นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคามคิดค้นเครื่องเร่งกระบวนแช่ และเพาะงอกเมล็ดพืช เพื่อลงชุมชนจะได้มีการพัฒนาการผลิตเข้ากล้องงอกออกสู่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว และประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศอู่ข้าวอยู่น้ำ ซึ่งปัจจุบันเรามีการพัฒนาข้าวให้มีคุณค่าสำหรับการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ข้าวฮางงอกจึงเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ยังมีกระบวนการผลิตที่ช้า และน้อย  
        โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน ได้ทำการวิจัย และคิดค้น เครื่องเร่งกระบวนการแช่ และเพาะงอกเมล็ดพืช  เพื่อเป็นการช่วยชุมชนในการผลิตข้าวฮางงอกสู้ผู้บริโภคให้ได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว  



รายละเอียดของโครงการวิจัยเครื่องเร่งกระบวนการแช่ และเพาะเมล็ดพืช

          เครื่องเร่งกระบวนแช่ และเพาะงอกเมล็ดพืช เป็นชุดอุปกรณ์ในการเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืชให้เกิดขึ้นภายในระยะไม่เกิน ๓๐ ชั่วโมง ซึ่งรวดเร็วกว่าวิธีการโดยทั่วไป โดยจะเป็นการแช่ และบ่มงอกเมล็ดในภาชนะปิด เมล็ดพืชจะมีความชื้นเพิ่มขึ้น และบ่มตัวจนเกิดรากงอกขึ้นภายในถังเดียวกันกับกระบวนการแช่ ใช้ปั๊มน้ำทำหน้าที่ในการสร้างอัตราการไหล และระบบการเวียนน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ปั๊มน้ำจะส่งน้ำจากอ่างเก็บที่ระดับต่ำกว่าไปยังท่อทางหัวฉีดสเปรย์น้ำที่อยู่บนฝาถังให้น้ำเกิดฝอยกระจายได้สม่ำเสมอตลอดหน้าตัดถังที่มีเมล็ดบรรจุอยู่ น้ำที่ไหลผ่านเมล็ดจะออกจากก้นถังแล้วไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแล้ววนซ้ำได้จึงประหยัด การตั้งค่าทำงานผ่านชุดควบคุมการทำงานซึ่งควบคุมคาบเวลาในการฉีดสเปรย์น้ำ และช่วงหยุดบ่มเพาะงอกเมล็ดเป็นวัฎจักรที่ต้องการ สามารถตั้งค่าทำงานได้ทั้งแบบควบคุมด้วยมือ (manual control) และแบบอัตโนมัติ (automatic control) ได้ตามความเหมาะสมให้ขึ้นอยู่กับชนิดเมล็ดพืช เมล็ดพันธุ์ และปริมาณที่ผลิตแตกต่างกัน
 ตนเองจึงนำองค์ความรู้ด้านเครื่องจักรกลเกษตรมาบูรณาการกับความต้องการของพื้นที่ คือ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำการผลิตข้าวอินทรีย์สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย และมีการนำข้าวต่ำกว่าเกณฑ์เมล็ดพันธุ์มาแปรรูปเป็นข้าวฮางงอก



ลักษณะพิเศษของเครื่องเร่งกระบวนการแช่ และเพาะเมล็ดพืช

          ลักษณะพิเศษของานชิ้นนี้จะเป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ ที่สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปดั้งเดิมของชุมชน โจทย์ ประเด็นปัญหาได้จากชุมชน การแก้ปัญหาภายใต้สมมติฐานการยอมรับได้เมื่อนำมาใช้งานจริง จึงทำให้เป็นที่ยอมรับ และมีความต้องการเครื่องเร่งฯ นี้ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. เพื่อนำสู่ชุมชน มีการติดต่อขอรับเทคโนโลยีในพื้นที่ผลิตข้าวฮางงอกจากหลายพื้นที่



สาเหตุที่เลือกงานชิ้นนี้เพราะอะไร

          ระยะเวลาที่ใช้ในการทำเครื่องเร่งกระบวนการแช่ และเพาะเมล็ดพืชระยะเวลาในการคิด และทำการวิจัยร่วมกับชุมชนกว่าจะใช้ได้จริงร่วมเป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับการผลิต เครื่องเร่งกระบวนการแช่ และเพาะเมล็ดพืช  และใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ



งบประมาณในการผลิตเครื่องเร่งกระบวนการแช่ และเพาะเมล็ดพืช

       เริ่มจากการได้รับงบประมาณสนับสนุน โครงการบริการวิชาการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ปีงบประมาณ 2561 “การพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าวอินทรีย์คุณภาพสูง: ชุดอุปกรณ์แช่และเพาะงอกข้าวเปลือกในขั้นตอนเดียวสำหรับการผลิตข้าวฮางงอก”งบประมาณ 170,000 บาท (จากกองวิจัยและบริการวิชาการ มมส. และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มมส.)
ต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยในโครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2562 เรื่อง “การจัดการความรู้และขยายผลเทคโนโลยีเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกสำหรับกระบวนการผลิตข้าวฮางงอก” งบประมาณ 1400000 บาท


        มหาวิทยาลัยมหาสารคามสนับสนุนผลงานวิจัยการผลิตเครื่องเร่งกระบวนการแช่ และเพาะเมล็ดพืชอย่างไร
กองวิจัยและบริการวิชาการ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสนับสนุนงบในการทำโครงการUIC ส่วนทรัพย์สินทางปัญญา ช่วยในการยื่นจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวดเร็วมากโดยได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสิทธิบัตร ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 “เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช”



ในอนาคตจะมีการพัฒนาผลงานชิ้นนี้อย่างไรบ้าง

        ส่วนการพัฒนาในอนาคต คือ จะทำการรวมกระบวนการแช่ เพาะ นึ่ง ไว้ในภาชนะเดียวกัน นี้เลย เป็นการลดขั้นตอนการลำเลียง หรือเปลี่ยนถ่ายข้าวงอกออกมานึ่งข้างนอกได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น


ฝากอะไรถึงวิจัยรุ่นใหม่

       โจทย์วิจัยต้องตรงประเด็นกับผู้ใช้ประโยชน์ ในภาคอีสานของเรานั้นชุมชนยังประสบปัญหา การขาดองค์ความรู้ การเข้าถึงนักวิจัย หากนักวิจัยได้มีโอกาสพบปะชุมชนจะเป็นการช่วยให้ได้รับโจทย์ใหม่ๆ และตรงประเด็นความต้องการ
การทำวิจัยให้ผลงานใช้ประโยชน์ได้จริงจะขาดข้อมูลจากผู้ใช้งานไม่ได้ โดยส่วนตัวแล้วเขาเหล่านี้คือ ผู้ร่วมวิจัยที่สำคัญ



คติในการทำงาน

รู้เขารู้เรา
รู้เขา หมายถึง รู้ประเด็นปัญหา อุปสรรค ความต้องการ เงื่อนไข จากผู้ใช้งาน และรู้ว่างานวิจัย นวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมาก่อนหน้าเป็นอย่างไรถึงขั้นไหน
รู้เรา หมายถึง ความถนัดและเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ การทุ่มเท ตั้งใจ และมั่นใจว่าเราจะทำออกมาได้



Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล

Related Posts