นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคามค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก หงส์เหินศิริรักษ์ หรือ Hong-Hern-Sirirugsa มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Globba sirirugsae Saensouk & P. Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกดอกเข้าพรรษา และพืชชนิดนี้พบที่จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย ค้นพบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช    และรองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 



ชื่อผลงานและผู้รับผิดชอบ
ผู้รับผิดชอบ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช    
          และ รศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
   
ที่มาของการค้นพบพืชชนิดนี้
เกิดจากผลงานการวิจัยที่ได้รับทุนการวิจัยเงินรายได้จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

ที่มาของการตั้งชื่อพืชชนิดนี้มีความหมายอย่างไร
       พืชชนิดใหม่ของโลก หงส์เหินศิริรักษ์ หรือ Hong-Hern-Sirirugsa มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Globba sirirugsae Saensouk & P. Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกดอกเข้าพรรษา โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข และ รศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย ชื่อพื้นเมืองตั้งโดยศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ คือ “หงส์เหินศิริรักษ์”   

เอกสารอ้างอิง 
      Saensouk, S. and Saensouk, P.  2020. Globba sirirugsae, a New Species of Zingiberaceae from Thailand. J. Jpn. Bot., 95(6): 328–333.



ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานพืชของประเทศไทย และเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาด้านอนุกรมวิธานพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย 

สรรพคุณของพืชชนิดนี้
สำหรับสรรพคุณของพืชชนิดนี้นั้น จะเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และเป็นไม้ดอกไม้ประดับ

จุดเด่นของพืชชนิดนี้
       ลักษณะเด่นของพืชชนิดนี้ คือ มีช่อดอกเรียงตัวอย่างๆ หลวม และโค้งตัวลง การเรียงตัว และรูปร่างของใบประดับ ดอกสีเหลืองสวยงามคล้ายหงส์ ผลกลมผิวขรุขระ

พบพืชชนิดนี้ในแถบไหน
         จะพบมากที่จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย

พืชชนิดนี้ชอบอยู่ในอุณหภูมิอย่างไร
พืชชนิดไหม่ของโลกเจริญเติบโตในช่วงฤดูฝน ชอบขึ้นบริเวณที่มีร่มเงา ดังนั้นอุณหภูมิที่พืชชนิดนี้ชอบขึ้นในอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจัด ประมาณ 33-35 องศาเซลเซียส 
ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน
       สำหรับปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงานนั้นเนื่องจากพืชที่ศึกษาเป็นพืชที่มีการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง ต้นและดอกจะเกิดขึ้นมาเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้นจึงทำให้ยากแก่การได้ต้นและดอกมาศึกษา เพราะการศึกษาชนิดพืชจะต้องใช้ดอกมาช่วยในการจัดจำแนกชนิดพืช และสถานการณ์โควิด 19 ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานวิจัย

งบประมาณในการทำงานวิจัย
เราได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย ประเภทส่งเสริมการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะ หน่วยงาน ที่สนับสนุนเงินทุนวิจัย อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และพื้นที่ในการดำเนินการวิจัย รวมทั้งสนับสนุนเวลาที่ใช้ในการทำวิจัย 



มีแผนการพัฒนาต่อยอดพืชชนิดนี้อย่างไร
        สำหรับแผนที่จะพัฒนาต่อยอดของพืชชนิดใหม่ของนี้ เราจะศึกษาโครโมโซม สารสำคัญทางธรรมชาติ ส่งเสริมให้ชุมชนขยายพันธุ์ อนุรักษ์พืชเหล่านี้ และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
       การทำงานวิจัยนั้นเป็นการทำงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องมุ่งมั่น และจริงจัง ให้เน้นในเรื่องของคุณภาพงานวิจัยเป็นหลัก ทำงานวิจัยให้เกิดความเชี่ยวชาญในสาขาที่นักวิจัยเชี่ยวชาญ ขอเป็นกำลังใจให้นักวิจัยที่เริ่มทำวิจัยใหม่ขอให้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามา พยายามทำอย่างต่อเนื่องตามกำลังที่มีแล้วผลงานต่างๆ ที่สะสมจะเป็นประวัติการทำงานวิจัยที่สำคัญทำให้เราสามารถได้รับทุนวิจัยในระดับที่สูงขึ้น



คติในการทำงาน
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น 


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts