การเดินทางเพื่อค้นหาโอกาสและความท้าทายในต่างแดน  เป็นสิ่งที่นิสิตหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้รับโอกาสนั้น  เช่นเดียวกับ นางสาวศุภิสรา ปุรินทราภิบาล  นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาสัตวศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เธอได้รับโอกาส ในการได้รับการคัดเลือกให้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใน โครงการ 2024 Taiwan Experience Education Program (TEEP) ณ National Pingtung University of Science and Technology  ไต้หวัน สาร MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปรู้จักพูดคุยกับเธอ ถึงประสบการณ์การฝึกงานในแล็บพัฒนาวัคซีนสัตว์ ซึ่งไม่เพียงให้ความรู้เฉพาะด้าน แต่ยังเป็นการฝึกฝนทักษะการทำงานในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศและการเปิดใจรับวัฒนธรรมใหม่ๆ เรื่องราวนี้สะท้อนถึงการเติบโตและการเตรียมพร้อมสู่เส้นทางอาชีพและการศึกษาต่อที่น่าจับตามอง มาร่วมฟังถึงประสบการณ์อันน่าประทับใจนี้ไปพร้อมกันผ่านบทสัมภาษณ์นี้  มาติดตามกันค่ะ



แนะนำตัว
        นางสาวศุภิสรา ปุรินทราภิบาล กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสัตวศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคามค่ะ

รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการที่เข้าร่วม
        ได้เข้าร่วมในโครงการ 2024 Taiwan Experience Education Program (TEEP) โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ คือการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจจากต่างประเทศได้มีโอกาสเรียนรู้และเปิดรับประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศไต้หวัน ซึ่งในแต่ละโครงการจะมีหัวข้อหลัก  เช่น One Health Project เป็นโครงการที่มีแนวคิดว่า มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กัน มักจะนำมาใช้จัดการปัญหาเกี่ยวกับโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวคิดที่ว่าถ้าหากสัตว์สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี มนุษย์จะสุขภาพดี



        เข้าร่วมโครงการ ณ National Pingtung University of Science and Technology  ณ ประเทศไต้หวัน เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567  ค่ะ
        ภายใต้โครงการ 2024 Taiwan Experience Education Program (TEEP) จะมีหลากหลายสาขาวิชา และหลากหลายอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขึ้นอยู่กับหัวข้อหลักของโครงการในรอบนั้น ๆ และเราสามารถเลือกสาขาวิชาได้ตามความสนใจของเราได้ ค่ะ



สนใจเข้าร่วมโครงการ TEEP?
        เนื่องจากหนูมองว่าการได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง จะทำให้เราเกิดการพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งการไปต่างประเทศจะทำให้เราได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร นั่นอาจเป็นโอกาสที่จะพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งภาควิชาที่เข้าร่วมโครงการเป็นภาควิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาสัตวศาสตร์ในด้านการจัดการและป้องกันโรค ซึ่งก็คือภาควิชา International Degree Program in Animal Vaccine Technology ซึ่งเปิดโอกาสให้ได้ลองทำงานในห้องปฏิบัติการ เรียนรู้ขั้นตอนการทำงาน และได้เรียนรู้การทำงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นใบเบิกทางที่ดีในอนาคตได้ทั้งในแง่การทำงานและการศึกษาต่อต่างประเทศ



        แล็บ Animal Vaccine and Adjuvant Development เป็นแล็บที่เกี่ยวข้องการรายวิชาที่เรียนในสาขาสัตวศาสตร์ในแง่ของการป้องกันโรค มากไปกว่านั้น หนูยังสนใจในวิธีการทำงานในห้องปฏิบัติการ และวิธีผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในสัตว์ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแล็บ Animal Vaccine and Adjuvant Development จึงเป็นตัวเลือกแรกที่หนูเลือกค่ะ

เล่าให้ฟังการฝึกงานในแล็บพัฒนาวัคซีนสัตว์เป็นอย่างไร?
        เนื่องจากหนูมีความสนใจในด้านการป้องกันโรคสัตว์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงอยากศึกษาวิธีการซึ่งจะได้มาของวัคซีน ในช่วงแรกที่หนูไปหนูไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับการวัคซีนเลย เนื่องจากสาขาสัตวศาสตร์เป็นการเรียนรู้เพื่อผลิตสัตว์และป้องการการเกิดโรคในสัตว์เท่านั้น แต่มีพี่ ๆ ในแล็บ และอาจารย์คอยสอน ควบคุมการฝึกเทคนิคต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำการทดลองในแต่ละครั้ง จึงทำให้สามารถเรียนรู้เทคนิคที่ใช้จริงในห้องปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว และไม่เพียงแค่เรียนรู้เทคนิคที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ยังมีการเรียนรู้ทฤษฎีต่าง ๆ ในการพัฒนาวัคซีน หรือถ้าหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามอาจารย์หรือพี่ ๆ ในแล็บได้ค่ะ



ต้องปรับตัวอย่างไรบ้างกับการฝึกงานในต่างประเทศ?
        ในการฝึกงานที่ไต้หวันสภาพอากาศ และค่าเงินไม่แตกต่างจากไทยมาก ทำให้ไม่เป็นเป็นปัญหาในการปรับตัว แต่วัฒนธรรม อาหาร และภาษาเป็นสิ่งที่แตกต่างจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต้องใช้เวลาสักพักในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในไต้หวันเป็นมิตรมาก คอยถามไถ่หนูตลอดว่ามาจากที่ไหน มาทำอะไร ยิ้มให้กัน และมีของมาให้อยู่เสมอ 
          ไม่เพียงแต่การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในสังคมภายนอก การปรับตัวให้เข้ากับคนในแล็บ และวัฒนธรรมในแล็บก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเรามาจากคนละประเทศ แน่นอนว่าเรามีวัฒนธรรม ความเชื่อ และหลักการใช้ชีวิตแตกต่างกัน ดังนั้นในแล็บจะมีสิ่งที่เรียกว่า “กฎ” ให้ทุกคนปฏิบัติตาม นำมาซึ่งความเป็นระเบียบ ง่ายต่อการจัดการ และเกิดปัญหาน้อยที่สุด


 
       ภาษาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการสื่อสาร ในช่วงแรก ๆ อาจมีความกังวลอยู่ว่าจะพูดถูกหรือไม่ จึงทำให้ไม่กล้าพูด จึงไม่เกิดการสื่อสารมากนัก แต่เวลาผ่านไป หลังจากที่เราคุ้นเคยกับคนในแล็บ กับสิ่งแวดล้อม จะทำให้เรากล้าพูดกล้าทำมากถึง ถึงแม้อาจจะผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่อย่างน้อยเราได้พูด นั่นก็ถือว่าเป็นการพัฒนาแล้ว หรือบางครั้ง เราได้ยินคำศัพท์ที่เราไม่รู้จักก็ลองถามเขาได้เลยว่าคำนี้สะกดยังไง แล้วนำมาแปลภาษาก็จะทำให้เราสามารถจดจำคำเหล่านั้นได้ เมื่อเวลาผ่านไป เราได้ยินคำนั้นบ่อย ๆ ก็ทำให้เราสามารถรู้ความหมายของคำคำนั้นโดยไม่ต้องเครื่องมือแปลแปลภาษาค่ะ



การเข้าร่วมในโครงการครั้งนี้มีประโยชน์กับการเรียนของเราอย่างไรบ้าง?
        การไปฝึกงานในต่างประเทศในครั้งนี้ไม่เพียงแต่การฝึกปฏิบัติเฉพาะเทคนิคเท่านั้น แต่ยังได้ศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับการสังเกตุและวินิจฉัยโรค และการป้องกันโรค ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้เดิมที่ได้จากการเรียนในห้อง ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจมากขึ้นค่ะ



ประสบการณ์นี้ช่วยให้คุณมองอนาคตของเราอย่างไรบ้าง?
        หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้รับโอกาสมากมายในด้านการศึกษาต่อ ไม่ว่าการจะเป็นการศึกษาต่อในระดับปริญญาโททั้งในไทย และต่างประเทศ หรือทุนในการไปฝึกงานต่างประเทศ โดยมีทุนการศึกษา และค่าครองชีพสนับสนุนค่ะ

คำแนะนำสำหรับนิสิตที่สนใจฝึกงานต่างประเทศ
        การไปฝึกงานต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ ขอเพียงแต่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ อย่ากลัวที่จะถาม อย่ากลัวที่จะทำผิดพลาด เขาก็พร้อมจะมอบโอกาสให้เราเสมอ อีกทั้งยังต้องเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามา ทั้งผู้คน สังคม ภาษา และวัฒนธรรม เพื่อให้ง่ายต่อการปรับตัวและเรียนรู้ในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น



ข้อคิดดีๆในการดำเนินชีวิต
        อย่ากลัวที่จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ยังมีสิ่งดี ๆ รอเราอยู่ข้างหน้า และอย่าดูถูกตัวเองว่าไม่เก่งเลยไม่กล้าทำ จริง ๆ แล้วไม่มีใครเก่งที่สุดหรือแย่ที่สุด มีแต่คนที่กล้าทำและไม่กล้าทำเท่านั้นค่ะ

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   ถ่ายภาพ MSU TV : กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts