"หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต" " คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ที่แรกของประเทศไทย  สาร MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับ ธีรภัทร ทวีทรัพย์ นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะมาบอกเล่าความภาคภูมิใจในการเลือกมาเรียนที่นี่ ตลอดจนประสบการณ์ดีๆ จากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ มาติดตามกันค่ะ



แนะนำตัว
    ชื่อ นายธีรภัทร ทวีทรัพย์ ชื่อเล่น เจนแม็กซ์ ปัจจุบัน  กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ

เลือกเรียนในสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เพราะที่นี่เป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทยที่มีหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผมสนใจในการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยที่มีความเป็นประเทศไทยอยู่เสมอ ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เข้ากับวัฒนธรรมและรูปแบบการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องตามธรรมชาติ  และวิชาชีพแพทย์แผนไทย สามารถ ตรวจ วินิจฉัยโรค และสั่งการรักษา รวมถึงสั่งจ่ายยาสมุนไพรได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยครับ

เล่าให้ฟังแพทย์แผนไทยคืออะไร
    วิชาชีพแพทย์แผนไทยนั้น จะหมายถึงบุคคลสองคน คือ แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 บัญญัติไว้ว่า
“การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย” หมายความว่า การประกอบวิชาชีพที่กระทําหรือมุ่งหมายจะกระทําต่อมนุษย์ เกี่ยวกับการแนะนํา การตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบําบัดโรค การรักษาโรคการป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย การนวดไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และองค์ความรู้ด้านอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด โดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยซึ่งถ่ายทอดหรือพัฒนาสืบต่อกันมา ตามตําราการแพทย์แผนไทยหรือจากสถานศึกษาที่สภาการแพทย์แผนไทยรับรอง
“การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์” หมายความว่า การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งศึกษาจากสถานศึกษาที่สภาการแพทยแผนไทยรับรอง รวมทั้งการประยุกต์ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ ตามระเบียบและข้อบังคับของสภาการแพทย์แผนไทย”


       
     การเรียนในสาขานี้ทำให้ผมเข้าใจถึงหลักการและวิธีการของแพทย์แผนไทยอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เราไม่เพียงแค่เรียนวิทยาศาสตร์และทฤษฎีเกี่ยวกับสมุนไพรเท่านั้น แต่ยังได้ทดลองปฏิบัติจริง เช่น  การผลิตยาจากสมุนไพร การนวดแผนไทย หรือการใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแพทย์แผนไทยประยุกต์"
        ที่สำคัญที่สุดของการศึกษาในสาขานี้คือการเข้าใจถึงความสำคัญของความสมดุลของร่างกาย การใช้วิธีการและสมุนไพรเพื่อรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพ ผมรู้สึกว่าการเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และมีโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เป็นนักแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานี้"
แพทย์แผนไทย ก็คือแพทย์คนหนึ่ง ที่สามารถตรวจโรค วินิจฉัยโรค บําบัดรักษาโรค ป้องกัน ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยได้ โดยอาศัยองค์ความรู้ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยครับ



เรียนแพทย์แผนไทย  วิชาการก็หนักมาก! และร่างกายจะต้อง STRONG  เรามีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง
    การเรียนการแพทย์แผนไทยประยุกต์ นั้น นอกจากจะเรียนศาสตร์การแพทย์แผนไทย แต่พอมีคำว่า “ประยุกต์” เข้ามาก็ถือว่ามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น คือการมีองค์รู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย เนื้อหาการเรียนจึงดูหนักมากกับหลักสูตร 4 ปี นอกจากวิชาการที่หนักอึ้งแล้ว นิสิตแพทย์แผนไทยประยุกต์ก็ต้องฝึกฝนร่างกาย เพราะว่าจะต้องใช้แรงในการทำหัตถบำบัด เช่น การนวด ที่ต้องใช้พลังมหาศาล นอกจากการนวดแล้วแพทย์แผนไทยก็ยังทำหัตถการอย่างอื่นได้อีกมากมายที่หลายคนยังไม่รู้ วิธีรับมือนั่นคือ การฝึกฝนร่างกายตนเองอยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกาย และการฝึกฝนร่างกายที่นิสิตแพทย์แผนไทยประยุกต์ทุกคนรู้จักคือ “ยกกระดาน” ซึ่งเป็นที่เลื่องลือมาก การยกกระดานคือการใช้นิ้วมือทั้ง 5 รับน้ำหนักตัว(ใช้ข้อนิ้วมือสองข้อแรกเท่านั้น) โดยที่ตัวเราลอยอยู่เหนือพื้น จะว่าไปก็เหมือนการแสดงกายกรรมอะไรสักอย่างอยู่เหมือนกัน

เคล็ดลับดีๆ ในการเรียน
    ส่วนตัวเองเป็นคนเรียนอยู่ระดับกลางๆ จะเด่นไปทางกิจกรรมมากกว่า แต่เทคนิคการเรียนของผมคือ การตั้งใจฟังอาจารย์ในห้องให้เข้าใจ จะได้ประหยัดเวลาอ่านหนังสือครับ



มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์   ที่แรกในประเทศไทย  บอกความภูมิใจในสถาบัน
    ผมมีความภาคภูมิใจที่ได้เรียนในสถาบันนี้  รู้สึกว่าที่นี่มีความศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เป็นที่บุกเบิกให้วิชาชีพการแพทย์แผนไทยได้พัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ ส่งผลให้แพทย์แผนไทยมีบทบาทมากขึ้นในระบบสุขภาพของไทย สามารถเอาศาสตร์โบราณมาอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นที่ยอมรับได้ครับ

ข้อคิดดีๆ ไว้เตือนใจเรา
    “โอกาส” ไม่ใช่ “ผักกาด” ที่พอจะหาซื้อได้ตามตลาดและกระจาดผัก
        กล่าวคือ ชีวิตคนเรา(ส่วนใหญ่) มีช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยแค่ครั้งเดียว เป็นช่วงชีวิตที่ร่างกายเราสุกงอมเต็มที่ เรามีอิสระในการใช้ชีวิตมาก เราอยากทำอะไรร่างกายเราก็ยังอื้ออำนวย เป็นวัยที่ควรจะเรียนรู้ชีวิต มีโอกาสอะไรเข้ามาก็ควรคว้าไว้ ทำได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่อง ที่สำคัญคือ “เราได้เรียนรู้” อย่างเช่น ผมเองได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ปีการศึกษา 2565 ตอนแรกก็ไม่มั่นใจในตนเองว่าจะทำได้ไหม เพราะเคยเป็นแต่หัวหน้าห้อง ดูแลคนหลักสิบคน มากสุดก็เป็นประธานสี คุมคนหลักร้อยคนในระดับโรงเรียน แต่พอได้เป็นนายกสโมฯ ต้องทำงานระดับคณะ ในสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ ก็เป็นการท้าทายตัวเองอยู่เหมือนกัน เราก็ไม่ได้เรียนการบริหารจัดการ อาศัยการศึกษาและพัฒนาด้วยตนเองแท้ๆ โอกาสแบบนี้มันจะมีกี่สักครั้งในชีวิต จึงคว้าโอกาสนั้นไว้ได้ หากล้มเหลวผมคิดว่ามันคือ “การเรียนรู้ว่าครั้งหน้าเราจะทำมันให้ดีได้อย่างไร”



ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์
    ตั้งแต่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็เป็นเด็กกิจกรรมตั้งแต่ปี 1 พยายามเข้าร่วมทุกกิจกรรมที่คณะ/มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ตั้งแต่ปี 1 ก็ได้เข้าร่วมการประกวดดาว-เดือน (สมัยนั้นยังมีการประกวดอยู่) ก็ชนะการประกวดได้เป็นเดือนคณะแพทยศาสตร์คนล่าสุด และยังเป็นอยู่เพราะทุกวันนี้ไม่มีการประกวดแล้ว ตำแหน่งจึงยังอยู่ตลอดมา ^_^ 
พอขึ้นปี 2 โควิดเริ่มระบาดหนักขึ้น กิจกรรมแทบจะไม่ได้จัดหรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังเข้าร่วมอยู่ดีเพราะเลือดนักกิจกรรมมันพลุ่งพล่าน กิจกรรมที่จัดได้ในรูปแบบนี้อย่างเช่น อบรมออนไลน์ เป็นต้น 
พอขึ้นปี 3 ก็มีโอกาสสำคัญเข้ามาในชีวิต ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนให้เป็นผู้นำในการลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ภายใต้ชื่อกลุ่มนิสิต Re-Med โดยมีแนวคิดการทำงานคือ รื้อฟื้นบรรยากาศกิจกรรมที่หายไปกลับมา (Re activity), รื้อฟื้นระบบการทำงานเก่าๆ ที่ไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบ (Re medical student club) จนได้รับคำชื่นชมจากผู้ใหญ่ว่าเป็นสโมสรนิสิตชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ ทั้งนี้ เพราะมีคนเก่งอยู่ในทีม มีน้องที่เก่งคอยทำงานให้ และมีเพื่อนทีมบริหารที่ยอดเยี่ยม 
จากผู้เข้าร่วมกลายมาเป็นผู้จัด ผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่กล่าวขาน คือ การมีมติไม่ส่งนิสิตในคณะเข้าร่วมการประกวด MSU Ambassador 2022 แล้วปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมในคณะ เดิมทีคือโครงการนี้คือการประกวดดาว-เดือน จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการจัดงานรื่นเริงภายใต้ชื่องาน “งานวัดไฮโซ จิ๊กโก๋เด็กแพทย์” ที่ให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกชั้นปี เข้าร่วมกิจกรรมภายใต้ความหลากหลายทางความคิด โดดเด่น มีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์ในตัวของตัวเองแทนที่การประกวดให้ใครคนใดคนหนึ่งโดดเด่น และมีกิจกรรมอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง เช่น พิธีไหว้ครูคณะแพทยศาสตร์ที่ผู้บริหารชื่นชม กีฬาภายในคณะแพทยศาสตร์ที่สนุกสนาน การรับไม้ต่อเจ้าภาพกีฬาโฮมหมอเกมส์ ครั้งที่ 14 เป็นต้น ครับ
ภายใต้การบริหารงานที่มีผมเป็นหัวเรือหลักในการนำพานิสิตในคณะทำกิจกรรมถือว่าประสบความสำเร็จกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนเข้ามา ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง “พวกเรา” ได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมากครับ

ถ้ามีน้องๆ มัธยมกำลังอ่านอยู่ อยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะมาเรียน สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
    ขอให้น้องๆ ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ หากแน่ใจแล้วก็อ่านหนังสือเตรียมสอบให้แม่นๆ พี่เชื่อว่าน้องทำได้ครับ

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts