มหาวิทยาลัยมหาสารคามค้นพบว่านชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 1 หงส์เหินศิริรักษ์ หรือ Hong-Hern-Sirirugsa มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Globba sirirugsae Saensouk & P. Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกดอกเข้าพรรษา พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย ค้นพบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช    และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข ภาควิชาชีววิทยา รพลมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 



   
ชื่อผลงานและผู้รับผิดชอบ
การค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด 

วัตถุประสงค์ในการทำงานวิจัย
เพื่อศึกษาพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก 

สรรพคุณของพืชชนิดนี้
เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านและเป็นไม้ดอกไม้ประดับ

จุดเด่นของพืชชนิดนี้
พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิด เป็นพืชหายากและเป็นพืชที่พบที่ประเทศไทยประเทศเดียวในโลก มีลักษณะต้นและดอกที่สวยงาม

พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 1 หงส์เหินศิริรักษ์ หรือ Hong-Hern-Sirirugsa 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Globba sirirugsae Saensouk & P. Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกดอกเข้าพรรษา พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย โดยผู้วิจัย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย ชื่อพื้นเมืองตั้งโดยศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ คือ “หงส์เหินศิริรักษ์” ลักษณะเด่น คือ มีช่อดอกเรียงตัวอย่าง ๆ หลวม และโค้งตัวลง การเรียงตัวและรูปร่างของใบประดับ ดอกสีเหลืองสวยงามคล้ายหงส์ ผลกลมผิวขรุขระ
       ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานพืชของประเทศไทย และเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาด้านอนุกรมวิธานพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย 

เอกสารอ้างอิง 
Saensouk, S. and Saensouk, P.  2020. Globba sirirugsae, a New Species of Zingiberaceae from Thailand. J. Jpn. Bot., 95(6): 328–333.

ช่อดอกของหงส์เหินศิริรักษ์ (Hong-Hern-Sirirugsa)

ผลของหงส์เหินศิริรักษ์ 



พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 2 นิลกาฬ หรือ Nillakan  
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia nigrifolia Boonma & Saensouk พืชชนิดใหม่ของโลกนิลกาฬนี้ได้ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ พบทางภาคกลางของประเทศไทย ได้ศึกษาโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ชื่อพื้นเมือง คือ นิลกาฬ หรือ Nillakan ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ

ลักษณะเด่น คือ ใบสีดำ ดอกสีม่วง

เอกสารอ้างอิง
Boonma, T., Saensouk, S. and Saensouk, P.  2021. Kaempferia nigrifolia (Zingiberaceae) a new species from Central Thailand. Rheedea, 31(1): 11-17. 
 

ต้นและดอกของนิลกาฬ


พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 3 ขมิ้นน้อย 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma chantaranothaii Boonma & Saensouk โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข และชื่อพื้นเมืองตั้งโดยศาสตราจารย์ ดร.ประอม จันทรโณทัย คือ “ขมิ้นน้อย” หรือ “Khamin-Noi” พบทางเป็นพืชป่าจากจังหวัดนครนายกที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย ซึ่งท่านเป็นนักพฤกษศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในแวดวงพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับขมิ้นและกระเจียว  ลักษณะเด่น คือ กลีบปากสีขาวมีแถบสีเหลืองเข้มตรงกลาง และแถบสีเหลืองคล้ายพระจันทร์เสี้ยวบริเวณปลายทั้งสองข้างของแถบกลาง

เอกสารอ้างอิง 
Saensouk, S., Boonma, T. and Saensouk, P.  2021. Six new species and a new record of Curcuma L. (Zingiberaceae) from Thailand. Biodiversitas, 22(4): 1658-1685.

 
ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย ซึ่งท่านเป็นนักพฤกษศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในแวดวงพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก
 
ขมิ้นน้อย



พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 4 กระเจียวรังสิมา
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma rangsimae Boonma & Saensouk  โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข และชื่อพื้นเมือง คือ “กระเจียวรังสิมา หรือ Krachiao Rangsima” หรืออีกชื่อคือ “บุษราคัม หรือ Bussarakham” พืชชนิดนี้พบในจังหวัดนครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา  พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับขมิ้นและกระเจียวได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ท่านเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนนักพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน  

ลักษณะเด่น คือ กลีบดอกมีสีเหลือง ใบประดับสีชมพูหรือมีเขียวอ่อน ช่อดอกคล้ายช่อดอกขิงชมพู 

เอกสารอ้างอิง
Saensouk, S., Boonma, T. and Saensouk, P.  2021. Six new species and a new record of Curcuma L. (Zingiberaceae) from Thailand. Biodiversitas, 22(4): 1658-1685.

 
คุณรังสิมา ตัณฑเลขา
 
กระเจียวรังสิมา



พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 5 ขมิ้นพวงเพ็ญ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma puangpeniae Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย ชื่อพื้นเมืองตั้งโดยศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ คือ “ขมิ้นพวงเพ็ญ” หรือ “Khamin-Puangpen”   
ลักษณะเด่น คือ เหง้าเลื้อย ไม่มีใบประดับส่วนยอด กลีบปากสีม่วงอ่อน ปลายแฉก มีขีดสีเหลืองสั้นบริเวณรอยแยกทั้งสองข้าง

เอกสารอ้างอิง 
Saensouk, S., Boonma, T. and Saensouk, P.  2021. Six new species and a new record of Curcuma L. (Zingiberaceae) from Thailand. Biodiversitas, 22(4): 1658-1685.

 
“ขมิ้นพวงเพ็ญ” หรือ “Khamin-Puangpen”   



พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 6 กระเจียวจรัญ
 มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma charanii Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดลพบุรี ประเทศไทย โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ดร.จรัญ มากน้อย ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิง โดยเฉพาะสกุล Curcuma ในประเทศไทย ชื่อพื้นเมืองตั้งโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข คือ “กระเจียวจรัญ” หรือ “Krachiao Charan”   

ลักษณะเด่น คือ กลีบปากปลายสีม่วงอมชมพู โคนสีขาว ตรงกลางสีขาวขนาบด้วยจุดสีม่วงทั้งสองด้านคล้ายก้างปลา มีจุดสีเหลืองเข้มสองจุดที่โคนกลีบ

เอกสารอ้างอิง 
Saensouk, S., Boonma, T. and Saensouk, P.  2021. Six new species and a new record of Curcuma L. (Zingiberaceae) from Thailand. Biodiversitas, 22(4): 1658-1685.

ดร.จรัญ มากน้อย

กระเจียวจรัญ



พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 7 พญาว่าน 
 มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma phrayawan Boonma & Saensouk  พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดนครนายก และปลูกเป็นพืชสมุนไพรทั่วประเทศไทย โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามชื่อพื้นเมืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “พญาว่าน” หรือ "Phraya Wan"   
   
ลักษณะเด่น คือ เหง้ามีสีเหลืองเข้ม กาบใบมีสีแดงเข้ม ร่องกลางใบแดง ช่อดอกเกิดกลางกลุ่มใบ

เอกสารอ้างอิง 
Saensouk, S., Boonma, T. and Saensouk, P.  2021. Six new species and a new record of Curcuma L. (Zingiberaceae) from Thailand. Biodiversitas, 22(4): 1658-1685.

 
Curcuma phrayawan Boonma & Saensouk



พืชชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่ 8 กระเจียวม่วง หรือ "อเมทิสต์"    
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma purpurata Boonma & Saensouk  พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดศีรษะเกษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย โดยผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามสีม่วงของดอกพืช ชื่อพื้นเมืองคือ กระเจียวม่วง หรือ "อเมทิสต์"   
   
ลักษณะเด่น คือ ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ใบประดับสีเขียว ดอกยื่นออกจากช่อดอก กลีบปากสีม่วง ปลายกลีบแฉกลึก มีสีเหลืองตั้งแต่ฐานตรงกลางจนเกือบสุดปลายแฉกทั้งสองข้าง

เอกสารอ้างอิง 
Saensouk, S., Boonma, T. and Saensouk, P.  2021. Six new species and a new record of Curcuma L. (Zingiberaceae) from Thailand. Biodiversitas, 22(4): 1658-1685.

กระเจียวม่วง หรือ "Amethyst"

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของการทำงานวิจัยชิ้นนี้นั้น เนื่องจากพืชที่ศึกษาเป็นพืชที่มีการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง ต้นและดอกจะเกิดขึ้นมาเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้นจึงทำให้ยากแก่การได้ต้นและดอกมาศึกษา เพราะการศึกษาชนิดพืชจะต้องใช้ดอกมาช่วยในการจัดจำแนกชนิดพืช และอีกประการหนึ่งคือสถานการณ์โควิต 19 ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานวิจัยในความต่อเนื่อง

งบประมาณในการทำงานวิจัย
งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนมาจาก 2 แหล่งทุนคือ 
1, งบประมาณเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีงบประมาณ 2563 และ 2564 
2.ทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช) โครงการองค์ความรู้พื้นฐานโครโมโซมของพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย รหัสโครงการ FDA-CO-2563-11240-THxu ปีงบประมาณ 2563 และ 2564 

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หน่วยงาน บุคลากรทุกท่านที่มีส่วนในการสนับสนุนงานวิจัยและสนับสนุนเงินทุนการวิจัยบางส่วน อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และพื้นที่ในการดำเนินการวิจัย รวมทั้งสนับสนุนเวลาทั้งหมดในการทำงานวิจัยชิ้นนี้  



มีแผนการพัฒนาต่อยอดพืชชนิดนี้ลงสู่ชุมชนอย่างไร
   สำหรับแผนการพัฒนาต่อยอดของพืชชนิดนี้ลงสู่ชุมชนอย่างไรนั้น ทีมผู้วิจัยจะมีแนวทางในการส่งเสริมให้ชุมชนขยายพันธุ์ อนุรักษ์พืชเหล่านี้ และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
การทำงานวิจัยนั้นเป็นการทำงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องมุ่งมั่น และจริงจัง ให้เน้นในเรื่องของคุณภาพงานวิจัยเป็นหลัก ทำงานวิจัยให้เกิดความเชี่ยวชาญในสาขาที่นักวิจัยเชี่ยวชาญ ขอเป็นกำลังใจให้นักวิจัยที่เริ่มทำวิจัยใหม่ขอให้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้ามา พยายามทำอย่างต่อเนื่องตามกำลังที่มีแล้วผลงานต่าง ๆ ที่สะสมจะเป็นประวัติการทำงานวิจัยที่สำคัญทำให้เราสามารถได้รับทุนวิจัยในระดับที่สูงขึ้นครับ    

คติในการทำงาน
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น 

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล

Related Posts