ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็กลายมาเป็นส่วนสำคัญในทุกภาค
ส่วนของสังคม โดยเฉพาะในวงการการศึกษา ซึ่งการเตรียมพร้อมสำหรับนิสิตครูให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยี และ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง อีกทั้งมีความจำเป็นที่เขาเหล่านั้นจะสามารถนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ประกอบการผลิตสื่อ การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนในปัจจุบัน 


       
       สำหรับการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีร่วมสมัยและ AI สำหรับนิสิตครูเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นิสิตครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขาเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้นำทางการศึกษาในอนาคต ที่สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหลากหลายและตรงตามความต้องการของนักเรียนแต่ละคนในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนีวรรณ ตั้งภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในรูปแบบการเรียนสอนเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีร่วมสมัยและ AI สำหรับนิสิตครู

ชื่อโครงการ
iUp EDU Model: รูปแบบการเรียนสอนเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีร่วมสมัยและ AI สำหรับนิสิตครู

กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย
      งานวิจัยนี้มีที่มาจากสองประเด็นสำคัญ คือประเด็นแรก งานวิจัยนี้เกิดจากจากความตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานในทุกวงการอาชีพ แม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่กำลังมาแรงในปีนี้ วงการศึกษาที่เป็นต้นน้ำแห่งการพัฒนามนุษย์ก็เช่นกัน ที่บุคลากรทางการ ศึกษาไม่ว่าระดับใดก็มีความจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ทักษะเหล่านี้ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนการสอนในรายวิชา 0530101 นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารทางการศึกษา ซึ่งเป็นวิชาชีพครูบังคับ ที่นิสิตหลักสูตร กศ.บ. การศึกษาบัณฑิต ทุกคน จาก 11 หลักสูตร 4 คณะ จะต้องเรียนในชั้นปีที่ 1 ซึ่งนิสิตเหล่านี้ คือ ว่าที่ครู หรือ นักการศึกษาในอนาคตที่มีความจำเป็นต้องมีความรู้ และทักษะการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยและ AI ใน คอร์สเอาท์ไลน์ของรายวิชานี้ จึงกำหนดให้ 5 สัปดาห์หลังสอบกลางภาคเป็นการ Workshop  เพื่อติดตั้งความรู้ และทักษะใหม่ๆ ดังกล่าว แต่ไอเดียนี้มีความ เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ จากปัญหามีผู้เรียนจำนวนมาก มีจำนวนอาจารย์ผู้สอนน้อย และยังมีภาระงานมาก จำนวนทรัพยากรน้อย และขาดความพร้อม ทำให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหา ดังกล่าว โดยการมีเพิ่มผู้ช่วยสอน แต่ก็ไม่มีงบประมาณในการว่าจ้างผู้ช่วยสอนในจำนวนมากแบบประจำ



ประเด็นที่สอง งานวิจัยนี้เกิดจากความต้องการพัฒนาผู้ช่วยสอนที่ดี ให้ได้จำนวนที่มากในเวลาอันรวดเร็ว จึงได้บูรณาการกับรายวิชา 0503 343 วิธีวิทยาการสอนคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับที่ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน สำหรับที่นิสิตสาขาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา ชั้นปีที่ 3 โดยตามเงื่อนไขของรายวิชานี้ นิสิตจะต้องสอบปฏิบัติการสอนคอมพิวเตอร์และทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนให้ผ่าน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการผู้ช่วยสอนในรายวิชา 0530101 ของภาควิชาฯ ด้วยทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยที่ผู้วิจัยในฐานะผู้รับผิดชอบในรายวิชา 0503 343  วิธีวิทยาการสอนคอมพิวเตอร์ จะออกแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างไร ที่จะสามารถสร้างผู้ช่วยสอนที่มีความสามารถในการสอน และมีพฤติกรรมการเป็นผู้ช่วยสอนที่ดีได้ โดยผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิดทฤษฎีต่างๆ และพิจารณาร่วมกับบริบทสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ พบว่า แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบประสบการณ์ (Experiential Learning) ด้วยการฝึกทักษะการสอนในสถานการณ์จริง และกลยุทธ์การสอนร่วม (Co-teaching strategies) จะช่วยให้นิสิตช่วยสอนมีทักษะที่หลากหลาย และสามารถนำความรู้ ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสถานการณ์การสอนจริงได้ จึงเป็นที่มาของการสร้างโมเดลการสอน การทดลองใช้และการศึกษาผลการใช้ iUp EDU Model: รูปแบบการเรียนสอนเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีร่วมสมัยและ AI สำหรับนิสิตครู นี้ขึ้น

ความโดดเด่นของงานวิจัยเป็นอย่างไร
        สำหรับความโดดเด่นของงานวิจัยนี้ iUp EDU Model เป็นการใช้แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบประสบการณ์(Experiential Learning - EL) ร่วมกับกลยุทธ์การสอนร่วม (Co-teaching strategies) มาสร้างโมเดลการสอน ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสลงมือทำ คิดวิเคราะห์ และสะท้อนความคิดในกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งส่งผลให้การเรียนรู้มีความลึกซึ้งและยั่งยืนมากขึ้น ส่วนกลยุทธ์การสอนร่วม ทำให้เกิดการแบ่งบทบาทในทีมผู้สอน เช่น มีอาจารย์หลัก ผู้ช่วยสอน และผู้ช่วยของผู้ช่วยสอนที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่างกันนั้น ก็ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน การพัฒนาทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะการช่วยเหลือปลูกปั้นผู้ช่วยสอนที่อาจมีประสบการณ์น้อยผ่านการทำงานร่วมกับอาจารย์ประจำวิชาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ กิจกรรม Micro-Teaching และ Teaching Practice ใน iUp EDU Model ที่พัฒนาขึ้นเป็นจุดเด่นสำคัญที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสอนในสถานการณ์ที่จำลองและสถานการณ์จริง ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการสอน การแก้ไขปัญหา และการรับฟีดแบ็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนมีความมั่นใจและเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น
          iUp EDU Model มีการใช้เทคนิควิธีการสอนที่หลากหลายในแต่ละสัปดาห์ เช่น การสัมภาษณ์ครูประจำการในโรงเรียนจริงๆ (Bingo Interview), การออกแบบแลปคอมพิวเตอร์ (Computer Lab Design), การแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านวิธีการสอน (Expert Sharing) จากรุ่นพี่ที่เป็นครูประจำการและการทบทวนแผนการสอน ทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ที่หลากหลายและสามารถเรียนรู้ได้จากหลายมิติ อีกทั้งยังมีการสะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) อย่างต่อเนื่องในแต่ละสัปดาห์ ผ่านวงจรการเรียนรู้ (Learning Cycle) ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนตระหนักถึงความก้าวหน้าของตนเองและปรับปรุงการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ iUp EDU Model มีกระบวนการเก็บข้อมูลและประเมินผลการสอนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนเห็นภาพรวมของพัฒนาการและสามารถปรับปรุงกระบวนการสอนในอนาคตได้



ความพิเศษของงานวิจัยเป็นอย่างไร
iUp EDU Model ที่เป็นผลจากการวิจัย สามารถช่วยติดตั้งความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ให้นิสิตครูชั้นปีที่1 กว่า 1,000 คน ใน 25 กลุ่มเรียน จาก 11 หลักสูตรการศึกษาบัณฑิตของทั้งมหาวิทยาลัยได้ในหนึ่งภาคเรียน ซึ่งนิสิตจะนำความรู้และทักษะพื้นฐานนี้ไปใช้ในการเรียนในรายวิชาอื่นๆ รวมถึงการทำงานหารายได้พิเศษ และการทำงานในอนาคตได้ 
iUp EDU Model มีความเป็นพลวัต (Dynamic) และยืดหยุ่น (Flexible) สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์และเนื้อหาที่จะมากำหนดเป็นหัวข้อการสอนใหม่ๆ ได้ทุกปี การสอนใช้เครื่องมือจะมีหัวข้อหลักตรงกันทุกกลุ่มการเรียน แต่การมอบหมายชิ้นงานจะปรับตามบริบทการใช้งานของสาขากลุ่มเรียนนั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับเทคโนโลยีและสมรรถนะของครูที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น หัวข้อหลักในปีนี้ มี 5 เรื่อง สำหรับ 5 สัปดาห์ ได้แก่ (1) AI for Presentation (2) Online Tools ft. AI  (3) Generative AI (4) AI for Production และ  (5) AI for Website
iUp EDU Model จะนำไปใช้อย่างประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ความเสียสละ ความอดทนของคณาจารย์อาจารย์ประจำทีมที่ร่วมทำหน้าที่ Coaching, Mentoring และร่วมประเมินให้ Feedback แก่นิสิตในทีม

กลุ่มเป้าหมายของงานวิจัยคือกลุ่มใด
       สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ก็จะเป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชา 0503 343 วิธีวิทยาการสอนคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 คน  อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่สอนในรายวิชา 0530101 นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางการศึกษา จำนวน 8 คน นิสิตสาขาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา ชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชา 0503 343 วิธีวิทยาการสอนคอมพิวเตอร์ และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนในรายวิชา 0530 101 นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางการศึกษา ในปีการศึกษา 2566  จำนวน 37 คน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 55 คน นิสิตชั้นปีที่ 1 หลักสูตรการศึกษาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชา 0530101 ในปีการศึกษา 2566 ทั้งหมด 22 กลุ่มเรียน จำนวน 586 คน ปีการศึกษา 2567 ทั้งหมด 25 กลุ่มเรียน จำนวน 818  คน



ปัจจุบันมีการนำงานวิจัยไปทดลองใช้แล้วหรือไม่ อย่างไร
       ในปัจจุบันอาจารย์ได้นำโมเดลการสอนนี้ไปทดลองแล้วในปี 2566 ผลวิจัยก็เป็นไปในทางที่ดี ทั้งความพึงพอใจของผู้เรียนที่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด ความสามารถในการสอน และพฤติกรรมการเป็นนิสิตช่วยสอนที่อยู่ในระดับดีมากจากผลการประเมินโดยอาจารย์ประจำวิชา 101 และนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษาประเมินตนเอง ส่วน Feedback เพิ่มเติม นิสิตชั้นปีที่ 1 ให้ข้อมูลว่าสามารถนำความรู้ทักษะไปใช้ในรายวิชาอื่นๆได้ การเรียนกับรุ่นพี่ปี 3 ที่เป็นนิสิตช่วยสอนที่มีวัยใกล้เคียงกันทำให้กล้าถาม กล้าขอความช่วยเหลือหากปฏิบัติไม่ได้ แต่การมีอาจารย์ประจำวิชาที่อยู่ในห้องด้วยก็ช่วยอธิบายให้ความชัดเจนในข้อสงสัยที่พี่นิสิตช่วยสอนตอบไม่ได้และให้คำแนะนำเพิ่มเติมนอกจากบทเรียนได้อีก โดยผลการวิจัยและโมเดลการสอนในปี 2566 กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการตีพิมพ์บทความ ส่วนภาคต้น ปีการศึกษา 2567 นี้ ก็กำลังดำเนินการทดลองใช้โมเดลที่ปรับปรุงจากปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เริ่มเห็นข้อค้นพบใหม่ๆ แล้ว

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างไรบ้าง
       ปัญหา และอุปสรรคก็จะมีผู้ที่เข้ามาเรียนจำนวนมาก มีจำนวนอาจารย์ผู้ สอนน้อย และยังมีภาระงานมาก จำนวนทรัพยากรน้อยและขาดความพร้อม 

ระบบการศึกษาในด้าน IT ควรปรับปรุง หรือ พัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้างอย่างไรเพื่อเตรียมนิสิตให้พร้อมกับตลาดแรงงานในอนาคต?
ระบบการศึกษาในด้าน IT ควรปรับปรุง หรือนั้น ผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์จะนำมาซึ่งนโยบาย แผน งบประมาณ ทรัพยากรที่พร้อมและทันสมัย กำลังคนที่มีคุณภาพ หากขาดความเชี่ยวชาญควรมีทีมที่ปรึกษาทางITที่ดี เพื่อการปรับตัวได้ไวอย่างมีทิศทาง ทำให้การลงทุนกับทรัพยากรทาง IT ในหน่วยงานเพียงพอ พร้อมใช้ คุ้มค่ายั่งยืนสถาบันการศึกษาควรสนับสนุนการสร้างเครือข่าย ทำความร่วมมือมีพาร์ทเนอร์กับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน หรือ ภาคประชาชน มาช่วยจะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดได้อย่างรวดเร็วเท่าทันโลกภายนอกมากขึ้น โครงการความร่วมมือต่างๆ อาจมีตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย คณะ ภาควิชา สาขา หลักสูตร ลงไปจนถึงรายวิชาได้ การมีข้อมูลที่อัปเดต และเป็นระบบเกี่ยวกับความต้องการจากตลาดแรงงานในอนาคตทั้งจากศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาไป และผู้ใช้บัณฑิตที่สะท้อนปัญหา และความต้องการในลักษณะของข้อมูลเชิงลึก จะช่วยให้สถาบันการศึกษานั้น พบ Gap หรือ Pain Point ที่ชัดเจน ที่หลักสูตรจะนำมาพัฒนานิสิตได้อย่างมีทิศทางการมีหน่วยงานสนับสนุน IT for Learning ที่ดี ที่ไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐานทางIT


        และมีเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนด้านการออกแบบการเรียนการสอน ออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม มีความสามารถในการเสาะแสวงหานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือดีลผู้เชี่ยวชาญแบบมืออาชีพ ที่มีความรู้ ทักษะการถ่ายทอดที่ดีมีคุณภาพ จะช่วยให้อาจารย์ นิสิต และเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ สามารถอัพสกิลได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนหน่วยงาน หรือ ผู้จัดโครงการฝึกอบรมต่างๆ ควรมี Empathy ในการจัดโครงการ มีจิตวิญญาณในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงการที่พัฒนาคน ไม่ใช่โครงการที่แค่จัดให้เสร็จ การจะจัดให้สำเร็จ แต่ต้องใส่ใจทั้งดีเทลคนเข้าร่วม การคัดเลือกคนถ่ายทอดความรู้ การออกแบบวิธีการ การเลือกรูปแบบการประเมินที่วัดผลได้ จัดให้บรรลุเป้าหมาย ลดความซ้ำซ้อน ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ เชื่อมต่อกับฝ่ายบริหารในการจัดหาสิ่งที่ให้มาอบรมแล้วสามารถนำกลับไปใช้งานได้จริงความพอเพียงความพร้อมเป็นด่านแรกของการเข้าถึงเทคโนโลยี การจัดหาและการบำรุงรักษา ทรัพยากรก็เป็นสิ่งสำคัญมากไม่แพ้กัน อยากให้องค์กรและหน่วยงานตระหนักถึงสิ่งนี้ด้วย ความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากเจ้าหน้าที่IT แล้ว เจ้าที่พัสดุ การเงิน แผน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ควรต้องอัปเดตไปพร้อมๆกัน

อาจารย์คิดว่าเราจะสามารถนำงานวิจัยลงสู่ชุมชนได้อย่างไรบ้าง
       โมเดลการสอนนี้ สร้างมาเพื่อสร้างนิสิตช่วยสอนไปสอนความรู้ และพัฒนาทักษะเทคโนโลยีร่วมสมัย และ AI สำหรับนิสิตครู ซึ่งสาขาคอมพิวเตอร์ศึกษาในสถาบันอื่นอาจนำไปปรับใช้ได้ง่าย เพราะมีการออกแบบการสอนไว้ 16 สัปดาห์ครบทั้งภาคเรียนแต่หากจะนำโมเดลนี้ไปใช้สร้างนิสิตช่วยสอนเพื่อไปสอนความรู้และทักษะเทคโนโลยีร่วมสมัย และ AIให้คนในกลุ่มอาชีพต่างๆ อาจจะต้องมีการปรับเนื้อหาบางส่วน ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่นิสิตช่วยสอนจะไปสอนจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง
       ปัญหาในการทำงานมีอยู่ทุกที่ เราเป็นนักวิชาการ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้วนั้น เราจะเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่ที่ตัวเองดูแลให้ดี เช่น ในชั้นเรียนในรายวิชาของเรา สาขาภาควิชาของเราขึ้นก่อน ค่อยขยับขยายไปสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้น ท้าทายตัวเองในโจทย์ที่ใหญ่ขึ้น หรือพื้นที่ภายนอก จะทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ใหม่ ได้บทเรียนแล้วเติบโตได้ไวขึ้น 
                    
 ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
FB: AjIng MSU
         เบอร์โทรศัพท์ 043 713714
               

Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์ /ภาพจากงานโทรทัศน์

Related Posts