ท่ามกลางโรคโควิด 19 ระบาดอีกครั้งในปัจจุบัน ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ประดิษฐ์ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลต โดย อาจารย์คเณศ ถุงออด ประธานหลักสูตร สาขาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ ร่วมกับ ผศ.เกสร วงศ์เกษม อาจารย์ สาขาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลต เพื่อนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปี  2563 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ผ่านมา



ชื่อผลงาน 
หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลต

วัตถุประสงค์ในการจัดทำสิ่งประดิษฐ์  
ประดิษฐ์หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตขึ้นมา เพื่อเป็นการออกแบบ และพัฒนาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค สำหรับลดความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยรังสียูวีซี



การใช้งานของสิ่งประดิษฐ์ 
หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลต เป็นแบบบังคับระยะไกลด้วยรีโมทบังคับ สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ การเปิดปิดยูวีซี  โดยมีหุ่นยนต์อยู่ 2 ชนิดคือ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคบนพื้น และหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคบนผนัง โดยแสงยูวีซีจะฉายเข้าพื้น หรือผนังเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งาน หรือบุคคลใกล้เคียงสัมผัสแสงโดยตรง เนื่องจากแสงยูวีซี มีอันตรายกับมนุษย์ เมื่อมีการสัมผัสโดยตรง

จุดเด่นของสิ่งประดิษฐ์ 
หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลต เป็นหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคเฉพาะจุด สามารถใช้งานในขณะที่มีคนอยู่ในพื้นที่ได้ 



งบประมาณ
ในการจัดทำสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลต มีการใช้งบประมาณในการประดิษฐ์ จำนวน 45,000 บาทต่อหุ่นยนต์หนึ่งตัว

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร 
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการสนับสนุนด้านงบประมาณ เครื่องมือ อุปกรณ์ ในการสร้างหุ่นยนต์อย่างสมบูรณ์ และเต็มรูปแบบ



มีแผนการนำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ลงสู่ชุมชนอย่างไร
สำหรับแผนการนำสิ่งประดิษฐ์ลงสู่ชุมชนนั้น ทางสาขาวิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ มีความยินดีที่จะให้ความรู้ ให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจ ได้นำไปประยุกต์ใช้ในชุมชน องค์กรต่างๆ เนื่องด้วยงานวิจัยนี้ออกแบบ และสร้างขึ้นมาแบบง่าย ไม่ซับซ้อน อุปกรณ์หาชื้อได้ง่าย ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย 


ในอนาคตจะมีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อย่างไรบ้าง 
ในอนาคตมีแผนการพัฒนาให้หุ่นยนต์ใช้งานง่าย และมีฟังก์ชั่นเพิ่มเติม เช่น การเคลื่อนที่อัตโนมัติ 



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
อยากฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้มาร่วมกันสร้างสิ่งประดิษฐ์ ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน เพื่อเป็นการช่วยให้สังคม หรือชุมชนให้พัฒนา และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นความภาคภูมิใจของการเป็นนักวิจัยอย่างหนึ่ง



คติในการทำงาน 
ความสำเร็จเริ่มต้นจากการตัดสินใจลงมือทำ

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล

Related Posts