ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกด้านของชีวิต บอร์ดเกมกลับมาสร้างกระแสความนิยมอีกครั้ง ทั้งในกลุ่มผู้เล่นรุ่นใหม่ และนักสะสมรุ่นเก่า การพัฒนารูปแบบบอร์ดเกม จึงกลายเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ทักษะการออกแบบ และความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้เล่น ซึ่งล้วนช่วยผลักดันวงการบอร์ดเกมให้มีสีสัน และความหลากหลายมากขึ้น โดยการพัฒนารูปแบบบอร์ดเกม มีความสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน เพราะบอร์ดเกมไม่ได้เป็นแค่เกมที่ให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่เกมยังเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการพัฒนาทักษะหลายด้าน ทั้งการวางแผน การคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา การออกแบบบอร์ดเกมรูปแบบใหม่ๆ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้เล่นที่หลากหลาย ทั้งในด้านอายุ ความสนใจ และทักษะที่ต้องการพัฒนา นอกจากนี้ การพัฒนารูปแบบบอร์ดเกมให้ทันสมัย และตรงกับความต้องการของผู้เล่น ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยง และมีปฏิสัมพันธ์ในโลกที่มักหันไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้บอร์ดเกมยังคงเป็นสื่อที่สร้างความผูกพัน และความสุขร่วมกันได้อย่างยั่งยืน


         
        เช่นเดียวกับนักวิจัยคนเก่ง ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอีกท่านหนึ่ง ที่มีความต้องการที่จะพัฒนารูปแบบการสร้างบอร์ดเกม เพื่อการศึกษาในประเทศไทย จากนวัตกรรมในชั้นเรียนสู่งานวิจัย และการเผยแพร่ผลงานระดับชาติ BOARD GAMES PRODUCTION MODEL FOR EDUCATION IN THAILAND ซึ่งจะเน้นที่การสร้างบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ซึ่งจะมีดีเทลในการออกแบบที่ลึกไปกว่าความสนุก เพราะเกมแต่ละเกมนั้นเราต้องนำเนื้อหาความรู้เข้าไปในเกมด้วย อีกทั้งยังต้องสอดแทรกกลยุทธ์การสอน พร้อมๆ กับคำนึงถึงพัฒนาการ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และความแตกต่างของลักษณะของผู้เรียนไปด้วยภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนีวรรณ ตั้งภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



ชื่อโครงการวิจัย
    การพัฒนารูปแบบการสร้างบอร์ดเกม เพื่อการศึกษาในประเทศไทย: จากนวัตกรรมในชั้นเรียนสู่งานวิจัยและการเผยแพร่ผลงานระดับชาติ BOARD GAMES PRODUCTION MODEL FOR EDUCATION IN THAILAND ผู้รับผิดชอบโครงการ:  รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนีวรรณ ตั้งภักดี

ที่มาของโครงการ และงานวิจัย

     ก่อนจะเริ่มพัฒนาผลงานวิจัยจนได้รูปแบบการสร้างบอร์ดเกม เพื่อการศึกษาในประเทศไทยนี้ มีที่มาจากโครงการพัฒนานวัตกรรมในชั้นเรียน ในรายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีการศึกษา ที่มีนิสิตเสนอโครงการมาพร้อมกับตัวเราเอง ก็เริ่มทำความรู้จักกับ Board Game ได้ลองเล่น ลองศึกษาแล้วพบว่า บอร์ดเกมเป็นสื่อเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่หมากรุก หมากล้อม จนมาถึงเกมเศรษฐี หรือ บันไดงู ที่ทุกคนต้องเคยได้เล่นได้มาบ้าง เสน่ห์สำคัญของบอร์ดเกมนั้น คือการสื่อสารแบบวาไรตี้ ส่งผ่านเรื่องราวผ่านลักษณะรูปร่างหน้าตาที่หลากหลายของเกม แต่แฝงไปด้วยกลไกเกม อย่างแยบยล ที่ผู้เล่นต้องใช้ความคิด ใช้กลยุทธ์ของตนเอง เพื่อตัดสินใจสิ่งต่างๆ ผ่านการเล่นด้วยตนเองอีกขั้นหนึ่ง บอร์ดเกมนั้น มีทั้งความยาก ความง่าย สร้างความท้าทายให้กลุ่มผู้เล่น ที่มีความชอบได้เล่นต่อไปเรื่อยๆ โดยมีจุดร่วมเดียวกัน ที่คงความเป็นเกมนั่นคือ ความสนุก ว่ากันว่าภาษาของเกมเป็นภาษาสากล ที่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกชาติ ทุกภาษา น่าจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมบอร์ดเกมจึงได้รับความนิยม อยู่ในทุกยุคทุกสมัย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ Marketeer Online ที่ได้นำสถิติจากเว็บไซต์ Statista มานำเสนอว่าในปี 2567 การเติบโตของตลาดบอร์ดเกมในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านบาท สอดคล้องกับตลาดบอร์ดเกมโลก ที่เติบโต และมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ



จากความน่าสนใจของบอร์ดเกมในมิติต่างๆ นี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้น

        ในการฟอร์มทีมพานิสิตไปประกวดแข่งขันในระดับประเทศ จนได้รางวัลชนะเลิศและรางวัลต่างๆ กลับมา ต้องขอบคุณตาล ชลธิชา ดาราก้านตรง มอส กิตติพศ แนวถาวร ไดร์ บำรุงศักดิ์ สาวิสิทธิ์  ศิษย์เก่า ETC ที่ช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้ภาควิชาและ อ.ป้อ ปุณยวัจน์ มาลากุล ณ อยุธยา โค้ชคนสำคัญ ที่แม้จะทำงานอยู่ต่างสาขาอาชีพ แต่ก็เป็นผู้ริเริ่มก่อร่างสร้างทีมมาด้วยกัน คอยให้คำปรึกษาทีมเรามาตลอดจนประสบความสำเร็จ คว้ารางวัลระดับประเทศได้ในหลายรายการ  จากประสบการณ์ประกวดที่ผ่านมา อาจารย์ก็ได้นำความรู้มาสอนนิสิตรุ่นหลังๆ พร้อมกับสร้างทีมประกวดมาเรื่อยๆ แล้วจึงมาพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ใน ปี 2565 ซึ่งโมเดลการสร้างบอร์ดเกม เพื่อการศึกษาของประเทศไทย ที่เป็นผลจากงานวิจัยได้รับความสนใจในวงการศึกษาทุกระดับเป็นอย่างมาก



 ความโดดเด่นของงานวิจัย

        บอร์ดเกมเหมือนน่านน้ำสากล ที่ผู้คนจากทุกแขนงทุกศาสตร์สาขา เข้ามาร่วมผลิตออกแบบพัฒนา ซึ่งในกระบวนการวิจัยนี้ ได้ออกแบบขั้นตอนการวิจัย โดยเน้นวิธีการที่นำมาซึ่งข้อมูล และความคิดเห็นจากกลุ่มคนที่หลากลาย และการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูล ที่มีคุณสมบัติ และประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญจริง เช่น นักออกแบบบอร์ดเกมอาชีพ ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ ทั้งสายโฆษณา การตลาด วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยากรฝึกอบรม ที่มีอายุแตกต่างกัน รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา ด้านนวัตกรรมการศึกษา  ด้านเกมการศึกษาสำหรับผู้เรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อรับความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทำให้งานนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


       
        งานวิจัยนี้ นอกจากสร้างขึ้น จากการทบทวนวรรณกรรมเอกสารงานวิจัยแล้ว ประสบการณ์ที่ผู้วิจัยได้รับจากการเป็นที่ปรึกษาช่วยนิสิต ในการสร้างบอร์ดเกมประกวดในรายการต่างๆ นับมา 10 เกม ทำให้เรารู้ความต้องการ และจุดที่เป็นปัญหาของนักพัฒนาบอร์ดเกมมือใหม่ ว่ายังขาดแนวปฏิบัติคำแนะนำตรงใดบ้าง
        ผลจากงานวิจัยนี้ จุดประกายให้คนในวงการศึกษา และวงการอื่นๆ หันมาสนใจบอร์ดเกมมากขึ้น เพราะมองเห็นแนวทางความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึงบอร์ดเกม เพื่อนำไปใช้ หรือ นำไปสร้างเองได้มากขึ้น



ความพิเศษของงานวิจัยเป็นอย่างไร

        มีงานวิจัย หนังสือ หรือ ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากมายเขียนถึงขั้นตอนในการสร้างบอร์ดเกมทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งมีเป้าหมายการสร้างเกม เพื่อความบันเทิงผ่อนคลายเป็นหลัก แต่รูปแบบการสร้างบอร์ดเกมในงานวิจัยเรานั้น เน้นที่การสร้างบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ซึ่งจะมีดีเทลในการออกแบบที่ลึกไปกว่าความสนุก เพราะเกมเราต้องพาเนื้อหาความรู้ไปด้วย ต้องสอดแทรกกลยุทธ์การสอน พร้อมๆ กับคำนึงถึงพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และความแตกต่างของลักษณะผู้เรียนไปด้วย ความพร้อมของสถาน ในการเล่นพร้อมกันจำนวนมากๆ ความพร้อมของครูที่จะใช้เกม ความพร้อมด้านงบประมาณ ที่จะผลิตเกมได้เอง ซ่อมบำรุงเกมเองได้ รายละเอียดเล็กน้อยๆ อะไรเหล่านี้ ที่ทำให้โมเดลการสร้างบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาของงานเราพิเศษว่าที่อื่น  เพราะเราใส่หัวใจของนักออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Designer) และจิตวิญญาณของความเป็นครูลงไปในงานดีไซน์นี้ด้วย
        ผลที่ได้จากการวิจัย คือ รูปแบบการสร้างบอร์ดเกม เพื่อการศึกษาในประเทศไทย ได้ถูกถ่ายทอดมาในลักษณะของ Cookbook หรือ ตำราทำกับข้าว ที่จะบอกตั้งแต่การเริ่มเตรียมองค์ประกอบ จนไปสู่ขั้นตอนปฏิบัติ โดยมีคำอธิบายพร้อมตัวอย่าง เพื่อจะช่วยให้คุณครู ผู้สอนในทุกระดับ หรือ ผู้สนใจที่ในวงการต่างๆ ได้สามารถออกแบบพัฒนา และสร้างบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาได้ด้วยตนเองได้



กลุ่มเป้าหมายของงานวิจัยคือกลุ่มใด

             งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัย R&D จึงมีกลุ่มเป้าหมายในการเก็บข้อมูลที่
หหลากหลาย ดังนี้
•  ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาในประเทศไทย 
•  ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ และเกมการศึกษา 
•  อาจารย์มหาวิทยาลัยสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หรือ คอมพิวเตอร์ศึกษา หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่มีประสบการณ์สอนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีผลงานวิจัย และหรือ ผลงานวิชาการที่เกี่ยวกับด้านบอร์ดเกม เพื่อการศึกษา หรือเกมการศึกษา 



•  ครูประจำการที่มีประสบการณ์สอน และใช้บอร์ดเกมในการสอนระดับประถมศึกษา หรือ ระดับมัธยมศึกษามาไม่น้อยกว่า 3 ปี  
•  นิสิตที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีคณะศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์ที่มีประสบการณ์การเล่นบอร์ดเกม มาไม่น้อยกว่า 1 ปี 
•  นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์/สื่อสารองค์กร ในหน่วยงานเอกชน ที่มีประสบการณ์การใช้บอร์ดเกมในองค์กร มาไม่น้อยกว่า 3 ปี ปัจจุบันมีการนำงานวิจัยไปทดลองใช้แล้ว หรือไม่ อย่างไร
•  รูปแบบการสร้างบอร์ดเกม เพื่อการศึกษาในประเทศไทยนี้ เป็นผลของการวิจัยที่แล้วเสร็จในปี 2565 อาจารย์ได้นำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในรายวิชา 0537213 - การออกแบบระบบการเรียนการสอน เพื่อการผลิตสื่อการศึกษา ที่เปิดสอนในภาคปลาย ปีการศึกษา 2566
•  โดยนิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษาได้ใช้รูปแบบนี้ ในการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาโดยสอดแทรกความรู้ความเชื่อของวัฒนธรรมอีสานได้ผลผลิตเป็นบอร์ดเกมที่เสร็จสมบูรณ์ 3 ชิ้นงาน ซึ่งบอร์ดเกมทั้งหมดได้เข้าร่วมการแข่งขันในโครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้



1. บอร์ดเกมไผซ่อนผี: Your Ghost is my ghost
    รางวัลชนะเลิศ นวัตกรรมโครงการHackathon: ISAN Culture Re-Creation
    รางวัลนวัตกรรมระดับเหรียญเงิน
2.  บอร์ดเกมผีอีสานย่านบ่น้อ: Isan Ghost Journey
     รางวัลนวัตกรรมระดับเหรียญทองแดง
     โครงการHackathon: ISAN Culture Re-Creation



3. บอร์ดเกมลำซิ่งชิงเงินล้าน
     รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมการเรียนรู้ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  
     มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2567
     จากนั้นในเดือนกรกฏาคม  2567 ผลงานบอร์ดเกมทั้งสามชิ้นนี้ได้ผ่านการคัดเลือกไปจัดแสดงใน งาน Isan Creative Festival 2024 ที่จัดโดย TCDC ซึ่งเป็นงานระดับชาติอีกด้วย
 

ปัญหา และอุปสรรคในการทำงานอย่างไรบ้าง

        ปัญหาด้านงบประมาณปัญหาด้านทรัพยากร บอร์ดเกมที่นำมาใช้สอนทั้งหมด ซื้อหามาด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว และจัดหาจากการหยิบยืมเครือข่ายคนรู้จัก 
        อาจเพราะยังไม่มีการจัดตั้งเป็นหน่วยวิจัย หรือ หน่วยงานปฏิบัติการที่เป็นทางการ ทำให้การสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัย หรือทางคณะยังไม่เป็นระบบนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์จะพัฒนาต่อไป



ทิศทางของบอร์ดเกมในการศึกษาจะพัฒนาไปอย่างไรอยากให้สนับสนุนอะไรบ้าง

        บอร์ดเกมการศึกษาในยุคต่อไปน่าจะผลิตได้ปริมาณมากขึ้น และเผยแพร่ผ่านหลายแพลตฟอร์ม ที่หลากหลายได้มากขึ้น เนื่องจากกระบวนการออกแบบ และการผลิตมี AI เป็นตัวช่วย ระบบโลจิสติกส์ก็มีความสะดวกสบายมากขึ้นการซื้อขายสั่งผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในเกมทำได้ง่ายกว่าเดิม
        การสร้างบอร์ดเกมการศึกษาสำหรับคุณครู Generation ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว รวมถึงเป็นผู้เล่นมาก่อน จะช่วยให้การใช้หรือการสร้างบอร์ดเกมในการศึกษาเติบโตมากขึ้น
        นอกจากบอร์ดเกมจะช่วยเป็นสื่อการสอนถ่ายทอดความรู้ เสริมสร้างทักษะในชั้นเรียนปกติแล้ว ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มการศึกษาพิเศษที่มีความน่าสนใจ ในการออกแบบพัฒนาบอร์ดเกม เพื่อเสริมทักษะเฉพาะกลุ่ม



เราจะสามารถนำงานวิจัยลงสู่ชุมชนได้อย่างไรบ้าง

        ส่วนรูปแบบที่ได้ทดลองใช้ไป เราได้โชว์เคสให้เห็นแล้วว่า สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ในทุกโจทย์ และตัวบอร์ดเกมเอง ก็ไม่ได้มีขอบเขตแค่เพียง Learning Innovation แต่ยังเป็น Social Innovation ได้ด้วย  จากผลของงานวิจัย ที่นำพาเราไปรู้จักเครือข่ายบอร์ดเกมในวงการต่างๆ ในอนาคต ก็อยากจะคอลแลป กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจะทำประโยชน์ ให้ชุมชน สังคม ในมิติอื่นๆ ได้มากขึ้น นิสิตเราเองก็จะได้มีประสบการณ์ ในการร่วมงานกับผู้คนต่างสาขาเพิ่มเติมไปด้วย
        ตอนนี้เรามีการสร้าง Facebook Fanpage:  ETC-MSU Board Game Design Lab ที่จะเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับกลุ่มคน หรือองค์กรที่สนใจ เราก็ยินดีพร้อมเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ให้ความรู้ และฝึกทักษะการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ให้บริการวิชาการเกี่ยวกับบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ให้หน่วยงานภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งการเข้าไปให้คำปรึกษาที่โรงเรียน, นำบอร์ดเกมที่สร้างมาขอคำแนะนำ,จัดบรรยาย Workshop ให้อาจารย์และนิสิตนักศึกษาในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอก ยังมีค่ายบอร์ดเกม หรือ ชุมนุมบอร์ดเกม ที่ยังเป็นสิ่งที่อยากจะทำ หากท่านใดสนใจกดติดตามได้ตามเพจ เผื่ออัปเดทข่าวสารกิจกรรมกัน
  

ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

        อย่ากลัวที่จะไปในจักรวาลที่เราไม่เคยไป การออกไปชื่นชมพื้นที่ทางวิชาการ ในศาสตร์สาขาอื่นบ้าง อาจทำให้เราค้นพบเส้นทางใหม่ ไอเดียใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ มีคนเก่งๆ ในด้านต่างๆ อีกมากมายที่จะช่วยเติมประสบการณ์ชีวิตให้เราได้เติบโตขึ้น ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่า โลกปัจจุบันทุกศาสตร์สามารถเกื้อหนุน ร่วมทำงานสร้างสรรค์ ความรู้ทำประโยชน์ ให้แก่มวลชนไปด้วยกันได้ 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน

ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Facebook Fanpage:  ETC-MSU Board Game Design Lab
 
 
 

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  Facebook MahasarakhamUni :   https://www.facebook.com/hashtag/boardgameeducation

Related Posts