คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นคณะที่เน้นการผลิตบัณฑิตเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค  ด้วยสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์  ส่งผลให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความเข้มแข็งด้านการวิจัยและงานบริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน อีกทั้งยังสามารถบูรณาการและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะที่ต้องการพัฒนาเป็น “คณะชั้นนำด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในระดับเอเชีย”
                คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีรากฐานการกำเนิดมาพร้อมกับการก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ปัจจุบันมีหลักสูตรที่เปิดสอนหลากหลายสาขาวิชา ทั้งหลักสูตรทางภาษา (ภาษาไทย ภาษาอาเซียน ภาษาตะวันออก และภาษาตะวันตก) ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการพัฒนาชุมชน ส่งผลให้เป็นคณะที่มีความโดดเด่นในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคมจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การกำกับดูแลของ รศ.ดร.นิตยา วรรณกิตร์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


เป็นมาของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นคณะที่จัดตั้งขึ้นโดยการยุบรวมกันระหว่าง 2 คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์กับคณะสังคมศาสตร์ ภายหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม เปลี่ยนสถานะภาพเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคามในปี 2537 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีการบริหารจัดการ และแบ่งส่วนราชการแยกเป็นภาควิชา และสำนักงานเลขานุการ  ในส่วนภาควิชาแบ่งเป็น 5 ภาควิชา คือ
   1. ภาควิชาภาษาตะวันตกและภาษาศาสตร์
   2. ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
   3. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
   4. ภาควิชาประวัติศาสตร์
   5. ภาควิชาภูมิศาสตร์



กล่าวถึงการเรียนการสอนในภาพรวมของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
        การเรียนการสอนในภาพรวมของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในแต่ละหลักสูตรจะสอนในด้านหลักการ ทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้สามารถสื่อสารภาษา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสอดแทรกความรู้ทางด้าน สังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่มีความแตกต่าง  การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อเรียนรู้ ปรับตัว และอยู่ร่วมกันในสังคม  
        ปัจจุบันคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดการเรียนการสอน ระดับปริญญาตรี จำนวน 13 สาขาวิชา ระดับปริญญาโท จำนวน 4 สาขาวิชา และระดับปริญญาเอก จำนวน 3 สาขาวิชา มีจำนวนนิสิตรวมกว่า 3,000 คน

รายละเอียดการเปิดสอนในระดับปริญญาตรี 12 หลักสูตร 15 สาขาวิชา
- ศศ.บ. สาขาภาษาไทย
- ศศ.บ. สาขาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ
- ศศ.บ. สาขาภาษาจีน
- ศศ.บ. สาขาภาษาตะวันออก (สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น)
- ศศ.บ. สาขาภาษาตะวันออก (สาขาวิชาภาษาเกาหลี)
- ศศ.บ. สาขาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (สาขาวิชาภาษาเขมร)
- ศศ.บ. สาขาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (สาขาวิชาภาษาลาว)
- ศศ.บ. สาขาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (สาขาวิชาภาษาเวียดนาม)
- ศศ.บ. สาขาภาษาอังกฤษ
- ศศ.บ. สาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ
- ศศ.บ. สาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารนานาชาติ (หลักสูตรนานาชาติ)
- ศศ.บ. สาขาภาษาฝรั่งเศส
- ศศ.บ. สาขาประวัติศาสตร์
- ศศ.บ. สาขาการพัฒนาชุมชนและสังคม
- วท.บ. สาขาภูมิศาสตร์

รายละเอียดการเปิดสอนในระดับ ระดับปริญญาโท 5 หลักสูตร
- ศศ.ม. ภาษาไทย
- กศ.ม. การสอนภาษาอังกฤษ
- ศศ.ม. ศาสนาและภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
- ศศ.ม. ภาษาอังกฤษ (หลักสูตรใหม่)
- กศ.ม. การสอนภาษาและวรรณกรรมไทย

รายละเอียดการเปิดสอนในระดับ ระดับปริญญาเอก 3 หลักสูตร
- ปร.ด. ภาษาไทย
- ปร.ด.การสอนภาษาอังกฤษ (หลักสูตรใหม่)
- ปร.ด. ศาสนาและภูมิปัญญาเพื่อพัฒนา(หลักสูตร)
การเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา เป็นการเรียนการสอนที่เน้นในการต่อยอดองค์ความรู้ เน้นการทำวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น

จุดเด่นของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
           จุดเด่นของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีหลักสูตรที่หลากหลายผู้เรียนสามารถ เลือกเรียนในหลักสูตร หรือสาขาที่ตัวเองสนใจได้ เรามีหลักสูตรทางด้านภาษาที่มีความโดดเด่น และมีผู้เชี่ยวชาญเจ้าของภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี นอกจากนี้คณะเรายังมีหลักสูตรภาษา และวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร ลาว และเวียดนาม) ซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งหลักสูตรทางด้านสังคมศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์ การพัฒนาชุมชนและสังคม และภูมิศาสตร์ ด้วยเหตุนี้บัณฑิตที่จบไปจึงมีงานทำในหลากหลายอาชีพและยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง



อาชีพที่รองรับเมื่อนิสิตสำเร็จการศึกษา
            สำหรับนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วนั้น สามารถไปประกอบอาชีพได้หลากหลายในตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น ครู อาจารย์ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่สถานทูต พนักงานในบริษัทเอกชน บริษัทนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศ ล่าม นักแปล นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ พนักงานในธุรกิจด้านบริการ เช่น สายการบิน และโรงแรม รวมทั้งยังสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัวได้อีกด้วย

ฝากประชาสัมพันธ์หลักสูตรของคณะถึงผู้ที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อ
           สำหรับผู้ที่สนใจเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถติดตามข่าวสารได้ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม https://grad.msu.ac.th/th/index.php 


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts