นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค้นพบหอบหางดิ้นสีนิล: หอยทากบกชนิดใหม่ของโลก จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หอยหางดิ้นสีนิลเป็นหอยทากบกที่อยู่ในช่วงกึ่งกลางวิวัฒนาการระหว่างหอยทากบกกับทากเปลือย เปลือกลดรูปลง มีแมนเทิลคลุมเปลือก เปลือกมีสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวมีสีดำเข้ม มีพฤติกรรมที่น่าสนใจ คือ ดิ้น และสะบัดหางหนีศัตรู ลักษณะเหมือนการเต้นรำ ไม่มีพิษ
       โดยการค้นพบของ รศ.ดร. ชนิดาพร  ตุ้มปี่สุวรรณ และ ผศ.ดร.ศักดิ์บวร  ตุ้มปี่สุวรรณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ ผศ.ดร. กิตติ ตันเมืองปัก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย



ชื่อผลงาน 
        ชื่อผลงาน การค้นพบหอยหางดิ้นสีนิล: หอยทากบกชนิดใหม่ของโลก จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
New species of the dancing semislug Cryptosemelus Collinge, 1902 (Eupulmonata, Ariophantidae) from Loei Province, northeastern Thailand with a key to genera of mainland Southeast Asian semislugs and a key to species of the genus
        ชื่อผู้รับผิดชอบ รศ.ดร. ชนิดาพร  ตุ้มปี่สุวรรณ และ ผศ.ดร.ศักดิ์บวร  ตุ้มปี่สุวรรณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ ผศ.ดร. กิตติ ตันเมืองปัก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร ZooKeys ในปี ค.ศ. 2023 ดังเอกสารอ้างอิง
Sakboworn Tumpeesuwan, Kitti Tanmuangpak, Chanidaporn Tumpeesuwan (2023) New species of the dancing semislug Cryptosemelus Collinge, 1902 (Eupulmonata, Ariophantidae) from Loei Province, northeastern Thailand with a key to genera of mainland Southeast Asian semislugs and a key to species of the genus. ZooKeys 1163: 47-59.



กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา
       ได้ทำการศึกษาหอยทากบกที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งหอยทากบกในพื้นที่ป่าชุมชน ป่าธรรมชาติ และป่าต่าง ๆ ในภาคอีสานยังคงมีความหลากหลาย และมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมากมาย หอยหางดิ้นสีนิลเป็นหอยทากบกที่อยู่ในช่วงกึ่งกลางวิวัฒนาการระหว่างหอยทากบกกับทากเปลือย เปลือกลดรูปลง มีแมนเทิลคลุมเปลือก เปลือกมีสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวมีสีดำเข้ม อาศัยอยู่ใต้ซากใบไม้ที่ทับถมกัน ตามซอกหิน ซึ่งหอยหางดิ้น (dancing snails) มีพฤติกรรมที่น่าสนใจ คือ ดิ้น และสะบัดหางหนีศัตรู ลักษณะเหมือนการเต้นรำ ข้อมูลจากการวิจัยนี้เป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา และการกระจายทางภูมิศาสตร์ของหอยทากบกขนาดเล็ก ซึ่งใช้เป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสังขวิทยา (Malacology) อนุกรมวิธาน (Taxonomy) และชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) ได้เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์ในการจัดทำงานวิจัย
ศึกษาอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยาบางประการของหอยทากบกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



มีการค้นพบหอยทากชนิดนี้ที่ไหน
สำหรับการค้นพบหอยหางดิ้นสีนิลนี้ จะพบตามเทือกเขาหินปูน ในจังหวัดเลย

หอยทากชนิดนี้มีพิเศษอย่างไร และมีพิษหรือไม่
ความพิเศษของหอยหางดิ้นสีนิลนี้ มีแมนเทิลคลุมเปลือก เปลือกสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวมีสีดำเข้ม มีพฤติกรรมที่น่าสนใจ คือ ดิ้น และสะบัดหางหนีศัตรู ลักษณะเหมือนการเต้นรำ ไม่มีพิษ



จุดเด่นของงานวิจัย
การศึกษาหอยทากบกกลุ่มที่ไม่มีความสวยงามยังขาดข้อมูลอยู่หลายกลุ่ม หอยหางดิ้นสีนิลเป็นหอยทากบกที่สามารถพบได้เฉพาะถิ่น และมีพฤติกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง



ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
การศึกษาเกี่ยวกับงานภาคสนาม และเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น หลายครั้งที่ไปเก็บตัวอย่าง แล้วไม่สามารถพบตัวอย่าง หากไม่มีความชื้นเพียงพอ หรือไปไม่ตรงช่วงเวลาในการปรากฎตัวของหอย ในเรื่องทุนวิจัยจะหมดไปกับการเก็บตัวอย่าง ที่ต้องมีคนนำทาง มีการไปเก็บตัวอย่างหลายรอบ บางครั้งต้องทำงานต่อเนื่องหลายปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์

ระบบการแพร่พันธุ์ของหอยทากชนิดนี้เป็นอย่างไร
เนื่องจากหอยหางดิ้นสีนิลเพิ่งมีการศึกษาและค้นพบ การศึกษาทางด้านนิเวศวิทยา วงชีวิต พฤติกรรม ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไป เพื่อให้ทราบข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการแพร่พันธุ์ด้วย



ในอนาคตเราจะมีวิธีการพัฒนาการอนุรักษ์พันธุ์ของหอยทากชนิดนี้อย่างไร
การอนุรักษ์ทรัพยากรที่ดีที่สุดคือ ไม่ทำลายถิ่นอาศัย นั่นคือ ป่าไม้ที่เป็นที่อยู่ของหอยหางดิ้นสีนิล และส่งเสริมให้ความรู้กับชุมชน หรือนักเรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงว่าสิ่งมีชีวิตตัวนี้มีคุณค่ามาก ไม่พบที่อื่นเลยในโลก จะทำให้เป็นแหล่งที่ชุมชนเห็นความสำคัญได้ นอกจากนี้ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติต่าง ๆ เช่น การปลูกป่า การสร้างฝาย ฯลฯ ว่ากิจกรรมที่เหมือนจะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจนั้น แท้จริง คือ การแทรกแซงที่ธรรมชาติที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์และพืชท้องถิ่นขนาดเล็กมากมายมหาศาล อีกทั้งการทำทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีการถาง เผา และใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและเป็นการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ขนาดเล็กจำนวนมากรวมถึงหอยหางดิ้นสีนิลด้วย



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
งานวิจัยทางด้านอนุกรมวิธาน ไม่ใช่งานที่วิ่งหาสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก แต่เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นศึกษาสิ่งมีชีวิตในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้รู้จักมันมากที่สุด หากตัวใหนยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องศึกษาและให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือ การค้นพบสปีชีส์ใหม่ ๆ นั่นเอง นักวิจัยรุ่นใหม่ หรือนักวิจัยที่สนใจสามารถนำงานวิจัยหอยทากบกขั้นพื้นฐานไปต่อยอดด้านอื่น ๆ ได้ต่อไป



คติในการทำงาน
ทำงานให้แก่หน่วยงานที่สังกัดให้เต็มความรู้ความสามารถ
ชื่อทุนอุดหนุน : ทุนอุดหนุนการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ประจำปีงบประมาณ 2565

























Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts