ในยุคที่ธุรกิจเพื่อสังคมกำลังเติบโต การเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมสมัยใหม่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ที่น่าทึ่ง ทีม มะค่าทรัพย์ทวี กลุ่มนิสิตสาขานิเทศศาสตร์  คณะวิทยาการสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือหนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จนี้ ด้วยไอเดียการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ถุงสมุนไพรแช่เท้า จากชุมชน ที่ไม่เพียงสร้างมูลค่าให้กับท้องถิ่น แต่ยังคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่ได้อย่างภาคภูมิ สาร MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปพูดคุย เพื่อได้รู้ถึงแรงบันดาลใจ แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงประสบการณ์ที่ทีมได้รับจากการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านบทสัมภาษณ์นี้  ตามเรามาค่ะ


แนะนำตัว 
        สวัสดีค่ะ  พวกเราทีม  "มะค่าทรัพย์ทวี"  มีสมาชิกในทีม ประกอบด้วย  นางสาวน้ำเพชร เพชรก้อน  นายบดินทร์ พาลี ,นางสาวแพรวา ชุ่มอภัย และ นายธีรยุทธ ชารีพันธ์  เราเป็นนิสิตสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ  โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์พวงชมพู ไชยอาลา แสงรุ่งเรืองโรจน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ค่ะ

รางวัลที่รับ 
        ทีม มะค่าทรัพย์ทวี  ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Business Pitching สุดท้าย (Final Business Pitching) Craft Idea ปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด “Empower Social Enterprise” ปลดล็อกไอเดียสร้างสรรค์ประชันแนวคิด นำธุรกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน จากไอเดีย "ถุงสมุนไพรแช่เท้า" จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ปลอดภัยจากสารเคมี ช่วยในการผ่อนคลายและแก้ปัญหารองช้ำ  จาก 12 ทีม ที่นำเสนอแผนธุรกิจพร้อมชุมชน ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท และเงินรางวัลของชุมชน จำนวน 50,000 บาท ที่ได้ร่วมสร้างสรรค์ 



สร้างสรรค์ไอเดีย "ถุงสมุนไพรแช่เท้า" จากภูมิปัญญาท้องถิ่น
        เนื่องเราได้มีการลงพื้นที่หลายครั้งและได้เห็นผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่ทางชุมชนเคยผลิต แต่เลิกผลิตไปแล้วเพราะไปเน้นผลิตแค่ตัวลูกประคบ แต่เมื่อเราศึกษาตลาดของผลิตภัณฑ์แล้วเราจึงเห็นว่าถุงสมุนไพรแช่เท้า มีความโดดเด่น และยังมีจุดขายที่สามารถนำไปพัฒนาต่อได้ จึงเป็นที่มาของการเลือกถุงสมุนไพรแช่เท้ามาสร้างสรรค์ไอเดียค่ะ



ช่วยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับขั้นตอนการพัฒนาแผนธุรกิจของทีมว่ามีวิธีการทำงานอย่างไรบ้างในการเชื่อมโยงกับชุมชน
        ในแผนที่เราได้ทำไว้ ก็คือเรามีการช่วยพัฒนาตัวโลโก้ให้ดูมินิมอล ทันสมัย และตัว Package ที่เราได้ออกแบบและเปลี่ยนให้มีความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ  ให้เหมาะกับการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย โดยในระหว่างพัฒนานี้ก็ได้มีการพูดคุย ลงพื้นที่กับชุมชนตลอด ทั้งการผลิตตัวสมุนไพรแช่เท้าเราก็ลองลงไปทำ ทำให้เกิดกิจกรรมระหว่างชุมชนและนิสิต พอเราลงไปทำตรงนี้ ชาวบ้านก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น  และก็มีการทำการตลาดทางออนไลน์ หลากหลายช่องทางเพื่อเพิ่มยอดขาย และการสั่งซื้อที่ง่ายขึ้น และได้มีการส่งต่อ สอนการใช้วาน การทำคอนเทนท์ให้กับคนในพื้นที่ในขั้นพื้นฐานไปบ้างค่ะ และในส่วนต่างๆทั้งตัวสมุนไพร ตัวถุงเราก็รับจากคนในชุมชน ดังนั้นชุมชนจึงมีรายได้หมุนเวียนกันตลอดค่ะ

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทีมของคุณเผชิญระหว่างการเตรียมการและการเสนอแผนธุรกิจในรอบสุดท้าย
คืออะไร
        ความท้าทาย คงเป็นเรื่องของการที่เราต้องแข่งกับทีมที่เรียนเกี่ยวกับการตลาดโดยตรง เพราะทีมเราส่วนมากคือถนัดและทำด้านการผลิตสื่อมากกว่าการทำแพลนเกี่ยวกับการตลาด มีเพื่อนที่เรียน PR Merketing ที่รู้เกี่ยวกับด้านนี้แต่ก็ไม่ได้ลึกเท่าทีมที่มีคนเรียนบริหารมาจริงๆ  มันเลยเป็นความท้าทายที่ว่าเราจะต้องมีข้อมูลและศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น ค่ะ



ประสบการณ์ที่เราได้รับในการร่วมงานกับชุมชนในครั้งนี้
        เราได้ประสบการณ์การทำงานด้วยกันกับผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละคนน่ารักมาก พร้อมช่วยเหลือให้ข้อมูลเราตลอดเวลา  และโครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานทำให้เราได้รู้จัก และสนิทกับคุณแม่ในชุมชนมากยิ่งขึ้นค่ะ พอเราได้รางวัลมาชุมชนก็ได้ด้วยมันเลยเป็นเหมือนกับความทรงจำดีๆที่ทั้งทีมเราและชุมชนรู้สึกค่ะ และก็ได้ประสบการณ์จากการแข่งขัน การได้เจอกับกรรมการที่เป็นระดับผู้บริหาร การเจอสื่อช่องใหญ่ ทำให้ทั้งเราและชุมชนตื่นเต้นแล้วก็มีความสุขในเวลาเดียวกันค่ะ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก



วิชาที่เรียนในสาขานิเทศศาสตร์ ช่วยในการพัฒนาแผนธุรกิจนี้อย่างไรบ้าง
        ช่วยเยอะมากเลยค่ะอย่างเอกหนูคือ PR Marketing & Communications  ก็จะมีเรียนเกี่ยวกับการวางแผนการตลาด การผลิตคอนเทนท์ต่างๆ แล้วยังมีการเรียนวิชาที่ต้องมีให้เราไปลงพื้นที่ทำให้เรามีประสบการณ์ในการพูดคุยกับคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้นค่ะ และในแต่ละรายวิชาจะมีการให้พรีเซนต์หน้าห้องตลอดดังนั้นพวกหนูค่อนข้างคุ้นชินกับการออกมาพูดหรืออธิบายสไลด์ต่างๆค่ะ



การได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ส่งผลอย่างไรต่อมุมมองของเรา เกี่ยวกับการเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อสังคม
        การเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ทำได้ค่อนข้างง่ายในปัจจุบันแต่จะทำให้ยั่งยืนนั้นทำได้ยาก เพราะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรรมการเพื่อนร่วมงาน หรือชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ และต้องคำนึงถึงสังคม ชุมชน มากยิ่งขึ้น ดังนั้นการจะเป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม จึงต้องมีความใส่ใจในทุกๆด้านค่ะ

ทีมมีแผนการต่อยอดไอเดียหรือผลิตภัณฑ์ถุงสมุนไพรแช่เท้านี้ในอนาคตอย่างไรบ้าง
        ในอนาคตก็จะมีการพัฒนาตัวแพ็คเกจให้ดูทันสมัยและสวยงามโดดเด่นมากยิ่งขึ้น และอาจมีการขยายช่องทางการขาย และแตกไลน์ผลิตภัณฑ์แช่เท้าออกเป็นกลิ่นต่างๆ ค่ะ



ในฐานะเป็นนิสิตสาขานิเทศศาสตร์  เล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมอย่างไร
        การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในทุกๆด้านเลยค่ะ เพราะเมื่อเราอยู่ใสังคมมและต้องการให้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของเรา เราจำเป็นต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจ และตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการสื่อสาร จะช่วยทำให้การสื่อสาร ของเรามีประสิทธิภาพากยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องมีการวางแผนในการสื่อสารดีๆเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง




เชิญชวนน้องๆ ที่สนใจมาเรียนที่สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลันมหาสารคาม
        เชิญชวนน้องๆทุกคนที่สนใจนะคะ มาเรียนที่สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่นี่ให้ความรู้และให้ประสบการณ์เยอะมากๆคะ  ดังนั้นใครที่ยังลังเลอยู่ ตัดสินใจได้เลยค่ะ  มาเรียนที่นี่ จะได้ทั้งความรู้ ความม่วนจอย และประสบการณ์สุดจึ้งแน่นอน  ทางสาขาของเรามีถึง 3 เอกให้เลือกตามความชอบความถนัด มาร่วมม่วนจอยเป็นชาวบ้าน “นิเทศ มมส”ด้วยกันนะคะ พี่ๆรออยู่ค่ะ

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts