นักวิจัย มมส ประดิษฐ์ตู้อบรมร้อน เพื่อบริการวิชาการลงชุมชนในโครงการจัดอบรมความรู้ด้านวิศวกรรม เรื่อง“การถ่ายทอดความรู้ทางด้านตู้อบลมร้อน ให้กับผู้ประกอบการเพื่อการพัฒนาก่อให้เกิดความเข้มแข็ง” ประจำปีงบประมาณ 2567อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และการเก็บรักษาที่สะดวก และได้ยาวนานมากขึ้น ด้วยตู้อบรมร้อน ประดิษฐ์โดย รศ.ดร.เกียรติสิน กาญจนวนิชกุล อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมทีมวิจัยที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมโครงการ
ชื่อโครงการ /ชื่อ-สกุล ผู้รับผิดชอบ
โครงการจัดอบรมความรู้ด้านวิศวกรรม เรื่อง“การถ่ายทอดความรู้ทางด้านตู้อบลมร้อน ให้กับผู้ประกอบการเพื่อการพัฒนาก่อให้เกิดความเข้มแข็ง” ประจำปีงบประมาณ 2567 หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ: ฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.เกียรติสิน กาญจนวนิชกุล
กล่าวถึงที่มาของโครงการบริการวิชาการชุมชน
ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของสินค้าทางการเกษตร คือ เมื่อมีผลผลิตออกมาพร้อมกันในปริมาณมาก ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด ราคาตกต่ำลง ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงทุนไป วิธีการแก้ไขปัญหานี้ วิธีหนึ่งก็คือ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าและเก็บรักษาไว้ได้นาน วิธีการแปรรูป มีหลายวิธี วิธีที่นิยมกัน ก็คือ การทำแห้ง (drying) ซึ่งเป็นการลดปริมาณน้ำในผลิตภัณฑ์ให้เหลือปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตและยืดอายุการเก็บรักษาได้นาน ถึงแม้ว่า วิธีการทำแห้งที่ประหยัด คือ การทำแห้งโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Drying) แบบโดยตรง นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง โดยผลิตภัณฑ์ที่อบแห้งจะอยู่ภายใต้วัสดุโปร่งใส แต่ก็มีข้อเสีย คือ ใช้เวลานานและไม่เหมาะกับวันที่มีแสงแดดน้อยหรือแสงแดดไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น ตู้อบลมร้อน จึงเป็นวิธีการอบแห้งที่มีข้อดี คือ ประหยัดเวลา อบแห้งได้สม่ำเสมอ ไม่มีความชื้นคงค้าง ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังสามารถปรับอุณหภูมิได้ถึง 90 องศาเซลเซียสและควบคุมให้อุณหภูมิคงที่ได้ ผลิตภัณฑ์ที่อบแห้งสะอาดไม่มีสิ่งปนเปื้อนจากมลภาวะภายนอก รวมถึงแมลงวันและแมลงพาหะต่างๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้จัดโครงการเพื่อถ่ายทอดความรู้ตู้อบลมร้อน ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการอบแห้งเนื้อและแปรรูปเนื้อต่อไป ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเข้มแข็งและเป็นการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการในอนาคตต่อไป
ทำไมจึงเลือกที่จะบริการวิชาการด้วยเรื่องของ ตู้อบลมร้อนแก่ชุมชนนี้
เนื่องจาก ผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนผลิต และแปรรูปเนื้อโคตำบลเขวาไร่ มีการเลี้ยงโคจำนวนมาก และในปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายในรูปแบบสดและแช่แข็ง อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และการเก็บรักษาที่สะดวก และได้ยาวนานมากขึ้น ผู้ประกอบการ และ ฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ จึงได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยสรุปได้ว่า จะเป็นการให้ความรู้ตู้อบลมร้อน ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการอบแห้งเนื้อโค เช่น ทำเนื้อแดดเดียว ทำให้สามารถเพิ่มกลุ่มผู้บริโภค และการเก็บรักษาที่สะดวกมากขึ้น
ตู้อบลมร้อนเราประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้งานเองหรือไม่
ตู้อบลมร้อน มีส่วนประกอบหลักๆ คือตัวทำความร้อน พัดลมดูดอากาศ เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ตัวควบคุมอุณหภูมิและหน้าจอแสดงผล เราได้ออกแบบ และกำหนดขอบเขตการทำงาน แล้วจ้างประกอบ เนื่องจาก ทางคณะฯ ไม่มีเครื่องมือทางช่าง และการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์จำนวนน้อย จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่บริษัทรับจ้างประกอบ จะซื้อวัสดุจำนวนมาก ราคาจะถูกกว่า และ มีเครื่องมือต่างๆ พร้อมประกอบ แต่ในรายละเอียด เราสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการได้
การทำงานของตู้อบลมร้อนเป็นอย่างไร
หลักการทำงานพื้นฐานของตู้อบลมร้อน คือการใช้ตัวทำความร้อน (heater) สร้างความร้อนให้กับอากาศภายในตู้อบ แล้วใช้พัดลมเป่าอากาศหรือลมร้อนนี้ ให้ไหลเวียนสม่ำเสมอทั่วทั้งตู้ ลมร้อนนี้ จะไหลเวียนไปยังผลิตภัณฑ์ที่ต้องการอบแห้ง เพื่อนำความชื้นออกจากผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความชื้นลดลง และทั่วถึงในการควบคุมอุณหภูมิในการอบแห้งให้คงที่ จะมีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ และตัวควบคุม โดยผู้ใช้งานสามารถกำหนดอุณหภูมิที่ต้องการได้ ตัวควบคุมจะอ่านค่าอุณหภูมิจากเซ็นเซอร์แล้วจะปรับการทำงานของตัวทำความร้อน เพื่อให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการ นอกจากนี้ ก็จะมีตัวตั้งเวลา ผู้ใช้งานสามารถตั้งเวลาการอบแห้งได้ เมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้ ตู้อบลมร้อน จะหยุดทำงานอัตโนมัติ
คุณสมบัติและจุดเด่นของตู้อบลมร้อนเป็นอย่างไร
ตู้อบลมร้อน สามารถนำไปใช้งานกับผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อ สามารถทำงานได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องใช้แสงอาทิตย์ ลดเวลาการอบแห้งเมื่อเทียบกับการใช้แสงอาทิตย์ ผู้ใช้งานสามารถตั้งอุณหภูมิในการอบแห้งได้ตั้งแต่ 40 – 90 องศาเซลเซียส สามารถควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ได้ตลอดการทำงาน ผู้ใช้งาน สามารถทำความสะอาดภายในตู้อบลมร้อนได้ง่าย ตะแกรงทำจากวัสดุ Food grade (Stainless 304) มีฝาปิดกระจกใส มองเห็นผลิตภัณฑ์ภายในได้อย่างชัดเจน
ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน
ฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ ได้มีการจัดโครงการลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สำคัญ คือ การทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ที่ต้องการอบแห้งของผู้ประกอบการ วิธีการอบแห้ง และความต้องการของผู้ประกอบการ ดังนั้น สำหรับโครงการนี้ จึงไม่มีปัญหา หรืออุปสรรคใดๆ ผู้ประกอบการมีความพึงพอใจในผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างยิ่ง
โอกาสต่อไปมีแนวทางที่จะพัฒนางานตู้อบลมร้อนหรือไม่ อย่างไร
คือ"การลดเวลาในการอบแห้ง และการใช้กล้อง" หรือเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ แล้วปรับค่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นหรือลดลงอัตโนมัติ เพื่อให้สีหรือลักษณะผลิตภัณฑ์มีลักษณะที่ตลาดหรือผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด
อาจารย์คิดว่าเราจะสามารถพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างไร
จากที่ได้เข้าร่วมโครงการหลายโครงการ พบว่า เกษตรกรในชุมชน มีการผลิตสินค้าทางการเกษตรจำนวนมาก และศักยภาพของเกษตรกร สามารถเพิ่มผลผลิตได้ แต่ช่องทางการจำหน่าย หรือการจำหน่ายในลักษณะสดนั้น ราคาจะไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกร มีรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้น "การที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร คือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อจะได้ผลิตภัณฑ์ หรือรสชาติในรูปแบบใหม่ ทำให้มีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น" กลุ่มผู้บริโภค หรือลูกค้าที่มากขึ้น และยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน แต่เกษตรกร ยังขาดความรู้ในการแปรรูป หรือ ขาดเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้ในการแปรรูป ดังนั้น เป็นการเติมเต็ม หรือเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มเกษตรกร และความรู้จากทางมหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงมีความมุ่งมั่นในการจัดโครงการถ่ายทอดความรู้ทางด้านการอบแห้งด้วยตู้อบลมร้อน ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้กลุ่มเกษตรกร สามารถเพิ่มรายได้ เพิ่มกลุ่มลูกค้า และ มีการต่อยอด เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
ฝากอะไรถึงชุมชนที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามไปพัฒนาลงชุมชนอื่น
จากที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ และกลุ่มเกษตรกรในชุมชน พบว่า ทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แต่ปัญหา หรืออุปสรรคที่สำคัญ คือ ทางด้านความรู้ วิธีการ และ เงินทุน โดยส่วนตัวคิดว่า ยังมีผู้ประกอบการ และกลุ่มเกษตรกร ในจังหวัดมหาสารคาม ที่ยังไม่ทราบว่ามหาวิทยาลัย มีการให้ความรู้ และบริการวิชาการ รวมถึงแหล่งทุนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ และสร้างความร่วมมือ ดังนั้น จึงอยากประชาสัมพันธ์ไปยังชุมชนอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือ อาจจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานของจังหวัด เพื่อสร้างฐานข้อมูล และบริหารจัดการทั้งภาพรวม
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
ฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โทร 043-029665
หรือ รศ.ดร.เกียรติสิน กาญจนวนิชกุล โทร 087-56908383