มมส ลงชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป เข้าเม่าสู่อัตลักษณ์จังหวัดมหาสารคาม
             ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาในการทำข้าวเม่าที่สืบสานจากบรรพบุรุษ มากว่า 100 ปี โดยมีการยกระดับการทำเข้าเม่าสู่การสร้างรายได้ชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเมืองมหาสารคาม  ที่เป็นการสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สมกับคำที่ว่า “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” รวมถึงแผนพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม  ในบทบาทในการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่น ภายใต้การนำของ ดร.ธายุกร พระบำรุง  อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



ชื่อผลงาน ชื่อ-สกุล - ตำแหน่ง - สังกัด ผู้รับผิดชอบ
โครงการการยกระดับชุมชนโพธิ์ศรี1 เป็นองค์กรธุรกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่าที่เป็นอัตลักษณ์ของตำบลตลาด อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม



กล่าวถึงที่มาของโครงการเป็นอย่างไร
      การดำเนินโครงการการยกระดับชุมชนโพธิ์ศรี1 เป็นองค์กรธุรกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่าที่เป็น อัตลักษณ์ของตำบลตลาด อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ได้รับการสนับสนุนจากโครงการบริการวิชาการแบบบูรณาการ เพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และสอดรับกับยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติราชการ ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ว่า “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” รวมถึงแผนพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม ในบทบาทในการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่น และตัวชี้วัดของกองการศึกษา เทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อชุมชน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ  


       
       โดยโครงการนี้ ได้ขยายผลจากโครงการ U2T ตำบลตลาด ซึ่งช่วยเข้าถึง และเข้าใจบริบทของชุมชนในด้านต่างๆ ที่ดีขึ้น ทั้งต้นทุนด้านภูมิปัญญาการทำข้าวเม่า ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม รวมถึงทรัพยากรชีวภาพที่จะนำมาเพิ่มมูลค่า เพื่อยกระดับศักยภาพของชุมชน ให้เป็นองค์กรธุรกิจชุมชน ด้านการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่าจากภูมิปัญญาเดิมที่เป็นจุดแข็งสู่การสร้างจุดขาย โดยอาศัยระบบการบริหารจัดการที่ส่งเสริม ให้เกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่าที่มีมาตรฐาน คุณภาพ ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และตรงความต้องการของลูกค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนโพธิ์ศรี1 ที่เป็นระบบ  โดยอาศัยแนวคิดการพัฒนาตราผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์เมือง และชุมชนที่ได้นำร่องที่ตำบลตลาด รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่บูรณาการมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระบบเดียวกัน  https://talontalad.com/ 



        เพื่อส่งเสริมการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีวัฒนธรรม และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ครอบคลุม เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (No Poverty) จากการยกระดับสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน และวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการองค์กร ให้สามารถดำเนินธุรกิจชุมชน จนเกิดรายได้ เป้าหมายที่ 13 โดยได้แทรกแนวคิด ในรูปของแผนความต่อเนื่องธุรกิจ ที่มองการเตรียมความพร้อม ในการรับมือภัยพิบัติ โดยเน้นให้สามารถบริหารจัดการดำเนินมาตรการเร่งด่วน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบ (Climate Action) และเป้าหมายที่ 15 ที่มุ่งเน้นให้วิสาหกิจชุมชน สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น รวมถึงปกป้อง และฟื้นฟู โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งวัตถุดิบ รวมถึงจัดทำแผนการดำเนินที่มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น 
 

ทำไมถึงเลือกลงชุมชนโพธิ์ศรี1
       ชุมชนโพธิ์ศรี1 เป็นหนึ่งใน 31 ชุมชนของตำบลตลาดที่มีความโดดเด่น ในด้านของภูมิปัญญาการทำข้าวเม่า ที่สืบสานกันมากว่า 100 ปี ที่รับรู้กันอย่างเป็นสาธารณะ จนได้มีการนำเอาคำว่า “ข้าวเม่า” มาตั้งชื่อเป็นถนนข้าวเม่า ในปี พ.ศ. 2560 โดยเป็นโอกาสที่ดีของชุมชน ที่จะยกระดับสู่การเป็นองค์กรธุรกิจชุมชน เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน หากมีการสนับสนุนในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบ การผนึกพลังของภาคีเครือข่าย เพื่อเติมเต็มการขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจชุมชน  และการสนับสนุนด้านการตลาดที่อาศัยอัตลักษณ์ชุมชนเป็นฐาน   



จุดเด่นของชุมชนนี้เป็นอย่างไร
       มหาสารคามมีมรดกภูมิปัญญา ในการทำข้าวเม่า ที่สืบสานจากบรรพบุรุษ มากว่า 100 ปี (พ.ศ. 2460) ที่สามารถยกระดับสู่การสร้างรายได้ชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเมืองมหาสารคาม  ทั้งเรื่องกรรมวิธีรผลิตแบบโบราณที่ยังเป็นการการักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรชีวภาพ เช่น การใช้พืชสมุนไพร และการบูรณาการกับศิลปะการแสดงของชุมชน 



มหาวิทยาลัยมีส่วนขับเคลื่อนชุมชนนี้อย่างไร
        มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการบูรณาการความร่วมมือของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะการบัญชีและการจัดการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและ นฤมิตศิลป์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งได้ร่วมสะท้อนจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และสิ่งคุกคามของชุมชนโพธิ์ศรี1 จนชุมชน สามารถผลักดันให้เกิดของผู้ประกอบการรายย่อย สู่การรวมกลุ่ม และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยใช้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่าอัตลักษณ์เมืองมหาสารคาม” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย ผังโครงสร้างองค์กร และบทบาทหน้าที่ ระเบียบข้อบังคับ ข้อตกลงการจัดการผลประโยชน์จากการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์  ฐานข้อมูลแหล่งวัตถุดิบ/ทรัพยากรชีวภาพ ฐานข้อมูลลูกค้า ฐานข้อมูลผู้รับเหมา ขั้นตอนการผลิตข้าวเม่าตำรับโพธิ์ศรี1 นโยบายการจัดการคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ และการเก็บรักษา ขั้นตอนการจัดการสถานที่ผลิตตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร ขั้นตอนการจัดการสิ่งแวดล้อม และข้อมูลคุณค่าโภชนาการ รวมถึงระบบการสนับสนุนด้านการตลาด โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้  
 


ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร
        ชุมชนโพธิ์ศรี1 มีความเข้าใจบริบทของตนเอง ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และสิ่งคุกคาม และได้รวมกลุ่มกัน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการองค์กรด้วยตนเองได้ ครอบคลุมทั้งการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์  การสื่อสารข้อมูลองค์กร การจัดการสิ่งแวดล้อม และการทำการตลาด 



ปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำโค 
          การดำเนินของบุคลากร ในวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูป จากข้าวเม่า อัตลักษณ์เมืองมหาสารคาม ภายใต้กรอบของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้กำหนดบทบาท และหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งบุคลากรเอง อาจยังไม่คุ้นชินกับการปฏิบัติงานในรูปแบบองค์กรที่มีแบบแผน เช่น ระเบียบข้อบังคับ ข้อตกลงการจัดการผลประโยชน์จากการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์  ขั้นตอนการผลิตข้าวเม่าตำรับโพธิ์ศรี1 นโยบายการจัดการคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์และการเก็บรักษา ขั้นตอนการจัดการสถานที่ผลิตตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร และขั้นตอนการจัดการสิ่งแวดล้อม และต้องอาศัยเวลาให้บุคลากรได้พัฒนาการเรียนรู้ และเกิดทักษะการดำเนินการให้สอดรับกับบทบาท และหน้าที่ที่กำหนดไว้ รวมถึงการเข้าใจแผนการดำเนินการขององค์กรของตนเอง เพื่อให้สามารถบูรณาการการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เพื่อเสริมจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน และเป็นโอกาสใหม่ในด้านธุรกิจ   โดยเกิดภาวะสูญเสียเสถียรภาพในการบริหารองค์กรธุรกิจชุมชน 
 


ผลการตอบรับ ในการจัดทำโครงการเป็นอย่างไร
        การดำเนินการของโครงการครั้งนี้ นับว่าเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมที่เกิดจากพลังของชุมชนโพธิ์ศรี และเทศบาลเมืองมหาสารคาม โดยมีสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นพี่เลี้ยง สู่การยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนด้วยพลังของชุมชนเอง ตลอดจนการผลักดันผลิตภัณฑ์แปรรูป จากข้าวเม่าเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของเมืองมหาสารคาม และเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นของจังหวัดมหาสารคามที่ถูกคัดเลือกในโครงการส่งเสริมพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ...ที่หายไป The lost Test” ประจำปี 2566 ของกระทรวงวัฒนธรรม ที่เกิดจากคุณค่าที่เป็นมรดกภูมิปัญญา การทำข้าวเม่าที่สืบสานมากว่า 100 ปี จนเกิดการรับรู้ของทุกภาคส่วน และเข้ามาร่วมเรียนรู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป  อีกทั้ง ยังได้มีการนำเรื่องราวไปเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมหลายช่องทาง  เช่น Hot News สารคาม  TNN Online และทุกทิศทั่วไทย ThaiPBS ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่าอัตลักษณ์เมืองมหาสารคาม ที่ต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมต่อการรองรับการผลิตจำนวนที่มากขึ้นและการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมชุมชน  ที่จะสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน  



ในอนาคตจะมีแผนพัฒนาโครงการที่ลงสู่ชุมชนในทิศทางใด
        การดำเนินการในอนาคต ที่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในรูปของการบูรณาการความร่วมมือ หรือดำเนินการเอง ต้องครอบคลุมถึงการพัฒนา และปรับปรุงสถานที่ผลิตที่ครบวงจรแ ละความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรมของชุมชนโพธิ์ศรี1 การพัฒนาศักยภาพของสมาชิกให้สามารถดำเนินการภายใต้ระบบการบริหารจัดการที่กำหนดไว้ได้ รวมถึงการพัฒนาสมาชิกใหม่ การพัฒนาทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากข้าวเม่า ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด การบูรณาการองค์ความรู้จากวิจัย เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่า การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทุนแรงการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตกลุ่มผู้ สูงวัย สำหรับการผลิตจำนวนมาก และต้องทันกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งสามารถดำเนินการควบคู่กับการผลิตแบบดั้งเดิม เพื่อยังคงอนุรักษ์กรรมวิธีโบราณที่มีคุณค่า และได้สืบสานกันมาให้ผู้สนใจได้ร่วมเรียนรู้ ในฐานะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของเมืองมหาสารคาม ตลอดจนการพัฒนาระบบการตลาดในรูปของแฟรนไชส์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่า ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสำคัญต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมมาตรฐาน และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้า ข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการ  และการสนับสนุนการทำการตลาด 



เรื่องราวข้าวเม่าเมืองมหาสารคาม

การทำข้าวเม่าแบบโบราณ   
Hot News สารคาม 
ข้าวเม่าโพธิ์ศรีอัตลักษณ์เมืองมหาสารคาม
TNN Online
ข้าวเม่ามหาสารคาม สูตรลับ1 ศตวรรษ  เรื่องดีดีทั่วไทย
ทุกทิศทั่วไทย ThaiPBS  
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม


ผู้ที่สนใจที่จะให้คณะและมหาวิทยาลัยแนะนำในการสนับสนุนการพัฒนางานของชุมชน สามารถติดต่อได้ที่
ดร.ธายุกร พระบำรุง ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เบอร์โทร 08 9401 9294 อีเมล thayukorn.p@msu.ac.th 



Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:นายธนกฤต โคตรเพชร นิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

Related Posts