิจัย ในระหว่างที่ไปจัดโครงการร่วมแสดงผลงานวิจัยในงานที่จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นผู้ประกอบการติดต่อประสานงานขอให้เราทำงานวิจัยเพิ่มให้ จึงมีการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และพัฒนามาเป็นชุดอาหารฉุกเฉินที่สามารถใช้ในช่วงวิกฤตได้เป็นอย่างดี



วัตถุประสงค์ในการจัดทำอาหารชุดพร้อมทานเป็นอย่างไร
สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดทำอาหารชุดพร้อมทานนั้น ทำขึ้นเพื่อการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ได้จริง คำว่าใช้ประโยชน์ได้จริง มีอยู่ 2 ความหมายคือ สต๊อกสำหรับที่ต้องการ เช่น เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตเกิดขึ้นต้องการอาหารชุดพร้อมทานนี้ คณะเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถทำส่ง เพื่อนำอาหารเหล่านี้ไปมอบให้ผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์จะยังไม่มีเครื่องหมายการรับรองของ อย.ในเบื้องต้น แต่ก็ถือว่าเป็นอาหารฉุกเฉิน สามารถทำได้เลย ประเด็นที่ 2 สามารถใช้ประโยชน์ได้นั้นหมายความว่า หากผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงศักยภาพ แล้วสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้นั้น ก็สามารถติดต่อเข้ามา เพื่อนำผลงานวิจัยไปปรับประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม  และนอกเหนือจากงานวิจัยก็จะเป็นการพัฒนาปรับปรุงงานวิจัยต่อไปอย่างต่อเนื่อง



ขั้นตอนการทำงานวิจัย(อาหารชุดพร้อมทานชิ้นนี้มีความพิเศษอย่างไร)
สำหรับขั้นตอนในการทำงาน โดยปกติแล้วนั้น เวลาทำงานวิจัยมักจะเริ่มจากการมีโจทย์ปัญหามาก่อนเสมอ ซึ่งโจทย์ปัญหามีหลายระดับ บางครั้งเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว และความพิเศษของ งานวิจัยชุดอาหารอีสานพร้อมทาน (อ่อมฮวก และกบยัดไส้ย่างสเตอริไลซ์ ) นั้น เป็นการส่งเสริมงานวิจัยที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกบ ซึ่งมีจำนวนมากในท้องถิ่นธรรมชาติของชาวอีสานบ้านเราโดยนำมาแปรรูปและผ่านกระบวนการนำมา สเตอริไลซ์ ซึ่งสามารถเก็บไว้นอกตู้เย็นได้โดยไม่เน่าเสีย



ความโดดเด่นของงานวิจัยนี้(อาหารชุดพร้อมทาน)เป็นอย่างไร 
สำหรับความโดดเด่นของงานวิจัยนี้นั้น ความพิเศษคือ เป็นการแรปบรรจุภาชนะปิดสนิท และออกแบบกระบวนการ ทั้งนี้อาหารที่อยู่ในแลปของเรานั้น เรามีการทำ และเรียกว่าอาหารสเตอริไลซ์ คือสามารถเก็บไว้นอกตู้เย็นได้โดยไม่เน่าเสีย ซี่งเป็นกลุ่มอาหารพร้อมบริโภค หากในสาขาเดียวกันก็จะมีอาหารกลุ่มอื่นๆ มากมาย แต่งานของตนเองเป็นอาหารสเตอริไลซ์ ส่วนใหญ่เป็นอาหารพร้อมบริโภคที่ไม่เน่าเสีย นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะทำมาโดยตลอด



ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง
สำหรับปัญหาและอุปสรรค หากไม่รวมงบประมาณของวิจัยที่ลดลงแล้วนั้น ด้วยปัจจุบันเงินงบประมาณงานวิจัยจากภาครัฐน้อยมาก ซึ่งเราก็ต้องมีการแก้ปัญหากันเองโดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น มีการของบประมาณสนับสนุนจาก วช.เป็นต้นนั้น 
ปัญหาที่ 2 คือ ครุภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานมานานมาก บางครั้งยังขาดครุภัณฑ์บางอย่าง นี่ก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายๆ อย่างนั้น จะต้องทำงานวิจัยให้เกิดนวัตกรรม คำว่านวัตกรรม หมายความว่า เป็นนวัตกรรมทั้งความรู้ และนวัตกรรมทางเครื่องมือ การที่จะให้มีนวัตกรรมนั้น จะต้องมีเครื่องมือเข้ามาประกอบด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถเกิดนวัตกรรมได้โดยปราศจากเครื่องมือได้เลย ดังนั้นนวัตกรรมด้านฟุตเทจก็เช่นกัน ที่ต้องการเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบ และพร้อมในการสร้างนวัตกรรม 
สิ่งที่เกิดปัญหา และเป็นอุปสรรคมากที่สุดนั้น คือการสร้างนวัตกรรม บางครั้งต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือในมหาวิทยาลัยฯ ยังขาดเครื่องมือเฉพาะ ที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมชั้นสูงได้ แต่ว่าแลปเราก็พยายามปรับปรุง ประยุกต์ใช้เครื่องมือเท่าที่มี ให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด 



กลุ่มเป้าหมายสำหรับงานวิจัย(ชุดอาหารพร้อมทาน)ชิ้นนี้คือกลุ่มใด
กลุ่มเป้าหมายสำหรับชุดอาหารพร้อมทาน โดยปกติสาขาวิชาของเรานั้นเป็นฟุตเทจ คือทุกสิ่งทุกอย่างหากแปลเป็นลูกศิษย์แล้วนั้น เขาจะมีความต้องการไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์ของเรา หากสมมุติว่า ไม่ว่าจะขายโดยตรง ก็คือทำเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรม 

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนด้านใดบ้าง
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะ หน่วยงาน คณาจารย์ และบุคลากรทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยของตนเองเรื่อยมาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่ ตลอดการผลิตผลงานวิจัยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเป็นอิสระตลอดเวลาที่ผ่านมา



ในอนาคตจะมีแผนการนำผลงานวิจัยนี้ ถ่ายทอดลงสู่ชุมชน หรือไม่ อย่างไร
สำหรับในอนาคตนั้น มีคำถามอยู่ว่า งานวิจัยที่คิดค้นนี้จะลงชุมชนอย่างไร คือ เราจะมีการส่งเสริมงานวิจัยที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกบ ซึ่งมีจำนวนมากในท้องถิ่นธรรมชาติของชาวอีสานบ้านเรา คำถามเดียวกันคือ งานวิจัยเหล่านี้จะลงชุมชนอย่างไร ซึ่งอาหารของเราเรียกว่าเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ แล้วชุมชนจะได้อย่างไร ชุมชนจะได้ในคุณค่าของห่วงโซ่ เขาจะได้โดยตรงคือ การผลิตวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้นของวัตถุดิบนั้นแล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะเป็นการแปรรูปขั้นสุดท้าย และสิ่งที่เราลงมือร่วมกับชุมชนคือ 1 เรามีการถ่ายทอดการผลิตขั้นต้น อาทิ มหาวิทยาลัยเป็นผู้ที่มีเทคนิคชั้นสูง ซื้อของมาผลิตเอง หรือชาวบ้านอาจจะนำผลิตภัณฑ์มาให้มหาวิทยาลัยผลิตต่อให้ หลังจากนั้นชาวบ้านก็นำกลับไปเพื่อจ้างเอกชนเป็นผู้ผลิตต่ออีกครั้ง แน่นอนชุมชนจะได้อะไรจากตรงจุดนั้นอย่างมาก เพราะในบางครั้งเราไม่สามารถเลี้ยง ลูกอ๊อด หรือกบได้เอง แต่เราสามารถแปรรูปได้ เช่นเดียวกัน เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง ขอเพียงแค่ทำหน้าที่ ที่ตนเองชำนาญ คือการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อด เพาะเลี้ยงกบ 
         เพราะก่อนหน้านี้มักมีคำถามว่า เทคโนโลยีขั้นสูงแบบนี้เกษตรกรจะทำอย่างไร ซึ่งเราจะไปถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับเกษตรกร โดยการให้ใช้เครื่องฆ่าเชื้อเป็นต้น ซึ่งมีหลายคนมีการเข้าใจผิด  เพราะคนๆ หนึ่ง หรือธุรกิจอันหนึ่งไม่จำเป็นต้องทำในคนคนเดียว คนหนึ่งสามารถผลิตต้นน้ำ คนหนึ่งสามารถผลิตกลางน้ำ แม้กระทั้ง มมส ทำกลางน้ำเสร็จแล้วนั้น ก็เป็นโพรเซสขั้นสูงแล้วนั้น เราไม่จำเป็นต้องขายเอง บริษัทอื่นสามารถมารับช่วงไปขายต่อได้อีกครั้ง เพราะฉะนั้นเกษตรกรเองก็ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดเองทุกขั้นตอน ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ว่าเกษตรกรไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด เพราะยุคนี้เป็นยุคของการแชร์ผลประโยชน์



ในอนาคตจะมีการพัฒนาผลงานวิจัย การผลิตอาหารชุดพร้อมทานนี้ อย่างไรบ้าง
ในอนาคตเราจะมีการเพิ่มความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นก็จะไปมุ่งเน้นในแนวอาหารเพื่อสุขภาพ ซี่งเป็นอาหารเฉพาะกลุ่ม กระทั่งเรียกได้ว่าอาหารทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อเข้าสู่ยุคสภาวะของผู้สูงอายุ และสภาวะการเจ็บป่วยของคนยุคปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นงานวิจัยที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคตก็จะเป็นงานวิจัยเชิงสุขภาพ



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการทำผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
นักวิจัยรุ่นใหม่ต้องทำงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน หรือความต้องการของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เราไม่ได้ทำงานวิจัยเพื่อความชอบของตัวเอง ซึ่งความชอบของตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าการทำงานวิจัยเพื่อตอบสนองของชุมชน หรือภาคเอกชนนั้น จะทำให้ผลงานวิจัยนั้นยั่งยืน และก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ เมื่อเราทำงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมจริงๆ นั้น งานวิจัยก็จะถูกใช้ หากใครที่ชอบงานวิจัยนั้น ก็จะมีงานวิจัยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดูว่านักวิจัยมีการมุ่งเป้าประสงค์แบบไหน หากนักวิจัยรุ่นใหม่มุ่งเป้าสำหรับงานตีพิมพ์ ก็ต้องเน้นไปทางตีพิมพ์ และทำวิจัยเชิงลึก



หากมีผู้ประกอบการสนใจงานวิจัยของอาจารย์สามารถติดต่อได้อย่างไร
ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร และโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เบอร์โทร 043-754085


Author

ผู้เขียน : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล

Related Posts