เป็นการค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกอย่างต่อเนื่อง ของนักวิจัย มมส ร่วมกับทีมสำหรับการค้นพบ”เปราะสกล” หรือเรียกอีกอย่างว่า สาวน้อยเมืองสกล โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Kaempferia sakonensis Saensouk, P. Saensouk & Boonma และมีชื่อพื้นเมืองว่า เปราะสกล หรือว่านไก่กุ๊ก และเป็นพืชที่หายากมากที่สุดของประเทศไทย นอกจากจะเป็นพืชวงขิงชนิดใหม่ของโลกที่มีความงดงามแล้วนั้น ใบอ่อนของเปราะสกลยังสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารที่แสนอร่อย อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาของสมุนไพรมากมาย ของเปราะสกล Kaempferia sakonensis Saensouk, P. Saensouk & Boonma พืชชนิดใหม่ของโลก


     
         ภายใต้การนำของรองศาตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข (Surapon Saensouk) นายธวัชพงศ์ บุญมา (Thawatphong Boonma) (จากหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข (Piyaporn Saensouk) (จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์) นักวิจัยทั้งสามเป็นสมาชิกของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิง และพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications) ผลงานพืชชนิดใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจาก BEDO (สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) โดยได้รับการตีพิมพ์ และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ ทีมวิจัยที่มีองค์ความรู้ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ที่มาของการตั้งชื่อ เปราะสกล
การตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ : ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นมีการตั้งชื่อตามชื่อจังหวัดของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติในอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย “เปราะสกล” สาวน้อยเมืองสกล หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia sakonensis Saensouk, sp. Nov. ชื่อพื้นเมือง  “เปราะสกล หรือ ว่านไก่กุ๊ก”



มีการค้นพบ เปราะสกล พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดอะไร
เปราะสกล หรือสาวน้อยเมืองสกล นี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรุ่นใหม่ ตำบลท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และสำนักงานพัฒนาเศษรฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ “สพภ.”

ลักษณะพิเศษของเปราะสกล 
        สำหรับลักษณะพิเศษของเปราะสกล Kaempferia sakonensis Saensouk, P. Saensouk & Boonma ยังเป็นสกุลย่อย Kaempferia เนื่องจากมีการผลิตช่อดอกที่ปลายกิ่ง ในการผลิตก้านปลอมตั้งตรง และดอกสีม่วงทำให้มีลักษณะคล้ายกับเปราะราศี (Kaempferia larsenii Sirirugsa) แต่แตกต่างจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาของต้น และใบ อย่างไรก็ตาม ดอกของสายพันธุ์ใหม่นี้ก็คล้ายคลึงกับ Kaempferia  albomaculata Jenjitt.  &  K.Larsen  (nom.  nud.) แต่แตกต่างกัน และแยกออกจากกันได้ง่ายเนื่องจาก K. albomaculata มีใบแบนราบกับพื้น ในขณะที่ K. sakonensis มีใบ และลำต้นเทียมตั้งตรง 



เปราะสกล หรือสาวน้อยเมืองสกล ชอบขึ้นที่สภาพอากาศเช่นไร
        สำหรับเปราะสกล หรือสาวน้อยเมืองสกล จะชอบขึ้นในพื้นที่เปิด ที่มีลักษณะดินเป็นดินทราย อากาศร้อนชื้น ฝนตกปานกลาง

การประเมินการอนุรักษ์ IUCN เป็นอย่างไร
        ปัจจุบันพืชชนิดนี้พบเฉพาะในอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอนาคตอาจพบการกระจายในพื้นที่อื่นใกล้เคียงได้ แต่การสำรวจครั้งนี้ ยังไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นผู้วิจัยจึงเสนอให้จัดอันดับพืชชนิดนี้ตามเกณฑ์ของ IUCN (IUCN, 2022) ว่าเป็น Data Deficient (DD) และคาดว่าจะพบการกระจายพันธุ์ของพืชชนิดนี้ มากขึ้นในพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจในบริเวณใกล้เคียง เพื่อเปลี่ยนสถานะการอนุรักษ์ใหม่ให้เหมาะสมต่อไป การอนุรักษ์พืชชนิดนี้ต่อไป

ช่วงเวลาที่เปราะสกลจะออกดอกติดผล คือช่วงใด
        ช่วงเวลาออกดอกติดผลนั้น เปราะสกลจะมีการออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม ดอกบานเต็มที่ในตอนเช้าตรู่ และอยู่ได้เพียงวันเดียว โดยการแทงหน่อจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน และการพักตัวจะเริ่มขึ้นในเดือนต้นพฤศจิกายน 



การกระจายพันธุ์ ของเปราะสกล เป็นอย่างไร
       การกระจายพันธุ์ปัจจุบันพืชชนิดนี้เป็นพืชเฉพาะถิ่น พบเฉพาะในท้องที่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทยเท่านั้น

ระบบนิเวศวิทยา ของเปราะสกล เป็นอย่างไร
       ระบบนิเวศวิทยาของเปราะสกล จะมีการเจริญเติบโตในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี ในป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูง 200 - 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์ของเปราะสกล 
       เปราะสกล เป็นไม้ประดับมงคล ใบอ่อนสามารถใช้เป็นอาหาร เป็นผักสดรับประทานกับน้ำพริก นอกจากนี้ใบอ่อนยังนำมาเป็นส่วนผสมลงไปในแกงอ่อมต่างๆ เช่น อ่อมกบ อ่อมเขียด อ่อมปลา อ่อมไก่ เพื่อดับกลิ่นคาว และเพิ่มความหอมการพัฒนาต่อยอดเปราะสกล หรือสาวน้อยแห่งเมืองสกล เนื่องจากเป็นพืชชนิดนี้เป็นพืชที่มีต้นขนาดเล็กใกล้ผิวดิน ใบแดงเขียว ดอกม่วง สวยงามมากและมีความโดดเด่นมาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ รักษา สามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคทางด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การศึกษาหาปริมาณสารสำคัญทางธรรมชาติ ด้านเคมีเภสัชในการผลิตพืชสมุนไพร การปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้า รวมทั้งด้านอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต โดยคณะผู้วิจัยกำลังดำเนินการขยายพันธุ์จากเหง้า และขยายพันธุ์โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเป็นหลักประกันว่าพืชหายากชนิดนี้จะไม่สูญพันธุ์และได้รับการอนุรักษ์ คุ้มครอง อย่างยั่งยืน รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ที่เกิดจากงานวิจัย ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เพื่อทำการอนุรักษ์สายพันธุ์ต่างๆ ในระยะยาวต่อไป


       
       ผลงานการวิจัยที่ดีเกิดจากการวางแผนที่ดี ความพยายาม ความขยัน ความอดทน ความมุ่งมั่น ความเอื้ออาทรต่อผู้ร่วมงาน จนทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีและเกิดความเข้มแข็งของนักวิจัย 


 

 


 




Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts