มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดหลักสูตรปริญญาเอก สาขาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย  การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับซากสิ่งมีชีวิตในอดีตที่ส่งผลต่อสภาพสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน  สาร MSU Online จะพาทุกท่านไปรู้จักกับสาขาบรรพชีวินวิทยาให้มากยิ่งขึ้น ว่าสาขานี้เค้าเรียนเกี่ยวกับอะไรกันบ้าง ผ่านบทสัมภาษณ์จาก ดร.ธนิศ นนท์ศรีราช  นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นศิษย์เก่า คณะวิทยาศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ด้านชีววิทยาและบรรพชีวินวิทยา ...ตามเรามาดูกันค่ะ



แนะนำตัว
        ชื่อ ธนิศ นนท์ศรีราช จบปริญญาเอก จากคณะวิทยาศาสตร์ ภาคชีววิทยา สาขาบรรพชีวินวิทยา (Paleontology) ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นนักวิจัย ที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เหตุผลที่ตัดสินใจเรียนสาขาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม?
        มีความสนใจในเรื่องของสิ่งมีชีวิตและซากดึกดำบรรพ์มาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ลึกลับน่าค้นหา และอาชีพนักบรรพชีวินวิทยายังเป็นที่รู้จักกันในวงแคบ ด้วยเหตุผลนี้ในระดับปริญญาตรีและปริญาโทจึงเลือกเข้าเรียนหลักสูตรชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ โดยทำวิทยานิพนธ์ทางด้านซากดึกดำบรรพ์ หลังจากสำเร็จการศึกษาจึงตัดสินใจเรียนสาขาบรรพชีวินวิทยาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื่องจากเป็นแห่งเดียวในประเทศที่เปิดการเรียนการสอนทางด้านบรรพชีวินวิทยาครับ



มีประสบการณ์หรือสิ่งใดที่กระตุ้นความสนใจของคุณในสาขานี้?
ตอนที่กำลังเรียนปริญญาตรีและอยู่ในช่วงที่ต้องเลือกหัวข้อเพื่อทำวิทยานิพนธ์ มีโอกาสได้ติดตามทีมพี่ ๆ นักวิจัยที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ร่วมออกภาคสนามไปยังแหล่งซากดึกดำบรรพ์แห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งนั้นได้ขุดเจอกระดูกไดโนเสาร์ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการจุดประกายให้เกิดความสนใจในสายอาชีพนักบรรพชีวินวิทยาขึ้นมา 

คุณมองว่าสาขาบรรพชีวินวิทยามีความสำคัญอย่างไรในการเข้าใจประวัติศาสตร์ของชีวิตและสิ่งมีชีวิต?
        สาขาบรรพชีวินวิทยา เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่บนโลกในอดีต โดยวิเคราะห์จากเศษซากหรือโครงร่างของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีวิวัฒนาการและความหลากหลายของชีวิตในอดีต เข้าใจประวัติศาสตร์โลกทราบถึงสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ช่วยในการหาคำตอบเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในอดีต ซึ่งสามารถนำมาประเมินสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญเสียและหาทางป้องกันในอนาคตครับ



สาขานี้มีความหลากหลายและสาขาย่อยอะไรบ้างที่คุณสนใจ?
        สาขาบรรพชีวินวิทยาเป็นศึกษาการรวมองค์ความรู้ด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และธรณีวิทยา เข้าด้วยกัน ไม่มีการแบ่งเป็นสาขาย่อยอย่างชัดเจน แต่ก็สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามชนิดของซากดึกดำบรรพ์ที่ศึกษา คือ กลุ่มซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและกลุ่มซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยแบ่งตามช่วงอายุการสะสมตัวได้อีก 3 มหายุค คือ มหายุคพาลีโอโซอิก มหายุคมีโซโซอิก และมหายุคซีโนโซอิก 
        ปัจจุบันผมมีความสนใจกลุ่มซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และมูลสัตว์โบราณในมหายุคมีโซโซอิก หรือประมาณ  251-65 ล้านปีที่ผ่านมาครับ

มีโครงการวิจัยหรือการทำงานในสาขานี้ที่คุณสนใจมากที่สุด?
สิ่งที่ชอบในการทำงานสาขานี้คือการได้เดินทางออกภาคสนามสำรวจแหล่งซากดึกดำบรรพ์ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแคมป์ในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน เช่น ในป่า บนภูเขา และริมทะเล ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติจริงและหาไม่ได้ในห้องเรียน
งานวิจัยที่ประทับใจมากที่สุดคือ การค้นพบไข่พยาธิดึกดำบรรพ์ อายุมากกว่า 200 ล้านปี ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในฟอสซิลหายากของโลก ในอึของสัตว์เลื้อยคลานที่กลายเป็นซากดึกดำบรรพ์แล้ว นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในทวีปเอเชีย โดยงานวิจัยนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและถูกเผยแพร่ในสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น  CNN, NIVERSE, EurekAlert, PHYS.ORG, Poppular Science, Discover magazine, NE Iowa News





การศึกษาในสาขาบรรพชีวินวิทยาช่วยพัฒนาทักษะหรือความรู้ในด้านใดบ้าง?
        การศึกษาในสาขาบรรพชีวินวิทยามีผลต่อการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์โดยตรง ทั้งในด้านทักษะการการสำรวจและการสังเกต ซึ่งการออกภาคสนามต้องวางแผนอย่างรัดกุมเนื่องจากในบางครั้งต้องเข้าไปในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก เช่น ในป่าหรือบนภูเขา ทักษะการทดลองในห้องปฏิบัติการที่ต้องบูรณาการเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการศึกษาซากดึกบรรพ์ รวมไปถึงทักษะการวิเคราะห์และการประเมินจากหลักฐานที่มีอยู่ สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างทฤษฎีหรือองค์ความรู้ใหม่ๆขึ้นมา ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสายอาชีพอื่นๆ เช่น ธรณีวิทยา ชีววิทยา นิเวศวิทยา ครับ

ความคาดหวังว่าจะทำอะไรหลังจบการศึกษาในสาขาบรรพชีวินวิทยา?
        ประกอบอาชีพเป็นนักบรรพชีวินวิทยา ออกภาคสนามศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทยในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จัดกิจกรรมค่ายให้เด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ที่สนใจและชื่นชอบเรื่องซากดึกดำบรรพ์ ได้มีโอกาสขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ด้วยตัวเอง รวมทั้งแนะแนว สร้างความเข้าใจในสายอาชีพนี้ให้เยาวชน เนื่องจากมีน้องๆ หลายคนที่สนใจ แต่ไม่ทราบถึงช่องทางการศึกษาต่อเพื่อเป็นนักบรรพชีวินวิทยาครับ





Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts