จากกระแสโซเชียล ในปัจจุบัน กับเรื่อง “กระชายขาวรักษาโควิด” ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการวิจัยในหลอดทดลอง ก็ยังคงเป็นที่ทดลองต่อไป เพื่อหาความลงตัวในการที่จะนำมาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับการป้องกันเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในปัจจุบันนั้น
          และอีกหนึ่งความยินดีของวงการนักวิจัยไทยในปัจจุบัน สำหรับนักวิจัยคนเก่งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก และพืชถิ่นเดียวของไทย ในสกุลกระชาย (Boesenbergia) วงศ์ขิง (Zingiberaceae) โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ภาคอีสาน” คือ “Boesenbergia isanensis Saensouk & P. Saensouk” และชื่อพื้นเมืองเป็น “กระชายอีสาน” เนื่องจากเป็นการค้นพบครั้งแรกในภาคอีสาน และปัจจุบันพบว่า พืชชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในภาคอีสานเท่านั้น โดยการค้นพบของรองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข Surapon Saensouk อาจารย์หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


ชื่อผลงานและผู้รับผิดชอบ
การค้นพบ “กระชายอีสาน” Boesenbergia isanensis Saensouk & P. Saensouk  กระชายชนิดใหม่ของโลกจากประเทศไทย  



กล่าวถึงที่มาของการค้นพบงานชิ้นนี้ขึ้นมา
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอนุกรมวิธาน และความหลากหลายของพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย และทำให้ค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกหลายชนิดรวมทั้ง “กระชายอีสาน”
         กระชายอีสาน (Boesenbergia isanensis Saensouk & P. Saensouk)
พืชชนิดใหม่ของโลกและพืชถิ่นเดียวของไทย ในสกุลกระชาย (Boesenbergia) วงศ์ขิง (Zingiberaceae) ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นเกียรติแก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ “ภาคอีสาน” คือ “Boesenbergia isanensis Saensouk & P. Saensouk” และชื่อพื้นเมืองได้ตั้งเป็น “กระชายอีสาน” เนื่องจากค้นพบครั้งแรกในภาคอีสานและปัจจุบันพบว่าพืชชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในภาคอีสานเท่านั้น และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารพฤกษศาสตร์ The Journal of Japanese Botany ฉบับที่ 95 ส่วนที่ 2 หน้าที่ 65-68 เรื่อง Boesenbergia isanensis (Zingiberaceae), a New Species from Thailand
 

การค้นพบกระชายชนิดนี้จากที่ไหน
การค้นพบ กระชายอีสาน ค้นพบมาจากในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ที่เรียกว่าภาคอีสาน ประเทศไทย 

ความพิเศษของกระชาย
สำหรับความพิเศษของ กระชายอีสาน นั้นมีลักษณะพิเศษ คือ เหง้ายาวกว่ากระชายทั่วไป เนื้อเหง้ามีสีเหลืองเข้ม รากสะสมอาหารไม่เกิดเป็นกระจุกเหมือนกระชายทั่วไป แผ่นใบมีแถบสีแดงเลือดหมู ดอกมีสีครีมและกลีบปากสีแดงอ่อน



คุณสมบัติของกระชายเป็นอย่างไร
     คุณสมบัติของกระชายนั้น คือการนำเหง้าอ่อน และต้นอ่อนนำมาเป็นพืชอาหาร และผักพื้นบ้าน รวมทั้งเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แก้โรคหวัดได้ดี แก้วิงเวียนศีรษะ ลดไขมันได้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงร่างกายได้ดี  



เราสามารถนำกระชายชนิดนี้มาต่อยอด พัฒนา แปรรูป อย่างไรได้บ้าง
สำหรับการพัฒนาต่อยอดให้เป็นพืชสมุนไพร  เราจะมีการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณต้นโดนเทคนิคต่าง ๆ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เป็นกระชายอีสานผง หรือเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  เป็นต้น



กระชายชนิดนี้มีอายุยาวนานขนาดไหน
กระชายอีสานเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี โดยมีเหง้า (หรือลำต้นใต้ดิน) และมีตาเหง้า พอในฤดูฝนตาเหง้าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นลำต้นเหนือดิน (ที่เราเรียกว่าต้นกระชาย) แล้วก็ออกดอก พอหมดฤดูฝนลำต้นเหนือดินก็จะพักตัวเหี่ยวแห้งลงไปเหลือแต่เหง้าอยู่ใต้ดิน พอถึงฤดูฝนครั้งใหม่ก็จะงอกลำต้นเหนือดินขึ้นมาอีกครั้ง      
     


ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
      ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงานนั้น เนื่องจากพืชที่ศึกษาเป็นพืชที่มีการพักตัวในช่วงฤดูแล้ง ต้นและดอกจะเกิดขึ้นมาเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้นจึงทำให้ยากแก่การได้ต้นและดอกมาศึกษา เพราะการศึกษาชนิดพืชจะต้องใช้ดอกมาช่วยในการจัดจำแนกชนิดพืช และสถานการณ์ โควิด 19 ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานวิจัย



มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะ หน่วยงาน ที่สนับสนุนเงินทุนวิจัยบางส่วน อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และพื้นที่ในการดำเนินการวิจัย รวมทั้งสนับสนุนเวลา  


มีแผนการนำกระชายอีสานชนิดนี้ลงสู่ชุมชนเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรอย่างไร
    สำหรับแผนที่จะนำกระชายอีสาน เพื่อเป็นนโยบายมหาวิทยาลัยกับชุนนั้น เราจะส่งเสริมให้ชุมชนขยายพันธุ์ อนุรักษ์พืชเหล่านี้ และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
ทำงานวิจัยให้เป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนและนำไปใช้ได้จริงต่อชุมชน    



คติในการทำงาน
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
รศ.ดร.สุรพล แสนสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 0880293958 email: surapon.s@msu.ac.th fb: surapon saensouk



Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts