Experiential Learning Project (ELP) โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและนักวิจัยรุ่นใหม่ได้สัมผัสประสบการณ์จริงในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในระดับสากล โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีใจอยากเป็น CEO ที่พร้อมจะเปิดตลาดและสร้างคอนเนกชันที่กว้างไกล วันนี้ สาร MSU ONLINE  เราได้พูดคุยกับ นางสาวชลดา บุญย้อย นิสิตสาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเธอคือ 1 ใน 6 ตัวแทนนักศึกษาไทย  ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในโครงการ Experiential Learning Program (ELP)  ณ ประเทศสิงค์โปร์  โดยเธอจะมาบอกเล่าเรื่องราวและแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ  ที่ได้รับจากเข้าร่วมโครงการนี้  ตามเรามาค่ะ



แนะนำตัว 
        สวัสดีค่ะ ชื่อ นางสาวชลดา บุญย้อย นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขา ภาษาอังกฤษธุรกิจ  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามค่ะ ดิฉันได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 ตัวแทนนิสิตจากประเทศไทย ในโครงการ Experiential Learning Project (ELP)  ที่ได้ไปศึกษาดูงานเรื่องการเป็นผู้ประกอบการที่ Nanyang Polytechnique ประเทศสิงค์โปร์ ค่ะ



ชื่อโครงการที่เราเข้าร่วม  
        Experiential Learning Program (ELP) เป็นโครงการ การเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเร่งการเป็นผู้ประกอบการ จากสถาบันอุดมศึกษาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรระหว่างประเทศ ซึ่งดิฉันได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน 1  ใน 6 นักศึกษาไทย จากทั้งหมดที่ร่วมโครงการ 35 คน จากนักศึกษาจากหลายๆ ประเทศ  ซึ่งได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการ Experiential Learning Project (ELP) ที่ประเทศสิงค์โปร์ ค่ะ
        โครงการ Experiential Learning Project (ELP) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างนักศึกษาและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ให้สามารถเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาด แบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม จากบริบททั้งในและต่างประเทศ โครงการสำหรับนักศึกษารุ่นใหม่ที่มีใจอยากเป็น CEO มองหาการเปิดตลาดและสร้างคอนเนกชันให้กว้างกว่าเดิม พร้อมทั้งได้รับประสบการณ์ที่น่าจดจำจากการเดินทางไปต่างประเทศ โดยจะมีประเทศที่เข้าร่วมกว่า 5 ประเทศ  โดยแต่ละประเทศก็เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการทำ Strat up ทั้งนั้น ได้แก่ สิงค์โปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี และ ฝรั่งเศส โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 35 คนก็จะถูกแบ่งออกเป็นประเทศละ 6 คน ตามธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น หากใครทำธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มก็จะได้ไปประเทศเกาหลีและได้ไปศึกษางานที่ Souel Food tech ที่มหาวิทยาลัยแแห่งชาติเกาหลี เป็นต้น ค่ะ



เรามีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อเข้าร่วมโครงการนี้  
        การเตรียมตัวเข้าโครงการนี้ส่วนตัวค่อนข้างจะยาวนานค่ะ เพราะ มีความชอบเรื่องการแข่งขันธุรกิจเป็นทุนเดิมตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 อาจารย์ประจำสาขาภาษษอังกฤษธุรกิจทุกคนพยายามสร้าง business ecosystem ให้นิสิตเสมอค่ะ เวทีแรกที่รู้ตัวว่าชอบการแข่งขันมากคือ “finding the unicorn”ค่ะ ถ้าไม่มีเวทีนี้เราก็อาจจะยังหาตัวเองไม่เจอว่าเราชอบธุรกิจขนาดไหน ขอบคุณอาจารย์ประจำสาขาทุกท่านที่มีโครงการดี ๆ แบบนี้ให้นิสิตได้ค้นหาตัวเองมากค่ะ ขอบคุณอาจารย์ อัมพิกา ภัทรพงศานติ์ ที่ช่วยผลักดัน ขัดเกลาทั้งงานและให้กำลังใจเมื่อยามที่เราท้อและจะถอดใจ เพราะเส้นทางที่ส่วนตัวเราเจอไม่เคยสมหวังเลย จนได้เข้าร่วมโครงการExperiential Learning Program (ELP) และได้เจอกับรุ่นพี่ ป.โท คณะบริหารธุรกิจ นายปริญญา เลิศประเสริฐ  ที่ช่วยต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจของเราให้มีสมบูรณ์มากขึ้นจนทำให้เราได้ไปยืนเวทีระดับประเทศในหลายครั้ง และขอบคุณ UIC MSU ที่มีกิจกรรมดี ๆ แบนี้ให้กับนิสิตทุกคนค่ะ



บรรยากาศการแข่งขันเป็นอย่างไรบ้าง
        การแข่งขันในแต่ละช่วงค่อนข้างแตกต่างกันในเรื่องของความตึงเครียดค่ะ มีรอบ base camp ที่มหาวิทยาลัย และหาตัวแทนเพื่อเข้าไปต่อในรอบ regional ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ความตึงเครียดของรอบนี้ค่อนข้างโดดขึ้นมา เพราะเราต้องเจอกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากกองทุนระดับประเทศทั้งนั้น  เราอัตราการเข้ารอบค่อนข้างต่ำกว่ารอบมหาวิทยาลัย และในรอบระดับประเทศที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นรอบที่เราต้องมั่นใจในตัวเองมากที่สุดค่ะ  เพราะคณะกรรมการคือผู้ใหญ่ในวงการธุรกิจในไทยและได้เจอกับนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทยหลายคน แต่ทุกรอบสิ่งที่ดีมากคือสิ่งแวดล้อมของคนรอบข้างค่ะ ทุกคนพยายามช่วยเหลือกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ



ช่วยเล่าถึงประสบการณ์และความประทับใจที่ได้ร่วมโครงการนี้
        ความประทับใจในโครงการมีตั้งแต่รอบแรก ๆ เลยค่ะ เราได้รู้จจักกับเพื่อน รุ่นน้อง รุ่งพี่ในมหาวิทยาลัยที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันและนำเรื่องที่สนใจและถนัดมาช่วยเหลือในงานของกันและกัน ในรอบระดับประเทศที่ต้องสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับคณะกรรมการก็มีการติวให้กันก่อนเข้าสัมภาษณ์จริง เป็นสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างเป็นมิตรมากค่ะเหมือนไม่ได้มาแข่งขันกันเลย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศสิงค์โปร์ค่ะ เรามี incubators ประเทศสิงค์โปร์ที่น่ารักมาก ๆ ค่ะ ทั้งพี่ ๆ Coordinator ก็ช่วยดูแลเราดีมากค่ะ การได้ไปประเทศสิงค์โปร์เป็นการเปิดแง่มุมและมุมมองหลายอย่างของเราค่ะ ว่าการทำธุรกิจหรือการเป็นผู้ประกอบการที่ดีและยั่งยืนควรจะคิดยังไง ความสำคัญของ Ecocsystem ดียังไง และการได้ไปใช้ชีวิตคลุกคลีกับนักเรียนธุรกิจสิงค์โปร์เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใด เราได้เห็นประเทศสิงค์โปร์ในแง่มุมที่ลึกไปยันรากว่าทำไมประเทศเล็ก ๆ ถึงพัฒนาได้ไวและมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมากมายค่ะ



ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ 
        การได้เข้าร่วมโครงการอันดับแรกคือ เราจะได้เจอคนที่เราไม่เคยได้เจอหรือคิดว่าอาจจะไม่ได้เจอค่ะ เราจะได้ connection ตั้งแต่คนที่อยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันแต่อยู่คนละคณะได้รู้จักกับเพื่อนที่มาจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วฟ้าเมืองไทยที่มีความชอบแบบเดียวกัน มี Passion ที่คล้ายกัน ไปจนถึงนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทยที่มีชื่อเสียง การมาเข้าร่วมโครงการนี้ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรเลยแม้แต่บาทเดียวแต่สิ่งที่เราได้มันมีค่ามากกว่าการได้ไปต่างประเทศแต่คือการที่เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น การได้ฝึกฝนในการจัดการเวลา และได้พัฒนาตัวเองในหลายแง่มุม และสิ่งที่สำคัญคือทำให้เราเชื่อและศรัทธาในความพยายามและความอดทนค่ะ


ข้อคิดดีๆ ที่เราใช้ในการดำเนินชีวิต
        การได้เข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเป็นรางวัลของการไม่หยุดพยายามเลยค่ะ ข้อคิดที่เราใช้ในชีวิตทุกวันคืออย่าหยุดพยายามค่ะ เพราะเราเชื่อว่า ความพยายามและไม่ล้มเลิกความตั้งใจจะพาเราไปยังจุดหมายที่เราตั้งไว้ในสักวันค่ะ 

ช่วยฝากถึงเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่สนใจอยากร่วมโครงการนี้ในปีต่อๆไปต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
        หากใครสนใจเข้าร่วมประสบการณ์แบบพี่ หรือ อยากเป็น 1 ใน 35 นักศึกษาไทยที่ได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศก็สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เพจ Facebook ของ UIC MSUได้เลยค่ะ
        ปี้นี้ได้ข่าวว่าน้อง ๆ เริ่มเข้า basecamp 1 แล้ว เตรียมตัว เตรียมใจ สำรวจตัวเอง จัดสรรเวลา และขอให้มั่นใจในตัวเองมาก ๆ นะคะ หรือถ้าอยากได้คำแนะนำเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามพี่ได้ใน Facebook: Nuy Chon ได้ค่ะ พี่พร้อมที่จะให้คำแนะนำเสมอค่ะ :)

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts