มหาวิทยาลัยมหาสารคามขอแสดงความยินดีกับนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กําลังศึกษาอยูในสถาบันการศึกษาในประเทศ Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS) ตามความต้องการของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม วันนี้สาร MSU ONLE จะนำทุกท่านไปรู้จักกับเธอ โดยเธอจะมาเล่าถึงการเตรียมตัวอย่างไรบ้างในการสอบ และเรื่องราวที่น่าสนใจจากเธออีกมากมาย ตามเรามาค่ะ



แนะนำตัวเอง
        นางสาวชินรัตน์ ลาวงศ์ (ปลาย) นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาจิตวิทยา สาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

รายละเอียดทุนที่ได้รับ
       ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กําลังศึกษาอยูในสถาบันการศึกษาในประเทศ Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS) ตามความต้องการของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรมโดยมีรายละเอียดของทุนที่ได้รับ และรายละเอียดของทุน/เงื่อนไขของทุน ดังนี้

    ระยะที่ 1 - ทุนการศึกษา ชั้นปีการศึกษาสุดท้ายเต็มจำนวน 
                 - การบรรจุรับราชการทันทีหลังเรียนจบ (ใช้ทุนระยะที่ 1)

    ระยะที่ 2 - ทุนเรียนต่อปริญญาโทในสถาบันการศึกษาในหรือต่างประเทศเต็มจำนวน

                 - กลับมาปฏิบัติราชการอีกครั้งในส่วนราชการเดิม (ใช้ทุนระยะที่ 2)

มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ฝึกทำข้อสอบก.พ. ระดับปริญญาโท (3-4) โดยหาข้อสอบในกลุ่มติวสอบ ก.พ. เป็นวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และความสามารถทั่วไปเชิงวิชาการค่ะ  ต้องฝึกทำเรื่อย ๆ และทำให้เร็วเพราะเวลาในการสอบค่อนข้างน้อยเทียบกับจำนวนข้อสอบ ต้องทำข้อที่ทำได้ก่อน ตอนนั้นมีเพื่อนสนิทที่ไปสอบเป็นเพื่อนด้วย ทำให้ช่วงการเตรียมตัวได้แลกเปลี่ยนวิธีการ แนวคิด การฝึกทำข้อสอบไปพร้อมกับเพื่อนจะสามารถช่วยทำให้เราคงอยู่กับเนื้อหาได้มากขึ้น ไม่เบื่อ เห็นวิธีการอื่น ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน วันสอบก็ทำใจสบาย ๆ  ทำได้เท่าที่ทำได้ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร มีคนค่อนข้างเยอะแต่ไม่ต้องกดดันนะคะ เราทำส่วนของเราให้ดีก็พอค่ะ


ตำแหน่งนักจิตวิทยาปฏิบัติการ สาขาวิชา FORENSIC PSYCHOLOGY เน้นทาง CRIMINAL JUSTICE  คืออย่างไร  อยากให้เล่าให้ฟังคร่าวๆ
        เป็นนักจิตวิทยา ปฏิบัติงานในด้านนิติจิตวิทยา คือ จิตวิทยาที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายและอาชญากรรม โดยคัดกรอง การประเมิน ตรวจวินิจฉัยเพื่อใช้ในทางกฎหมาย และจำแนก บำบัด ฟื้นฟู ผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ในส่วนของทุนที่ได้รับจะเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมายค่ะ 

เล่าถึงความภาคภูมิใจ ที่ได้รับทุน
        รู้สึกดีใจและภูมิใจมากค่ะ มีการเตรียมตัวค่อนข้างน้อยเพราะต้องทำหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องภาระงานที่มหาวิทยาลัย เรื่องภาระกิจส่วนตัว เมื่อสอบผ่านข้อเขียนแล้วก็ต้องเดินทางไปกรุงเทพบ่อยครั้ง และต้องฝึกปฏิบัติงานระยะเวลา 6 สัปดาห์ หลังจากผ่านการฝึกงานก็จะต้องไปสอบสัมภาณ์อีกครั้ง เป็นความรู้สึกเหนื่อยเหมือนกันค่ะ เพราะที่มหาวิทยาลัยก็เปิดเทอมแล้วต้องจัดการตัวเองให้ดี ๆ ด้วย โชคดีที่อาจารย์ในภาควิชาให้การสนับสนุน  อนุญาตให้ลาไปฝึกปฏิบัติงาน มีเพื่อนสนิทที่คอยช่วยเหลือเรื่องการเรียน และการที่เราต้องเดินทางไปบ่อยครั้ง ที่สำคัญเลยคือครอบครัวและญาติพี่น้องที่สนับสนุนให้ทำทุกอย่างที่อยากทำ ให้ความช่วยเหลือทุกอย่างต้องการ กว่าจะสำเร็จได้มันนานมาก ๆ ค่ะแต่เมื่อทำสำเร็จได้ก็รู้สึกภูมิใจมาก ๆ ค่ะ



เรียนในสาขาจิตวิทยา  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ต้องเรียนอะไร

    ปี 1 ถึง ปี 2 เทอม 1 ทุกคนในชั้นปีจะเรียนเหมือนกันค่ะ เป็นวิชาพื้นฐานทางจิตวิทยา ตั้งแต่วิชาจิตวิทยาเบื้องต้น สรีรจิตวิทยา  จิตวิทยาพัฒนาการ ทฤษฎีบุคลิกภาพและการปรับตัว ประมาณนี้ค่ะ 
    ปี 2 เทอม 2 ก็จะมีการสอบเพื่อแยกสาขาวิขาเอก โดยจะมี 2 สาขาวิชาเอก คือ จิตวิทยาคลินิก และจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว และแยกเป็น 2 วิชา คือจิตวิทยาการปรึกษา และจิตวิทยาการแนะแนว และจะเรียนในรายงิชาที่แตกต่างกันไปค่ะ จะมีบางรายวิชาที่ต้องเรียนรวมกันอยู่ด้วยค่ะ เช่น วิชาวิทยาระเบียบวิธีวิจัยทางจิตวิทยา วิชาการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน วิชาจิตวิทยาการทดลอง วิชาสถิติ ประมาณนี้ค่ะ ในส่วนของวิชาเอกจิตวิทยาคลินิกแต่จะแตกต่างออกไปคือมีการเรียนเกี่ยวกับการตรวจวินิจจัยและการประเมินทางจิตวิทยา ที่เกี่ยวข้องกับการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาค่ะ

มองอนาคตหรือจุดมุ่งหมายในวันข้างหน้าของเรา
    การไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองและให้ตนเองได้ทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอค่ะ 



ข้อคิดดี ๆ ในการดำเนินชีวิต
        สำหรับหนูแล้ว ข้อคิด คือการกล้าลงมือทำค่ะ เราไม่รู้หรอกว่าผลลัพธ์มันจะเป็นยังไง อย่างเรื่องสอบทุนนี้หนูก็ไม่รู้ว่าหนูจะทำมันสำเร็จไหม แต่สิ่งหนึ่งเลยที่หนูเลือกที่จะทำทุกอย่างคือประสบการณ์ที่เราจะได้รับมันแน่ ๆ ค่ะ ถึงเราทำมันไม่ทำเร็จอย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ มันเหมือนกับการเดินทางที่เราไม่รู้ว่าจะไปได้ถึงจุดหมายไหม เราได้ออกมาดูเส้นทางเส้นนี้ ว่ามันเป็นยังไงบ้าง ได้รู้จักและพัฒนาตนเองในการเดินมาตามเส้นทางด้วย ถ้ามันไม่ถึงจุดหมายจริง ๆ ก็แค่กลับไปที่จุดเดิม แต่สิ่งที่มันเพิ่มขึ้นคือตัวเราที่เก่งขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้นค่ะ

คำแนะนำดี ๆ จากพี่ถึงน้องๆ ที่กำลังเรียน  และเชิญชวนน้องๆ มาเรียนในสาขาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

        อยากให้น้อง ๆ ที่กำลังสนใจในสาขาวิชาจิตวิทยา ไม่ลังเลที่จะเลือกสาขาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามนะคะ เพราะที่นี่สนับสนุนทุกอย่างให้เราได้เติบโต ได้พัฒนาตนเอง คณาจารย์ในภาควิชาทุกท่าน ใจดี น่ารัก และเป็นกันเองมาก ๆ และมีความรู้ในสาขาวิชาที่สามารถถ่ายทอดมาได้อย่างดี สังคมที่นี่ไม่ได้กดดันตัวเราเลยค่ะ ให้เราได้เป็นตัวของตัวเองพัฒนาตนเองได้อย่างมีความสุข มีความรู้ในสาขาวิชาและไม่กดดันค่ะ  มาเรียนด้วยกันที่นี่นะคะ


Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts