เส้นทางของความมุ่งมั่นและความสำเร็จของการศึกษา ในรั้วมหาวิทยาลัยคือการได้มาซึ่งใบปริญญาบัตร อันแสดงถึงความเป็นบัณฑิตอันทรงเกียรติ มีคุณค่า พัฒนาตนเองในการทำงานและเป็นที่ยอมรับในสังคม และนอกเหนือจากนั้นแล้ว การที่บัณฑิตได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลมาจากความขยัน มุ่งมั่น ทุ่มเทการเรียนมาตลอดระยะเวลาการศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจสำหรับพวกเขา
สาร MSU Online จะพาทุกท่านไปรู้จักกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง จาก คณะศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ จากบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเคล็ดลับการเรียน การจัดการความเครียด และเรื่องอื่นๆ ผ่านมุมมองความคิดของพวกเขา ไม่อยากให้ทุกท่านพลาด โดยเฉพาะน้องๆที่กำลังเรียนอยู่ มีประโยชน์กับน้องๆ ที่จะนำไปเป็นแบบอย่างในการเรียนได้ดีทีเดียวเลยค่ะ เรามารู้จักกับพวกเขาไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
แนะนำตัว : วรนิติพัศณ์ วรแก่นทราย ชื่อเล่น ซันนี่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565 ด้วยระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม 4.00 ครับ
ความภาคภูมิใจใน มมส : มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นมหาวิทยาลัยที่บ่มเพาะทั้งความรู้และการปฏิบัติตน ให้วิชาการที่เต็มที่ มีความอบอุ่น ของเพื่อนๆ พี่น้องในสาขา อาจารย์ผู้สอนเป็นกันเอง ไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามได้เสมอ หลักสูตรการสอนครอบคลุมเนื้อหาความรู้ส่งผลให้สอบบรรจุได้ลำดับที่ 1 ของ สำนักเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร เอก คณิตศาสตร์ เรียนจบแล้วได้บรรจุรับราชการทันที ครับ
เคล็บลับการเรียน : ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยขยันอ่านหนังสือ แต่จะให้ความสำคัญเวลาเรียนในห้อง โดยการตั้งใจเรียนในห้องให้เข้าใจ เพราะถ้าเข้าใจตั้งแต่ในห้องเรียนที่อาจารย์สอนแล้ว อ่านเพิ่มอีกนิดหน่อยก็ทำข้อสอบได้และในความเป็นคณิตศาสตร์ ต้องทำโจทย์ทุกข้อที่อาจารย์มี และหาทำเพิ่มเติมอีก ส่วนวิชาของคณะ ก็จะอ่านเสริม ในส่วนที่ตนเองไม่เข้าใจพยายามทำความเข้าใจและการติวหนังสือให้เพื่อนๆ จะได้ความรู้และเชี่ยวชาญในเนื้อหามากยิ่งขึ้น ครับ
การจัดการกับความเครียดในระหว่างที่เรียน : ในช่วงที่เรียนต้องยอมรับว่าเป็นคนที่มีความเครียดสูงมาก จนบางครั้งอยากไปพบแพทย์ เพราะถ้าเครียดมากๆ จะอาเจียนทุกครั้ง บางครั้งก่อนสอบต้องวิ่งไปอาเจียนก่อนสอบเลยก็มี วิธีการคือ ออกไปเที่ยวหรือหาอะไรทำที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับการเรียนมากนัก ให้สมองได้ผ่อนคลายบ้าง เล่นเกมส์บ้าง และเล่นกีฬาที่ชอบ เช่น แบดมินตันจะช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้นครับ
คติประจำใจ : การได้มายากกว่าการรักษา 4.00 ก็แค่เรื่องจิ๊บๆ ชีวิตจริงยากกว่านั้น ครับ :)
แนะนำตัว : นายพิชญุตม์ สินชัย ชื่อเล่น ปังปัง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565 ด้วยระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม 4.00 ครับ
ความภาคภูมิใจ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพทางการศึกษา มันคงไม่แปลกเลยที่ผมจะภูมิใจอย่างมากที่เป็น "นิสิต"ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หาวิทยาลัยที่ได้ให้อะไรหลาย ๆ อย่างกับผม ทำให้ผมประสบผลสำเร็จในหลาย ๆ ด้าน ช่วยยกระดับชีวิต ความคิดของผมให้ดีขึ้น จนทำให้ผมเป็นที่ภูมิใจของครอบครัว นอกจากนี้ที่นี่ยังให้มิตรภาพที่หาไม่ได้จากที่ไหน ทั้งเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกัน อาจารย์ที่เก่ง มีคุณภาพ ที่คอยให้คำปรึกษาและประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับผม ตลอดจนเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เฟรนลี่และน่ารักทุกคน ในภายภาคหน้าถ้าผมมีโอกาสก็ขอให้ได้กลับมาที่มหาวิทยาลัยนี้อีกครั้ง "มหาวิทยาลัยแห่งความทรงจำ"
เคล็ดลับการเรียน : เคล็ดลับการเรียนของผม ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ๆ เลยครับ ง่าย ๆ เลย คือ ตั้งใจเรียนที่อาจารย์สอนในคาบ การตั้งใจฟังที่อาจารย์สอนในคาบและจดทำความเข้าใจไปด้วย จะช่วยให้เราประหยัดเวลาในช่วงสอบที่ต้องอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก เพราะ ถ้าเราเข้าใจความรู้ด้วยตนเองในคาบขณะนั้น สมองของเราจะจดจำยาวนานขึ้น มันอาจจะมีลืมเลือนบ้างถ้าเวลาผ่านไปสักระยะ แต่เรากลับทบทวนอ่านความรู้ตรงนั้นช่วงสอบ เราจะสามารถประมวลผลได้ไวกว่าคนอื่น ๆ ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าคนที่ตั้งใจเรียน แม้เวลาจะผ่านไป ความรู้เรายังเป็นถ่านที่ยังไม่มอด และถ้าเรากลับมาทบทวน จู่ ๆ ความรู้นั้นก็กลายเป็นไฟที่เติมถ่านเติมฟืนเข้าไปจนลุกขึ้นมาอีกครั้ง
และที่สำคัญช่วงสอบ เป็นช่วงที่สำคัญอย่างมาก ทุกครั้งที่สอบผมจะจัดสรรเวลาตัวเองให้ได้ มีการแบ่งเวลาเช้าบ่ายว่าจะวันนี้จะอ่านวิชาอะไร ยิ่งมีหลายวิชา จะมาอ่านเอา1-2วัน ควรเตรียมเวลาเผื่อมากกว่านั้น แต่ก็แล้วแต่อันนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และต่อมาก็ต้องแยก 2 คำนี้ให้ออกว่า คำว่า "อ่านแบบผ่านๆ" กับ "อ่านให้เข้าใจ" ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอ่านเรื่อย ๆ แต่ไม่มีจุดหมาย ไม่มีแก่นสาร ก็เหมือนกับไม่อ่านอะไร ฉะนั้นอ่านหนังสือต้องอ่านให้เข้าใจ รู้ว่าตรงไหนเป็นประเด็น ถ้ารู้ว่าวิชานั้นยากสำหรับเรายิ่งต้องให้เวลากับมัน อาจจะมีการจด lecture ทำสรุปเพิ่มเติมขึ้น อย่างเช่น การทำโจทย์คณิตศาสตร์ การที่เราจะรู้ว่าเราเข้าใจโจทย์ข้อนั้นจริงๆ ไหมให้เราลองปิดหนังสือทุกอย่าง อ่านโจทย์ แล้วสามารถทำได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ ยังแอบดูวิธีทำอยู่ แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจดีพอ ต้องฝึกฝนเพิ่มจนกว่าจะสามารถทำได้แบบไม่ดูหนังสือหรือสมุด และผมเป็นประเภทที่ว่าจะต้องเข้าใจทุกบรรทัดว่าที่เราเขียนแสดงวิธีทำมีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้าเกิดมีข้อสงสัยก็จะสืบค้นจนกว่าจะได้คำตอบ หากหาไม่เจอ ก็สามารถปรึกษาอ.ประจำรายวิชาครับ เพราะ การทำแบบนี้จะช่วยทำให้จำได้มากขึ้นว่าเราผิดพลาดตรงนี้ครับ ลองเอาไปประยุกต์ใช้ดูนะครับ
การจัดการความเครียดหรือปัญหาสำหรับผม คือ การดูซีรีส์ ดูหนัง ฟังเพลง และการได้ระบายปัญหากับเพื่อนครับ (เพราะเพื่อนก็เครียดเหมือนกับเรา จะเข้าใจเรา555) การมีเพื่อนที่คอยรับฟังปัญหาของเรา จะช่วยเราแบ่งเบาความเครียดของเราได้บ้างครับ ลองชวนเพื่อนไปขับรถเล่นสักที่ สูดอากาศสดชื่น ๆ หรือถ้าไม่มีเพื่อน ก็ขับไปคนเดียวเลยครับ แล้วก็หาอะไรกินตามทาง เพราะบางทีที่เราเครียดอาจจะเป็นเพราะเราหิวก็ได้ครับ😂
คติประจำใจ : ถนนแต่ละสายมีจุดหมายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอยากทำอะไรทำให้สุดความสามารถ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง
แนะนำตัว : นายราเชนต์ อุดมวรรณ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565 ด้วยระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม 3.92 ครับ
ความภาคภูมิใจ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความหลากหลายทางด้านวิชาการ มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีนิสิตที่เข้ามาเรียนที่นี่เป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีสภาพแวดล้อมที่ดีครับ
เคล็ดลับการเรียน : ในส่วนตัวของผม ยึดหลักในการเรียน คือ เรียน อ่าน ทบทวน และผ่อนคลาย ครับ
การจัดการความเครียด : ผมมีวิธีการจัดการความเครียดในแบบของผมคือ ผมจะมองทุกอย่างให้เป็นบวกเข้าไว้ เอาง่ายๆ คือ มองโลกในแง่บวก มันจะทำให้เราสุขใจ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องใดๆ ผมจะพบปะกับเพื่อนเป็นประจำ ได้แลกเปลี่ยนความคิด สนุกสนาน เฮฮา ก็เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการความเครียดของผม ตลอดจนผมจะเสพสื่อในเรื่องที่ทำให้ผ่อนคลาย และหากผมมีเรื่องไม่สบายใจมากๆ จะปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนที่สนิทและครอบครัวครับ
คติประจำใจ : คิดถึงตัวเอง คิดถึงครอบครัว และคิดถึงสังคม
แนะนำตัว : ชื่อนางสาวปภาวี บุญฉ่ำ ชื่อเล่น กะตัง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง สาขาการจัดการวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565 ด้วยระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม 3.89 ค่ะ
ความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม : การที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเปิดรับความหลากหลายทั้งทางศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุนส่งเสริมความดั้งเดิมของศิลปะวัฒนธรรมอีสานในทุกๆ ด้านจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีพื้นบ้าน หรือวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของนิสิต และยังมีการผลักดันความดั้งเดิมของวัฒนธรรมอีสานสู่สากลให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
เคล็ดลับการเรียน : การเน้นเข้าร่วมกิจกรรมของทางสาขา คณะ มหาวิทยาลัยเพื่อสัมผัสกับประสบการณ์จริงมากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียน และเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้จากเพื่อน ๆ ในสาขาไม่ว่าจะเป็นงานเดี่ยวหรืองานกลุ่มเพื่อที่จะได้ความรู้จากเพื่อน ๆ มากขึ้นในเรื่องหรือสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เคล็ดลับการเรียนในห้อง คือการตั้งใจฟังอาจารย์ในห้องเรียนให้ได้มากที่สุด และจดสรุปย่อเพื่อที่จะนำมาอ่านทบทวนก่อนสอบ สิ่งสำคัญที่สุดคือการพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้สมองเปิดรับความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นก่อนไปเรียน หรือก่อนสอบค่ะ
การจัดการความเครียดหรือปัญหาต่างๆที่เราเจอในระหว่างที่เรียนอยู่ : สำหรับดิฉันคือ เลิกคิดปัญหาเหล่านั้นสักพัก ตั้งสติคิดทบทวนต้นเหตุของปัญหานั้นจริง ๆ ว่าเกิดขึ้นจากอะไร และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน แก้ไขปัญหาเหล่านั้นที่ต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้น ถ้าตัวเราคนเดียวจัดการกับปัญหานั้นไม่ได้ก็จะขอคำแนะนำจากเพื่อนในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต ครอบครัว หรือเรื่องเรียน เรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เพื่อนำคำแนะนำเหล่านั้นที่ได้จากเพื่อนมาเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจเพิ่มเติม ดังนั้นพูดได้เลยว่าปัญหาความเครียดในมหาลัยสำหรับดิฉัน เพื่อนคือคนสำคัญในการช่วยลดปัญหาความเครียดเหล่านั้นทั้งหมดค่ะ
คติประจำใจที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ : คติประจำใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ “เรียน เล่น กิน เที่ยว นอน ทำให้สุดในทุก ๆ ทาง” ถ้าเราเต็มที่ในทุก ๆ ทาง ผลลัพธ์ที่เราได้มาจะดี หรือไม่ดี มันจะไม่ทำให้เราเสียใจในภายหลัง เพราะเราได้เต็มที่สุด ๆ กับสิ่งเหล่านั้นแล้วค่ะ