นิสิตสาขารัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มมส  สุดเจ๋ง  สอบชิงทุนแลกเปลี่ยน ติด 1 ใน 4  นักศึกษาไทย บินเรียนที่สหรัฐอเมริกา 5 เดือน ทุนแลกเปลี่ยนสำหรับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค Global Undergraduate Exchange Program (Global UGRAD) ประจำปีการศึกษา 2562  โดย สถานทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน (Fulbright)



       “Nothing is impossible unless you think it is”

  ไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้เว้นแต่คุณคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้   

ปริญญา อุทโธ


             นายปริญญา อุทโธ นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขารัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  กล่าวว่าทุนที่ผมได้รับคือ  ทุนแลกเปลี่ยนสำหรับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค Global Undergraduate Exchange Program (Global UGRAD) ประจำปีการศึกษา 2562  โดย สถานทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน (Fulbright)  โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต/นักศึกษาไทยที่เรียนดีและมีภาวะความเป็นผู้นำ ได้เรียนร่วมกับนักศึกษาและอภิปรายกับคณาจารย์ชาวอเมริกัน เพื่อเพิ่มพูนทักษะภาวะผู้นำ เรียนรู้ชีวิต สังคม วัฒนธรรม รวมถึงระบบการศึกษาในสถาบันการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา (5 เดือน) ครับ




            การรับทราบข่าวในการประกวดนั้น ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนนะครับว่า Connection is Power จริงๆครับ เพราะผมจะไม่ทราบเลยว่ามีการประกวดชิงทุนการศึกษานี้  ถ้าหากผมไม่ได้เป็นนิสิตอาสาสมัครช่วยงาน Mahasarakham University American Corner (MAC)  ซึ่งมีเพื่อนๆพี่ๆ รวมถึงอาจารย์ผู้ดูแลกิจกรรม เป็นผู้แนะนำให้ผมสมัครทุนนี้ครับ ทุนนี้ถือว่าเป็นทุนที่ยากและมีการแข่งขันสูงมาก (มีนิสิต/นักศึกษาเพียง 4 คนเท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศ) ผมก็เตรียมตัวโดยการฝึกการเขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษ ฟังรายการต่างๆใน YouTube ปรึกษารุ่นพี่ที่เคยไปโครงการนี้ ช่วงนั้นถือว่าหมกมุ่นกับการฝึกฝนอย่างหนักเลยล่ะครับ ^^ ซึ่งการแข่งขันก็จะแบ่งออกเป็น 3 รอบใหญ่ๆ คือ 

            รอบแรก คือ การเขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษ (Essay) จำนวน 2 ข้อ ข้อละไม่เกิน 3,000 ตัวอักษร ซึ่งในแต่ละปีจะมีหัวข้อคำถามที่แตกต่างกันออกไป ช่วงนั้นเป็นช่วงสอบเทอม 1 พอดี จำได้ไม่ลืมเลยครับว่าเป็นช่วงที่ทรมานมาก เพราะต้องอ่านหนังสือสอบและต้องแต่งเรียงความด้วย วันไหนมีสอบ สอบเสร็จแล้วต้องรีบนั่งแต่งเรียงความ วันไหนไม่มีสอบก็แต่งเรียงความหลังจากอ่านหนังสือเสร็จ ผมบอกได้เลยว่าผมใช้เวลากว่า 10 วันในการทำให้เรียงความของผมนั้นสมบูรณ์
และขั้นตอนต่อมา ทางมหาวิทยาลัยจะต้องทำการคัดเลือกตัวแทนภายในเองก่อน (เพราะกำหนดให้ส่งตัวแทนผู้สมัครได้มหาวิทยาลัยละไม่เกิน 2 คนเท่านั้น) ซึ่งในรอบนี้นั้นมีผู้สมัคร 3 คนรวมกับผม เพื่อน ๆ อีก 2 คน ที่สมัครคือเพื่อนตัวแทนจาก สาขาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ฯ ดังนั้นพวกเราทั้ง 3 คน จึงต้องทำการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการจากฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ มมส และท่านอาจารย์จากหลากหลายสาขา ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกก็จะมาจากเรียงความ (Essay) ทั้งสองเรื่องและความสามารถในการตอบคำถามสอบสัมภาษณ์ พอตอนประกาศมาก็รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากครับที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์และได้ลำดับที่ 1

            รอบที่สอง ทางคณะกรรมการกองทุน Fulbright ได้ทำการคัดเลือกตัวแทนผู้สมัครจากทั่วประเทศให้เหลือเพียง 15 คนเท่านั้น เพื่อทำการเข้ารับการสอบสัมภาษณ์กับทางสถานทูตสหรัฐฯ โดยตรง  โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้สมัครรวมถึงเรียงความ (Essay) ด้วย และเมื่อประกาศผลออกมา ปรากฏว่าทั้งผมและเพื่อนผ่านเข้ารอบสุดท้ายครับ

รอบที่สาม การสอบสัมภาษณ์กับสถานทูตสหรัฐฯ ผ่าน Skype เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ถือว่าเป็นรอบสุดท้ายของการคัดเลือกแล้ว ซึ่งแต่ผู้สมัครแต่ละคนนั้นจะถูกสัมภาษณ์คนละประมาณ 15 นาที ซึ่งบอกเลยครับว่าระหว่างการสัมภาษณ์ 15 นาทีนั้น แทบไม่มีช่องว่างให้หายใจเลยครับ ฮ่าฮ่า เพราะโดนถามคำถามตลอดเริ่มจากง่ายๆ ไปยาก (ลึกลงไปเรื่อยๆ ตามคำตอบของเรา) บางคำถามก็จะเกี่ยวข้องกับเรียงความของเรา เราก็จะต้องขยายความให้ทางคณะกรรมการฟัง พอสัมภาษณ์เสร็จนี่แบบเหงื่อท่วมตัวเลยครับ (ทั้งๆที่อยู่ในห้องแอร์นะ ^^) หลังจากนั้นก็รอการประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกครับ แรกเดิมทีนั้นกำหนดว่าจะประกาศภายในวันที่ 1 มีนาคม 2562 แต่พอถึงวันจริงๆก็เลื่อนประกาศออกไปอีกหลายวันเลยครับ

            และวันที่ 18 มีนาคม 2562 เวลา 23:30 น. มีเสียงเตือนอีเมล์ พอเปิดดูเท่านั้นแหละครับแทบไม่อยากเชื่อว่าจะมีชื่อตัวเองอยู่ด้วย มันคือความรู้สึกที่ตื้นตันและดีใจมากๆเลยครับ นึกอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก รีบโทรหาพ่ออย่างไวเลยครับ โทรไปร้องไห้ไป พ่อก็ตกใจนึกว่าลูกเป็นอะไร 555 




             ความรู้สึกที่ได้รับรางวัล นายปริญญา  อุทโธ กล่าวว่า ก่อนอื่นผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างมากครับ รางวัลนี้คือรางวัลสูงสุดแล้วเท่าที่ผมเคยได้รับในชีวิต  ต้องขอขอบคุณทุกๆกำลังใจและความช่วยเหลือจากอาจารย์หลายๆท่านครับ ไม่ว่าจะเป็น อ.ดร.อัญญารัตน์ นาถธีระพงษ์  อ.ดร. คู่บุญ จารุมณี และอาจารย์ยุวดี ทรัพย์สมบูรณ์ มาก ๆ ครับที่ออกหนังสือรับรอง (Letter of Recommendation) ให้ ซึ่งมีผลอย่างมากในการพิจารณาคัดเลือกตัวแทน อีกทั้งผมขอขอบพระคุณ อ.ดร.พิมพ์ยุพา ประพันธ์ อ.ชัยณรงค์ ทองบุญชื่น และอาจารย์อีกหลายๆท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง เป็นอย่างสูงครับสำหรับคำแนะนำต่างๆในการเตรียมตัวสอบ

            ขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชิงชาญ จงสมชัย คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณาจารย์ทุกท่านเป็นอย่างยิ่งครับที่สนับสนุนผมเสมอมา ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของผมก็มาจากโอกาสในการทำงานภายในคณะที่เคยได้รับ ผมรู้สึกโชคดีมากครับที่ได้เป็นนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

            ขอบคุณทุกหน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุนนี้มาก ๆ ครับ ขอบคุณที่เปิดโอกาสและสนับสนุนนิสิตอย่างเต็มที่ ขอบคุณที่มีส่วนให้ความฝันของเด็กคนนี้เป็นจริงครับ และยังมีอีกหลายๆคนที่ผมอยากขอบคุณ ขอบคุณพี่นุ่น พี่มดเอ็กซ์ พี่อเล็กซ์ พี่แบงค์ และอีกหลายๆคนมากๆครับสำหรับคำปรึกษาในการเขียนเรียงความและการเตรียมตัวตอบคำถามสอบสัมภาษณ์




            ความสำเร็จในวันนี้ สู่ความฝันในวันหน้า  ผมเคยวาดฝันไว้ครับว่าอยากเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และความสำเร็จในวันนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนและทำให้อะไรต่าง ๆ ง่ายขึ้นด้วยครับ เพราะผมจะได้รับสิทธิในการสอบทุนของ Fulbright โดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆครับ  และผมมีความฝันในการทำงาน คือ อยากทำงานในสถานทูต หรือ กระทรวงการต่างประเทศ ครับ 

ส่วนความฝันสูงสุดในชีวิตนี้คือ ผมอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะเด็ก ๆ หลาย ๆ คนที่กำลังท้อแท้ในชีวิต หมดหวัง ไม่รู้จะไปทางไหน เพราะมองว่าตัวเองไม่ได้เก่ง ไม่ได้มีโอกาสเหมือนใคร ผมอยากเป็นตัวอย่างให้พวกเขาได้เห็นว่าครั้งหนึ่งเด็กบ้านนอก จบมัธยมจากโรงเรียนระดับอำเภอ ก็สามารถทำฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้เช่นกัน ฉะนั้นอย่าได้ยอมแพ้ง่าย ๆ ครับ

ข้อคิดดี ๆ ที่ช่วยเตือนใจผมตลอดเวลา แน่นอนครับว่า “Nothing is impossible unless you think it is” ไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้เว้นแต่คุณคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้     ผมใช้ข้อคิดนี้เตือนตัวเองอยู่เสมอครับในทุก ๆ ครั้งที่จะทำอะไร รวมถึงในการแข่งขันชิงทุนครั้งนี้ด้วย ถ้าหากใจเราบอกไม่พร้อม ทำไม่ได้ สุดท้ายทุกอย่างก็จะเป็นไปตามที่ใจเราคิด แต่ถ้าหากเราทุ่มเทและบอกตัวเองว่าเราทำได้ สุดท้ายความสำเร็จมันก็เป็นของเราครับ (ถึงแม้ผิดหวังก็ไม่เสียดายเพราะเราทำเต็มที่แล้ว)



  

                                          

          




Author

ผู้เขียน : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts