นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้วิจัยและปรับปรุงพันธ์ุมะเขือเทศเชอรี่ขึ้นใหม่ จำนวน 6 พันธ์ุ ซึ่งเป็นการพัฒนาพันธุ์พืชของมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เป็นครั้งแรก โดย นายพัฒนา ภาสอน นักวิจัย จากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศ เพื่อหาสายพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ที่ตอบสนองได้ดีในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีสภาพอากาศร้อนและแห้ง ถือเป็นความสำเร็จของการวิจัย โดยพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ที่พัฒนาขึ้นใหม่ได้รับการรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 ในนามมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ใหม่ ที่พัฒนาได้ทั้งหมด จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่
1.มะเขือเทศ (Solanum lycopersicum var. cerasiforme) พันธุ์ มมส 50-1
2.มะเขือเทศ (Solanum lycopersicum var. cerasiforme) พันธุ์ มมส 50-2
3.มะเขือเทศ (Solanum lycopersicum var. cerasiforme) พันธุ์ มมส 50-3
4.มะเขือเทศ (Solanum lycopersicum var. cerasiforme)  พันธุ์ มมส 50-4
5.มะเขือเทศ (Solanum lycopersicum var. cerasiforme)  พันธุ์ มมส 50-5
6.มะเขือเทศ (Solanum lycopersicum var. cerasiforme)  พันธุ์ มมส 50-6


ชื่อผลงานวิจัย
มะเขือเทศ 6 สายพันธ์ุ หรือ มะเขือเทศเชอรี่ มมส

ที่มาของมะเขือเทศ
ที่มาของมะเขือเทศ 6 สายพันธ์ุ หรือ มะเขือเทศเชอรี่ มมส สืบเนื่องจากผู้วิจัยให้ความสนใจงานทางด้านปรับปรุงพันธุ์พืชเพราะเป็นต้นน้ำของกิจกรรมด้านการเกษตรด้านอื่นๆ การทำงานวิจัยพัฒนา และปรับปรุงพันธุ์พืชจะต้องใช้งบประมาณในการทำวิจัย และใช้เวลาหลายปี ดังนั้นพืชที่จะทำวิจัยต้องมีความสำคัญมากพอทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒธรรม และเหมาะสมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พืชที่อยู่รอบๆ ครกส้มตำ เช่น มะละกอ พริก มะเขือเทศ จึงเป็นพืชที่ผู้วิจัยให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นพืชผักที่คนอีสานใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจ และใช้บริโภคในครัวเรือน และโจทย์ที่น่าสนใจคือ พืชที่จะปรับปรุงพันธุ์ต้องเป็นพืชใหม่ที่ไม่เคยผลิต ไม่เคยมีการวิจัย ในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้จากพืชชนิดใหม่ๆ มะเขือเทศใส่ส้มตำเป็นพืชที่มีระยะเวลาการปลูกสั้น มีความต้องการสูงแต่เกษตรกรในพื้นที่มีการผลิตแพร่หลาย และราคาค่อนข้างต่ำ จึงหันมาให้ความสนใจมะเขือเทศเชอรี่ ที่ไม่มีการปลูก และปรับปรุงพันธุ์ในพื้นที่มาก่อน โดยเริ่มต้นจากพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ทางการค้าที่เป็นลูกผสม มะเขือเทศพันธุ์พื้นเมือง และสายพันธุ์มะเขือเทศจากต่างประเทศ นำมาปลูกคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งผู้วิจัยมีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นพันธุ์พืชที่มีความโดดเด่น และสร้างรายได้ให้กับชุมชนและมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อไปในอนาคต  


แรงบันดาลใจในการเลือกทำผลงานวิจัย
การลงพื้นที่ให้บริการวิชาการแก่ชุมชนเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดมหาสารคาม ที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 8 ชุมชน เป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ ผู้วิจัยเห็นความต้องการพันธุ์พืชใหม่ๆ ของคนในชุมชนที่จะเป็นช่องทางในการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน มะเขือเทศเชอรี่เป็นพืชที่ผู้วิจัยเลือกที่จะนำมาพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เนื่องจากมะเขือเทศเชอรี่เป็นพืชที่รับประทานสด และเป็นพืชเพื่อสุขภาพ หากผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ยิ่งจะเพิ่มมูลค่า และความต้องการมากขึ้น ปัญหาหนึ่งของผู้บริโภคที่ไม่ชอบกลิ่นเฉพาะของมะเขือเทศ ดังนั้นเป้าประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ คือเป็นพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ที่ไม่มีกลิ่นมะเขือเทศ หรือมีกลิ่นอ่อนๆ ฉะนั้นคนที่ไม่ชอบรับประทานมะเขือเทศเมื่อได้ชิมมะเขือเทศเชอรี่พันธุ์ มมส จะกลับมาชอบมะเขือเทศ จากการทดสอบกับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่รับประทานมะเขือเทศเลย สามารถรับประทานมะเขือเทศเชอรี่พันธุ์ มมส ได้ โดยคุณสมบัติของมะเขือเทศแล้ว เป็นพืชผักที่อุดมไปด้วยสาระสำคัญต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ วิตามินซี เกลือแร่ โดยเฉพาะสาร ไลโคปีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นไปสังเคราะห์วิตามินเอ และเป็นสารตั้งต้นเพื่อไปสร้างภูมิคุมกัน ในร่างกายของเราได้ ทำให้ร่างกายสดชื่นเป็นอาหารเพื่อสุขภาพสามารถรับประทานเป็นของว่างได้ ซึ่งผู้วิจัยคาดว่าจะสามารถเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ให้บริการวิชาการของหน่วยงานต่อไป 

จุดเด่นของผลงานวิจัยมะเขือเทศ 6 สายพันธ์ุ
พันธ์ุมะเขือเทศเชอรี่ มมส ที่วิจัย และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นใหม่นี้ เป็นพันธ์ุที่ทนต่อโรคพืช ทนต่อสภาพภูมิอากาศที่ร้อน และแห้งของจังหวัดมหาสารคาม ได้เป็นอย่างดี โดยทีมวิจัยได้ทำการคัดเลือก และปรับปรุงพันธ์ุมะเขือเทศเชอรี่ ในแปลงและโรงเรือนทดลองที่มีการควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช จนได้พันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ มมส ที่ทนต่อเชื้อสาเหตุโรคพืช และจะทนต่อสภาพอากาศร้อน ในกระบวนการทดสอบสายพันธุ์ ได้ทำการปลูกมะเขือเทศพันธุ์ มมส ภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารเคมีในการดูแลรักษา เพราะฉะนั้น การปลูกมะเขือเทศเชอรี่พันธุ์ มมส ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตและสามารถให้ผลผลิต เฉลี่ยต่อต้น 1 – 1.8 กิโลกรัมต่อต้น 

งบประมาณในการทำการวิจัยคัดเลือกและปรับปรุงพันธ์มะเขือเทศเชอรี่ มมส 
  งบประมาณในการดำเนินวิจัย และปรับปรุงพันธุ์ มะเขือเทศเชอรี่ มมส เริ่มต้นไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินวิจัย แต่ใช้ศักยภาพของหน่วยงานต้นสังกัด (สถานีปฏิบัติการ และโรงเรือนทดลองของสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช) ทั้งปัจจัยการผลิต วัสดุการเกษตร และแรงงาน เป็นข้อจำกัดในการคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์ ทีมวิจัยคาดว่าอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากงบประมาณที่จำกัด ต่อมาหน่วยงานเห็นความสำคัญ และประโยชน์ของการวิจัยทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช จึงสนับสนุนงบประมาณ ในการดำเนินการวิจัยเต็มรูปแบบ และสามารถวัดความก้าวหน้าของการคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อมาได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกองส่งเสริมการวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้งานวิจัย และปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ มมส ประสบความสำเร็จ สามารถขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืชได้สำเร็จ รวมระยะเวลากว่า 7 ปี (ปรับปรุงพันธุ์ พ.ศ.2555-2560 และทดสอบพันธุ์ พ.ศ.2561) หากคิดงบประมาณที่ชัดเจน ได้แก่ แรงงาน (ลูกจ้าง 2 อัตรา คิดเป็นงบประมาณ 1,159,200 บาท) และทุนสนับสนุนที่อยู่ในรูปของโครงการวิจัยฯ (2 โครงการ คิดเป็น 250,000 บาท) รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1,459,200 บาท (เฉลี่ยปีละ 208,457 บาท) ซึ่งงานด้านปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งทุนด้านงบประมาณมาก และใช้เวลานานพอสมควรในการสร้างพันธุ์พืชขึ้นมาใหม่   

มหาวิทยาลัยมหาสารคามสนับสนุนด้านใด
ต้องขอขอบคุณกองส่งเสริมการวิจัย และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยหาสารคาม โดยศาสตราจารย์ ดร. ไพโรจน์ ประมวล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ อดีต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรทุนเพื่อการวิจัยในขณะนั้น ที่สนับสนุนโครงการวิจัยของทีมวิจัยที่เสนอผ่านกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ ซึ่งในช่วงท้ายของกระบวนการปรับปรุงพันธุ์จะต้องใช้งบประมาณสูง เพราะต้องนำพันธ์ุมะเขือเทศไปตรวจสอบค่าความคงตัวของพืชใน 2 พื้นที่ คือแปลงเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม และแปลงเกษตรกรในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเปรียบเทียบผลผลิต คุณภาพของมะเขือเทศ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช หากไม่ได้รับการสนับสนุนในครั้งนั้น มะเขือเทศเชอรี่ มมส ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีส่วนอย่างมาในการสนับสนุนให้งานปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ มมส นี้ประสบความสำเร็จ

แผนพัฒนาผลงานวิจัยโอกาสต่อไปอย่างไร
แผนในการพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ในลำดับต่อไป คือการพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ มมส ให้เป็นพันธ์ลูกผสมช่วงที่ 1 (F1-hybrid) เพื่อแก้ไขลักษณะบางลักษณะที่ไม่ดีของพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ มมส คือ ยังมีขนาดผลมะเขือเทศที่โตมาก ซึ่งได้รับข้อเสนอแนะจาก กลุ่มตัวอย่าง (tester) ได้แก่ นักวิชาการ บุคลากร อาจารย์ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และอยู่ระหว่างการสร้างพันธ์ุลูกผสม F1-hybrid ล่าสุดมีบางคู่ผสมที่ให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น คือผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 -2.9 กก.ต่อต้น มีคุณภาพของมะเขือเทศที่ดีมาก มีรสชาติหวาน กรอบ และในโอกาสต่อไปคาดว่าจะมีการพัฒนาเป็นธุรกิจเมล็ดพันธ์ุมะเขือเทศเชอรี่ มมส คาดว่างานปรับพันธ์จะสามารถสร้างรายได้ให้มหาวิทยาลัยในโอกาสต่อไป


แนวทางที่จะนำผลงานวิจัยลงสู่ชุมชน
การเผยแพร่พันธุ์พืช มีการดำเนินการนำผลงานลงสู่ชุมชนมาโดยตลอด ผ่านกลุ่มเครือข่าย 8 ชุมชน ที่เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ โดยจัดอบรมการผลิตมะเขือเทศเชอรี่ และเผยแพร่พันธุ์ มะเขือเทศเชอรี่ มมส ทั้ง 6 พันธุ์ ให้เกษตรกรไปแล้ว 1 ครั้ง โดยเกษตรกร 1 รายจะได้พันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ มมส 6 พันธุ์ๆ ละ 15 เมล็ด ให้นำไปทดลองปลูก ในระยะเริ่มต้นคาดว่าว่าจะมีผู้เข้าร่วมอบรมเฉพาะในจังหวัดมหาสารคาม แต่มีเกษตรกรที่สนใจลงทะเบียนมาจากทั่วภาคอีสาน กว่า 70 คน กลุ่มเกษตรกรเหล่านั้นมีการรายงานผลการผลิต ทางสื่อออนไลน์ ทำให้ทราบถึงความสามารถในการผลิตของเกษตรกร ที่เห็นผลชัดเจนมี 4 ชุม ที่สามารถผลิตมะเขือเทศเชอรี่เป็นที่น่าพอใจ เช่นกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านม่วง อำเภอโกสุมพิสัย สามารถผลิตส่งจำหน่ายตลาดขอนแก่นโดยที่พ่อค้าเข้ามารับด้วยตนเอง กก.ละ 40 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีพอสมควร และเกษตรกรมีความพึงพอใจในรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ปัญหา และอุปสรรคในการทำงานวิจัย
ปัญหา และอุปสรรคของการทำงานวิจัย คือทุนวิจัยในงานปรับปรุงพันธุ์ เพราะงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชต้องใช้เวลายาวนาน แต่ทุนวิจัยมักจะเป็นปีต่อปี และต้องมีการรายงานผลการวิจัยเสนอต่อแหล่งทุนซึ่งผลงานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์พืชจะออกในปีสุดท้ายของการวิจัยที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดพืชนั้นๆ นอกจากนั้นแล้วทุนวิจัยที่ได้มา เป็นทุนวิจัยที่ไม่มีความต่อเนื่อง เป็นอุปสรรค์สำคัญในการดำเนินการวิจัยทางด้านปรับปรุงพันธุ์พืช ปัญหานี้ทำให้เชื้อพันธุกรรมของพืชที่ดำเนินการได้รับความเสียหายเพราะไม่มีงบประมาณในการเก็บรักษาสายพันธุ์ ซึ่งเป็นการสูญเสียทั้งงบประมาณและแรงงานที่ได้รับมาโดยเสียเปล่า

ผลงานวิจัยชิ้นนี้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย
  กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรในภาคอีสาน เพราะมะเขือเทศเชอรี่จะไม่ค่อยพบการผลิตในเขตตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบการผลิตมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก การนำเอามะเขือเทศเชอรี่มาปลูกที่ภาคอีสาน เพื่อที่จะขยายตลาดของภาคอีสาน โดยมะเขือเทศเชอรี่ มมส จะมีรสชาติที่โดดเด่นมากคือ หวาน กรอบ และมีกลิ่นความเป็นมะเขือน้อยหรือไม่มีเลย จึงเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยทั้งชอบและไม่ชอบรับประทานมะเขือเทศเชอรี่

มีการจดทะเบียนพันธุ์พืชรับรองฯ มะเขือเทศเชอรี่พันธ์ มมส  
มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ นำมะเขือเทศเชอรี่ทั้ง 6 สายพันธ์ ทำการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชเป็นพันธุ์พืชรับรองขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
ฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ถึงการทำวิจัยงานด้านปรับปรุงพันธุ์พืช คือ การศึกษาค้นคว้าวิจัยนั้น อย่าท้อถอย ให้มีความจดจ่อและต่อเนื่อง สู้และอดทนในการศึกษาค้นคว้าต่อไปให้ถึงที่สุด จนกว่าจะได้สายพันธุ์พืชที่ต้องการนั้น

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล

Related Posts