ในปัจจุบัน ความดันโลหิตสูง (Hypertension) ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรในทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีอัตราผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพบได้ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอัตราผู้ป่วยสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ



    และงานวิจัยเรื่อง "การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงในกลุ่มประชากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอาจช่วยให้เข้าใจกลไกที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคและสามารถพัฒนาแนวทางการรักษาและการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต ภายใต้งานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กู้เกียรติ ทุดปอ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เรื่อง: การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แรงบันดาลใจในการศึกษาการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอย่างไร
    โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านพันธุกรรมและปัยจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารการกิน การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ในปี 2022 ได้มีบัญญัติศัพท์ใหม่เกิดขึ้นคือคำว่า GETomics (การศึกษาปัจจัยการเกิดโรคที่พิจารณา genes (G) and environment (E) over time (T) ซึ่ง genes เหล่านี้อาจจะซ่อนตัวในจุดใดก็ได้ของสาย DNA จึงต้องถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม


เหตุผลที่เลือกศึกษากลุ่มผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างไร
    โครงการ Genomics Thailand ได้ริเริ่มที่จะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมทั่วประเทศ 50,000 ราย โดยแบ่งจำนวนไปตามภูมิภาค และทางกลุ่มวิจัยได้รับมอบหมายให้ศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ความดันโลหิตสูงในภูมิภาคนี้

มีความแตกต่างหรือมีปัจจัยเฉพาะที่น่าสนใจอย่างไรเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นอย่างไร
    ขณะนี้อยู่ระหว่างวิเคราะห์ผล แต่สามารถตอบได้คร่าวๆว่าเชื้อชาติที่แตกต่างกันมี genes ที่ควบคุมความดันโลหิตแตกต่างกัน

วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการวิจัย
    คือการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม เพื่อค้นหายีนที่ทำนายเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในคนไทย 


เป้าหมายในการประยุกต์ผลการวิจัยเพื่อการรักษาหรือป้องกันความดันโลหิตสูงในกลุ่มประชากรอย่างไร
    สำหรับเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1. เมื่อทราบว่า genes และ   environment ใดเป็นปัจจัย ก็จะได้หาทางป้องกันไม่ไปกระตุ้นปัจจัยเหล่านั้น และ 2. ตามทฤษฎีของการแพทย์แม่นยำ (precision medicine) และการแพทย์เฉพาะบุคคล (personalized medicine) โรคทางพันธุกรรมเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ การใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งรักษาโรคในคนกลุ่มหนึ่งอาจไม่เหมาะกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น การรักษาในอนาคตจะได้ยาที่จำเพาะเจาะจงกับคนไทยมากขึ้น 

การวิจัยนี้สามารถช่วยวางแนวทางสำหรับการวินิจฉัยโรคในอนาคตได้หรือไม่
    การวินิจฉัยโรคในอนาคตสามารถทำได้แน่นอน เมื่อทราบว่าพ่อแม่มี genes และ environment ใดเสี่ยงต่อโรคความดัน
โลหิตสูง ก็จะพอทำนายได้ว่ารุ่นลูกที่จะเกิดมา จะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
   
กระบวนการและวิธีการวิจัยวิธีการถอดรหัสพันธุกรรมที่ใช้ในงานวิจัยนี้มีความแตกต่างหรือโดดเด่นจากงานวิจัยอื่นอย่างไร
    การถอดรหัสพันธุกรรมในโครงการนี้ ใช้จำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในประวัตศาสตร์ของการถอดรหัสในประเทศไทย คือ 50,000 ราย มีผู้วิจัยจากโรงเรียนแพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ และสาธารณสุขกว่า 20 แห่ง

กระบวนการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มผู้ป่วยเป็นอย่างไร
    การเก็บตัวอย่างมี 2 แบบ คือ เก็บจากผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ในโรงพยาบาล และ จากผู้ป่วยที่รับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งโครงการเราเป็นแบบที่ 2 ตัวอย่างเลือดจะถูกส่งไปสกัด DNA  ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และส่งต่อไปถอดรหัสที่ศูนย์ถอดรหัส มหาวิทยาลัยบูรพา



การควบคุมปัจจัยใดบ้างในการศึกษาพันธุกรรมเพื่อให้ผลลัพธ์มีความแม่นยำและน่าเชื่อถืออย่างไร
    DNA ที่ถอดรหัสแล้ว จะถูกส่งไปที่ ธนาคารชีวภาพแห่งชาติ สวทช. รังสิต เพื่อแปลผลโดยทีมนักพันธุศาสตร์และนักชีวสารสนเทศศาสตร์

ผลการวิจัยและการค้นพบการถอดรหัสพันธุกรรมพบความแตกต่างหรือความแปรผันทางพันธุกรรมหรือไม่
    เบื้องต้นพบว่ามี 15 genes กลายพันธุ์ ที่เกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง บางตัวสามารถกลายพันธุ์ได้ถึง 12 ตำแหน่ง ซึ่งแสดงถึงความแปรผันทางพันธุกรรมค่อนข้างมาก

ยีนหรือกลุ่มพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงที่ค้นพบมีผลต่อการเกิดโรคหรือไม่อย่างไร
    เราอ้างอิง genes ที่กลายพันธุ์ จากฐานข้อมูลสากล พบว่ายีนเหล่านี้อาจทำให้รุ่นลูกหลานเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างคำนวณทางสถิติว่ายีนใดทำให้เสี่ยงบ้าง และคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์



ความท้าทาย และข้อจำกัดในการวิจัยในกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรม มีอุปสรรคหรือความท้าทายใดบ้าง
    ความท้าทายคือการสื่อสารกับผู้ป่วยในชุมชน เช่น การนัดตี 5 เพื่อมาเจาะเลือดและรวบรวมกระปุกปัสสาวะ บางรายฉี่แทนภรรยา แล้วนำมาส่ง บางรายไม่นำยาที่ใช้อยู่ติดตัวมาด้วย ต้องตามไปเก็บข้อมูลถึงบ้านก็มี

ข้อจำกัดของงานวิจัยนี้คืออะไร และมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร
     ข้อจำกัดคือการเข้าถึงการบริการ ผู้ป่วยจำนวนมากปฏิเสธการรักษา ทำให้คนที่ป่วยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน และเราอาจจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แนวทางคือต้องระดมทุนตรวจให้มากขึ้น ในต่างประทศอาศัยข้อมูลหลายล้านรายในการสร้างสมการทำนาย ยิ่งจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น การทำนายก็ยิ่งแม่นยำ

การเก็บข้อมูลพันธุกรรมจากประชากรในท้องถิ่นมีความยากง่ายอย่างไร
    นอกจากการสื่อสารแล้ว ก็มีการเดินทาง บางรายไม่มีใครมาส่ง เราก็ต้องขับรถไปรับ บางรายก็ขอติดรถมากับ อสม.



ผลกระทบและการประยุกต์ใช้ในอนาคตผลการวิจัยนี้จะส่งผลต่อการดูแลสุขภาพและการป้องกันความดันโลหิตสูงในชุมชนอย่างไร
    เมื่อได้ข้อมูลที่มากพอ ผลการวิจัยนี้จะสามารถทำนายสุขภาพของรุ่นลูกหลานในชุมชน ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคในอนาคตได้ 

งานวิจัยนี้สามารถขยายผลไปยังประชากรในภูมิภาคอื่นหรือประชากรกลุ่มเสี่ยงได้หรือไม่
สามารถทำได้ ขณะนี้ผู้วิจัยก็ได้ยื่นขอใช้ข้อมูลของภูมิภาคอื่นมาประกอบการวิเคราะห์ผล

แผนการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยนี้อย่างไรในอนาคต
    ข้อมูลที่เก็บมาในระยะนี้ เป็น DNA ของผู้สูงอายุ ในอนาคตวางแผนจะเก็บข้อมูลในประชากรวัยเด็กและผู้ใหญ่ด้วย 



การตีพิมพ์และเผยแพร่งานวิจัยมีแผนในการเผยแพร่ผลการวิจัยให้กับชุมชนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร
    เมื่อทีมวิจัยสรุปผลแล้ว จะมีผลการเผยแพร่ผลการวิจัยให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งส่งตีพิมพ์ในระดับนานาชาติด้วย

ฝากอะไรถึงนักวิจัยบ้าง
    การทำวิจัยโครงการใหญ่ ต้องอาศัยทีมที่เชี่ยวชาญหลายสาขา ในประเทศไทยเรามีผู้เชี่ยวชาญเยอะมาก หากเราไม่เชี่ยวชาญด้านไหน อย่ากลัวที่จะปรึกษาผู้ที่เชี่ยวชาญกว่า



ผู้ที่สนใจสามารถติดต่ออาจารย์ได้อย่างไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กู้เกียรติ ทุดปอ อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านนโยบายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มมส 
Public Health and Environmental Policy in Southeast Asia Research Cluster (PHEP-SEA), MSU  
ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 
โทรศัพท์ 043-719868  ,  043-754420
โทรภายใน 4070
อีเมล์ kukiat@gmail.com






Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts