การพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานกระติบข้าวสู่มาตรฐานสินค้าโอท็อบ
มมส ลงชุมชนพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์บนฐานองค์ความรู้เดิมให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระติบข้าวแบบเดิมให้เป็น ผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3 ดาว เพื่อเตรียมยื่นขอผลิตภัณฑ OTOP ใน ระดับ 4-5 ดาว ภายใต้การนำของนายสถิตย์ เจ็กมา นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน พร้อมทีมที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานกระติบข้าวสู่มาตรฐานสินค่า OTOP ณ บ้านไผ่ล้อม ต.โนนภิบาล อ.แกดำ จ.มหาสารคาม
ชื่อผลงาน และ ชื่อตำแหน่ง ผู้รับผิดชอบ
การพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานกระติบข้าวสู่มาตรฐานสินค้าโอท็อบ บ้านไผ่ล้อม ต.โนนภิบาล อ.แกดำ
จ.มหาสารคาม
กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย
งานหัตถกรรมเครื่องจักสานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่มีวิวัฒนาการความเป็นมาอันยาวนานยากยิ่ง ต่อการกำหนดอายุได้แน่นอนตามกระบวนการทางโบราณคดี ทั้งนี้เพราะเป็นงานที่ผลิต หรือสร้างขึ้นจากวัสดุที่ง่ายต่อการผุพัง เปื่อยสลาย จากลักษณะของสังคมไทย ที่เป็นสังคมแบบเกษตรกรรมทำนาทำไร่ มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติมากมาย เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติพิเศษของพรรณไม้จากธรรมชาติหลากหลายชนิด ประกอบกับความชาญฉลาด หรือภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยเราเลือกสรรมา ผ่านกระบวนการจัก ถัก สอด ประสาน เป็นงานหัตถกรรมที่เหมาะสม ที่ใช้สอยในวิถีชีวิตประจำวันมาตั้งแต่อดีตอันยาวนานมามากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว การทำหัตถกรรมเครื่องจักสานนั้น มีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านชนบทอยู่มาก โดยเฉพาะประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพราะเครื่องจักสานเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่ทำขึ้นจากวัสดุพื้นบ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถผลิตขึ้นใช้เองเป็นส่วนมาก ดังนั้นเครื่องจักสานจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่ชาวชนบทยังคงใช้กันอย่างแพร่หลาย และเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ไม้สอย ที่ตอบสนองความต้องการใช้สอย ของชาวบ้านชนบทได้เป็นอย่างดี และเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านจนทุกวันนี้ แต่เครื่องจักสานบางอย่างบางชนิดอาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการผลิต ตลอดจนวัสดุที่นำมาใช้ไปบ้าง ก็เพื่อให้สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน (พิสิฐ เจริญวงศ์ 2530 : 11 อ้างอิงมาจากวิภา แก้วปานกัน. 2552 : 2-3)
จากการลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้นพบว่า จังหวัดมหาสารคาม มีลักษณะคล้ายกับพื้นที่อื่นทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการทำเครื่องจักสานใช้ในหลายอำเภอ การจักสานไม้ไผ่มีการทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย โดยอาศัยไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณหมู่บ้าน แต่ที่นิยมนำมาทำจักสานจะเป็นไม้ไผ่บ้าน โดยนำมาดัดแปลงทำเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่จำเป็นภายในครอบครัว เช่น กระติบข้าว ก่องข้าว ตะกร้า หวด มวย กระด้ง ข้อง ไซ เป็นต้น สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นในสมัยก่อน มักจะนิยมทำใช้กันเองภายในครอบครัว ตามลักษณะความจำเป็นของการใช้งานแต่ละชุมชน ซึ่งลักษณะการจักสานแต่ละอย่างก็จะยากบ้างง่ายบ้าง ตามกรรมวิธีที่แตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละชุมชนจึงมีความถนัดในการจักสานไม้ไผ่ไม่เหมือนกัน จึงเกิดการผลิตเครื่องจักสาร เพื่อแลกเปลี่ยนกันขึ้น แต่ช่วงหลัง ไม้ไผ่หายาก และสมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้ดีกว่าทำให้การจักสานลดน้อยลง ยังคงเหลืออยู่เพียงบางกลุ่มเท่านั้น ที่มีความถนัดทางการจักสานเป็นพิเศษ จึงหันมายึดอาชีพทางการจักสานเป็นอาชีพหลัก บางคนก็ยึดเป็นอาชีพรองจากการทำไร่ ทำนา โดยอาศัยทำในเวลาว่าง เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง การจักสานจากไม้ไผ่นั้น สามารถนำมาดัดแปลงทำเครื่องใช้ได้หลายอย่าง
กลุ่มอาชีพจักสานไม้ไผ่ บ้านไผ่ล้อม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 ปีจจุบันมี นายสําลี ประกอบคํา เป็นประธานกลุ่ม รองประธาน เหรัญญิก และสมาชิกเป็นกรรมการ มีสมาชิก จํานวน 30 คน ปัจจุบันกลุ่มผลิตกระติบข้าวเหนียว เป็นผลิตภัณฑ์หลัก มีอยู่ 3 ขนาด ประกอบด้วย ขนาดเล็ก ราคา 150 บาท ขนาดกลาง 180 บาท และขนาดใหญ่ 200 บาท กลุ่มสามารถผลิตได้ประมาณ 130 ชิ้น ต่อเดือน มีรายได้เฉลี่ย ไม่ตํ่ากว่า 12000-15,000 บาท ต่อเดือน และเคยได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มาตรฐานเลขที่ มผช 40/2546 และผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3 ดาว เมื่อปี พ.ศ.2562 ในการผลิตใช้วัตถุดิบหลักได้แก่ ไม้ไผ่บ้านหรือไม้ไผ่สีสุก ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ แต่ปัจจุบันมีจํานวนลดลงเกิดจากการขยายตัวของชุมชน บางครั้งจึงจําเป็นในการสั่งซื้อจากชุมชน และจังหวัดใกล้เคียง ความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้แก่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิม (กระติบข้าว) เพื่อเตรียมยื่นขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์โอท็อป และพัฒนาต่อยอดให้เป็น
ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยอาศัยองค์ความรู้เดิมเป็นหลัก
โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงการศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โครงการคูปองวิทย์เพื่อ OTOP ภายใต้โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานกระติบข้าวสู่มาตรฐานสินค้า OTOP บ้านไผ่ล้อม ตำบลโนนภิบาลอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์บนฐานองค์ความรู้เดิมให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถเพิ่มคุณค่า และมูลค่าให้กับสินค้าได้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กระติบข้าวแบบเดิมที่เคยได้ ผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3 ดาว โดยเตรียมยื่นขอผลิตภัณฑ์โอท็อปใน ระดับ 4-5 ดาว ผลผลิตของโครงการประกอบด้วย มีผลิตภัณฑ์กระเป็าจักสานไม้ไผ่ จํานวน 3 รูปแบบ และมีผลิตภัณฑ์กระติบข่าวย้อมสีธรรมชาติ เพื่อเตรียมยื่นขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์โอท็อบ จํานวน 1 รูปแบบ
เกณฑ์การเลือกชุมชนที่มหาวิทยาลัยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนา และทำไมถึงเลือกชุมชนนี้
กลุ่มส่งเสริมอาชีพจักสานไม้ไผ่บ้านไผ่ล้อม ตำบลโนนภิบาล อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม กรณีการเลือกกลุ่ม หรือชุมชน มองจากศักยภาพ และทักษะในการผลิตชิ้นงานโดยเฉพาะงานจักสานไม้ไผ่ ที่จำเป็นต้องอาศัยทักษะ และฝีมือในการผลิตชิ้นงาน ความต่อเนื่องในการดำเนินงานของกลุ่มตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม หรือชุมชนได้ ในขณะเดียวกันทางสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ก็มีข้อกำหนดในการพิจารณาว่า กลุ่มที่จะเข้าร่วมจะต้องมีเลขที่ทะเบียน OTOP หรือ หนังสือรับรองจากพัฒนาการอำเภอหรือจังหวัด เลขทะเบียนวิสาหกิจชุมชน จึงจะสามารถสมัครเข้ารับการพิจารณาได้
เรามีการนำองค์ความรู้ด้านใดในการนำมาพัฒนาต่อยอดชุมชนนี้
องค์ความรู้ในการพัฒนาในครั้งนี้ประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาทักษะการย้อมสีธรรมชาติ เส้นตอกสําหรับงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ เนื่องจากในปัจจุบันทางกลุ่มใช้สีเคมีในการย้อมเส้นตอก ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์การใช้วัสดุจากธรรมชาติ และเข้าเกณฑ์การประกวดผลิตภัณฑ์โอทอป จึงจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้ในการนำไปพัฒนาต่อยอดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสาน และแปรรูปผลิตภัณฑ์กระเป๋าจักสานไม้ไผ่ การสาน และการแปรรูป การสานก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นเรียบร้อย สวยงาม ซึ่งการสานก็มีเทคนิคในการสานในหลายวิธีที่แตกต่างกันไป แต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน คำว่าสานเป็น ไม่ได้หมายความว่า สานได้ทุกอย่าง เช่น คนสานหวดอาจจะสานกระติบข้าวไม่เป็น คนสานข้องไม่สามารถสานหวดได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าจะพัฒนาต่อยอดจึงจำเป็นต้องใช้ทักษะเดิมที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะพัฒนาขึ้น แน่นอนว่าต้องใช้เวลาในการฝึกทักษะการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระติบข่าวสู่มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ OTOP ในส่วนนี้เป็นการให้ความรู้ขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ตลอดจนหลักเกณฑ์การประกวดคัดสรรดาว ผลิตภัณฑ์ OTOP ว่าจะต้องเตรียมตัว เตรียมผลิตภัณฑ์อย่างไรจึงจะเข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผลิตในปัจจุบัน มีเพียงกระติบข้าว ซึ่งกระติบข้าว ในภาคอีสานมีการผลิตอยู่ทั่วภาคอีสาน ความต้องการของทางกลุ่มก็คือ พัฒนาผลิตภัณฑ์งานจักสานไม้ไผ่ให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่แตกต่างและสามารถเพิ่มมูลค่า และราคาได้โดยมีกลุ่มเป้าหมายในตลาดที่สูงขึ้นเช่น กระเป๋าไม้ไผ่รูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย หรือผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก และพัฒนาผลิตภัณฑ์กระติบข้าวที่เคยได้รับมาตรฐาน OTOP 3 ดาว สู่ผลิตภัณฑ์ 4-5 ดาว เป็นต้นนั้น หมายความว่ามีการแข่งขันทางการตลาดในอนาคตจึงจำเป็นจะต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่
ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน
การผลิต ผลิตภัณฑ์แบบใหม่นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะในการเพิ่มทักษะ นั่นคือปัญหาที่เราพบ
กลุ่มเป้าหมายสำหรับการบริการวิชาการ
กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน และผู้ที่ชื่นชอบงานหัตถกรรมพื้นบ้าน รักสิ่งแวดล้อม
เรามีแนวทางจะนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนออกสู่ตลาดอย่างไร
การสร้างแบรนด์ และจำหน่ายในตลาดที่สูงขึ้น จำหน่ายในงานแสดงสินค้า ในเว็ปเพจ อออนไลน์ เป็นต้น
ในอนาคตจะมีการพัฒนางานวิจัยย่างไรบ้าง
ควรมีการพัฒนาเครื่องมือในการแปรรูปเส้นตอก การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายตอบสนองคนในสังคมยุคใหม่ การส่งเสริมปลูกไผ่ เพื่อเป็นวัตถุดิบในอนาคต
ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
ความต้องการของชุมชน เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การทำวิจัย และการพัฒนาต่อยอดสังคม ให้เกิดคุณค่า และมูลค่า
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
กลุ่มส่งเสริมอาชีพจักสานบ้านไผ่ล้อม
พ่อสำลี (ประธานกลุ่ม) 0651062365
นางอรัญญา 0629832717
(พรีออเดอร์)