รางวัลนิสิต MSU FOR ALL หรือคำเต็มๆ MAHASARAKHAM UNIVERSITY FOR ALL เป็นรางวัลที่เกี่ยวโยงกับ “ค่านิยม” การเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ “การสามารถพึ่งตนเองได้และสามารถเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ " ซึ่งในปีการศึกษา 2565 มหาวิทยาลัยได้คัดเลือกนิสิตที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ จำนวน 29 คน โดยในวันนี้ สาร MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับ หนึ่งในนิสิตที่ได้รับรางวัล นิสิตต้นแบบ MSU FOR ALL นายสราวุฒิ โนนทะราช นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อยากให้ทุกท่านติดตาม
แนะนำตัวเอง
นายสราวุฒิ โนนทะราช นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบันเป็นนิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูภาษาไทย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ภูมิลำเนา ที่อยู่บ้านคู ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ครับ
กับรางวัลนิสิตต้นแบบ MSU FOR ALL
รางวัลนิสิตต้นแบบ MSU FOR ALL เป็นรางวัลที่เชิดชูเกียรตินิสิตที่มีลักษณะอันสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของการเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ นิสิตกับการเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน หมายถึง การสามารถพึ่งตนเองได้และสามารถเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ ดังปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ว่า "พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว : ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” และนิสิตที่ผ่านการประเมินมาเป็นอันดับที่ 1 จะถูกเสนอชื่อเป็นผู้แทนนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพียงหนึ่งเดียวเพื่อเข้ารับการประเมินและคัดเลือกนักศึกษารางวัลพระราชทานซึ่งเป็นรางวัลที่สร้างเกียรติสูงสุดให้กับนิสิตนักศึกษาครับ
และในปีการศึกษา 2565 กระผมได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ารับการประเมินและคัดเลือกนักศึกษารางวัลพระราชทานซึ่งจะมีการประกาศผลรางวัลในช่วงปลายปีนี้ครับ
รางวัลนิสิตต้นแบบ MSU FOR ALLที่ได้รับนี้ มีเกณฑ์ในการคัดเลือกอย่างไร
สำหรับการคัดเลือกนิสิตเพื่อเข้ารับรางวัลนิสิตต้นแบบ MSU FOR ALL ประเภทนิสิตทั่วไป จะมีการคัดเลือกอยู่ทั้งหมด 2 ส่วน คือส่วนคณะ/วิทยาลัย และส่วนกลาง โดยในแต่ละคณะจะคัดเลือกนิสิตเพียง 1 คนเพื่อเข้ารับรางวัลซึ่งจะรวมนิสิตที่เข้ารับรางวัลจากส่วนคณะทั้งสิ้น 19 คน และในการคัดเลือกของส่วนกลางจะคัดเลือกนิสิตทั้งสิ้น 10 คนเพื่อเข้ารับรางวัลดังนั้นในหนึ่งปีการศึกษาจะมีนิสิตที่ได้รับรางวัลนิสิตต้นแบบ MSU FOR ALL ประเภทนิสิตทั่วไปทั้งสิ้น 29 คน ครับ
สำหรับคุณสมบัติของนิสิตที่จะได้รับรางวัลนิสิตต้นแบบ MSU FOR ALL ประเภทนิสิตทั่วไปต้องเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.75 ขึ้นไป รวมไปถึงคุณลักษณะพื้นฐาน 5 ด้าน ได้แก่
• ด้านการศึกษาเล่าเรียน นิสิตต้องเป็นผู้มีความรู้ ทักษะพื้นฐานตามการศึกษา มีทักษะการแก้ไขปัญหา มีความขยันหมั่นเพียร
• ด้านการมีทักษะในการจัดการและการทำงาน นิสิตต้องเป็นผู้สามารถตัดสินใจสร้างงาน และวางระบบการทำงาน สามารถทำงานเป็นกลุ่มและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และสามารถนำทรัพยากร ข้อมูล สารสนเทศและเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมุ่งมั่นพยายามในการทำงาน แม้อยู่ในกาวะวิกฤต และในสภาพที่เป็นปัญหา
• ด้านสุขภาพอนามัย นิสิตต้องเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ตามวัย และ มีบุคลิกภาพที่ดี มีสุขภาพจิตดี และมีสุขนิสัยที่ดี เป็นผู้ห่างไกลและปลอดจาก สิ่งเสพติด
• ด้านความประพฤติ คุณธรรม จริยธรรม นิสิตต้องเป็นพลเมืองดี มีความซื่อสัตย์ มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบ มีความกตัญญู เสียสละ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักประหยัดอดออม และ ใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า รวมทั้งมีความเป็นประชาธิปไตย มีภาวะผู้นำ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
• ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม นิสิตต้องเป็นผู้ใช้ภาษาไทยได้อย่าง ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักภาษาไทย มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และมีความภาคภูมิใจใน ความเป็นไทย และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ให้ยั่งยืน
รวมไปถึงกิจกรรมและผลงานที่โดดเด่น ซึ่งคุณสมบัติหรือเกณฑ์เหล่านี้ล้อมาจากรางวัลนิสิตนักศึกษารางวัลพระราชทานของกระทรวงศึกษาธิการนั่นเองครับ
มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
การส่งผลงานในการประเมินเพื่อรับรางวัลนี้ กระผมได้มีการเตรียมความพร้อมเริ่มจากการรวบรวมภาพและรายละเอียดของผลงานตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 3 หลังจากนั้นผมได้วิเคราะห์ผลงานทุกผลงานพร้อมทำการแยกผลงานออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน คือ หมวดหมู่วิชาการ และ หมวดหมู่กิจกรรม จากนั้นจึงได้ทำการสังเคราะห์ผลงานจัดกลุ่มของผลงานแต่ละผลงานให้ตรงกับเกณฑ์หรือคุณสมบัติของรางวัลในทุกด้าน นอกจากนี้กระผมได้มีการขอรับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เคยได้รับรางวัลนี้มาก่อนหลายท่านโดยเฉพาะการสังเคราะห์จัดกลุ่มผลงานในตรงกับเกณฑ์ในแต่ละด้านให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากนั้นนำมาสู่การจัดทำรูปเล่มในการส่งเข้ารับการประเมินคัดเลือก
รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอผลงาน มีการซักซ้อมและควบคุมเวลาในการนำเสนอให้อยู่ในเกณฑ์ และที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือความมุ่งมั่น ตั้งใจ ฝึกฝน และพยายามลงมือทำสิ่งนั้นอย่างซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นทักษะที่กระผมเองคุ้นชิน
อยากให้เล่าถึงความภูมิใจ ที่ได้รับรางวัลนี้
สำหรับรางวัล MSU FOR ALL เป็นรางวัลที่สร้างเกียรติภูมิให้กับตัวตนของกระผมได้เป็นอย่างมากรางวัลนี้เป็นเครื่องสะท้อนความคิด ทัศนคติและพฤติกรรมของกระผมที่จะสามารถบ่งบอกได้อย่างเต็มภาคภูมิว่ากระผมเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้มีปัญญาที่เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน ซึ่งตรงกับค่านิยมและเอกลักษณ์ของการเป็นนิสิต มมส.พึ่งได้ ครับ
ในฐานะที่เป็นนิสิตต้นแบบ ได้รับรางวัล MSU FOR ALL มีแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอย่างไร
ในส่วนของกระผม การปฏิบัติตนที่จะตรงตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ MSU FOR ALL มีดังนี้ครับ
M หรือ Moral กระผมเป็นนิสิตที่มีความมุ่งมั่น และตั้งใจเพียรพยายามในการทำงานทุกด้าน ทั้งในหน้าที่โดยตรงหรือการให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเป็นคนที่รักในความซื่อสัตย์ ปัจจุบันผมกำลังฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ในความซื่อสัตย์ของผมคือการให้ความยุติธรรมกับนักเรียนของผมทุกคน ไม่เข้าสอนสาย ตรงเวลา รวมไปถึงความมีระเบียบวินัยที่ผมนั้นตระหนักรู้ตลอด คือการไม่ปฏิบัติขัดต่อกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับน้อง ๆ นิสิตทุกคน
S หรือ Social responsibility ในด้านนี้กระผมพยายามนำเอาทักษะวิชาชีพที่ตนเรียนไปแบ่งปันให้กับกลุ่มนักเรียนและกลุ่มเยาวชนหรือผู้คนที่สนใจในด้านการเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะทางภาษาไทย รวมทั้งการออกค่ายอาสาเพื่อปรับปรุงพัฒนาพื้นที่โรงเรียน การนำเอาตัวตนของตนเองเข้าไปในพื้นที่ของคำว่าอาสา การนำเอาหัวใจของตนเองเข้าไปในพื้นที่ของคำว่าอาสาให้มีจิตที่อาสาจะทำคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ ผมยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง พยายามเห็นอกเห็นใจและที่สำคัญคือการเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมโลกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่กระผมใส่ใจ
U หรือ Unity ในชีวิตของการเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามกระผมจากประสบการณ์การทำงาน การทำกิจกรรม กระผมได้รับอาสให้เป็นผู้นำในหลาย ๆ ครั้งหลาย ๆ กิจกรรม แม้การเป็นผู้นำของผมจะมีอำนาจในการออกคำสั่งก็ตาม แต่สิ่งที่กระผมเตือนตนเองมาตลอดคือเราจะต้องเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี ใจกว้าง ในการทำกิจกรรมกระผมจะยอมรับฟังปัญหาหรือข้อเสนอแนะจากเพื่อนร่วมงานเสมอ ยอมรับในข้อเห็นต่างและพยายามหาทางออกร่วมกันในการทำงานเพื่อให้งานหรือกิจกรรมที่ออกมานั้นสมบูรณ์แบบมากที่สุด จนท้ายที่สุดความสามัคคี หรือ การทำงานเป็น Team work ของกระผมกับเพื่อนร่วมงานทำให้เรามองเห็นว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง ปรับ ตกผลึก จนนำมาสู่ตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด นั่นเป็นสิ่งที่กระผมปฏิบัติมาตลอดครับ
มองอนาคตหรือจุดมุ่งหมายในวันข้างหน้าของเรา ?
สำหรับจุดมุ่งหมายต่อไปของกระผมในฐานะนิสิตเรียนครูปีสุดท้าย คือการเตรียมความพร้อมสู่โลกแห่งการเป็นบุคคลที่ต้องมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่มากยิ่งขึ้น การเตรียมความพร้อมที่จะสู้เพื่อจะนำตัวตนและหัวใจของกระผมเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของแวดวงการศึกษา หรือวิชาชีพครูที่กระผมตั้งใจไว้
จริง ๆ แล้วกระผมมีความคาดหวังที่หลากหลายหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี กระผมมีความคิดที่จะศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย หรือ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพราะผมมองว่าพื้นฐานทางภาษาไทยนั้นสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายอาชีพ และที่สำคัญการที่กระผมมีความพยายามหาโอกาส มุ่งหวัง และตั้งใจจะทำ ต้องมีสักวันที่ความพยามของเราจะสำเร็จไปได้ด้วยดีครับ
ข้อคิดดี ๆ ในการดำเนินชีวิต
กระผมมีข้อคิดหรือทัศคติในการดำเนินชีวิตที่ว่า... “ทุกโอกาสเป็นเสมือนก้าวแรกแห่งความสำเร็จจงค้นหาและจงพยายาม มุ่งหวัง และทำให้สำเร็จ” กระผมมองว่าการได้ลืมตามาดูโลกเห็นแสงอาทิตย์ในทุกเช้า นั่นหมายความว่าเรายังมีชีวิตให้เดินต่อบนโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่าทุกวินาทีมีคุณค่าอย่างมากในขณะที่โลกของเรานั้นเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ผมจะไม่ปล่อยให้เสียเปล่า คนเราต้องอยู่ในโลกด้วยความคาดหวัง หวังแล้วเราต้องรู้จักค้นหาโอกาสให้กับตนเอง เมื่อมีโอกาสจงรับโอกาสนั้นและทำทุกอย่างให้เต็มที่เต็มความสามารถ
เชิญชวนน้อง ๆ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วอุดมศึกษาและยังไม่รู้ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยอะไร พี่อยากบอกกับน้อง ๆ ทุกคนว่า หากเปรียบมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นอาชีพ ก็คงเป็นอาชีพวิศวกร ทำไมพี่ถึงบอกอย่างนั้น เพราะอาชีพวิศวกรที่เราทราบกันดีว่าเป็นอาชีพที่ต้องศึกษาวิเคราะห์ คำนวณ ออกแบบ ตรวจสอบแก้ไขปัญหาและควบคุมการผลิต บ้านหลังหนึ่งจะมีอายุยืนยาวได้ต้องมีรากฐานบ้าน โครงสร้างบ้านที่ดีเพราะมีวิศวกรเป็นผู้คำนวณ ออกแบบ ตรวจสอบแก้ไขปัญหา ดังนั้นมหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงเป็นสถานศึกษาที่วางรากฐานของนิสิตทุกคนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามรถ ผ่านการหล่อหลอมทั้งในรูปแบบ Hard skill และในรูปแบบ Soft skill พี่จึงอยากฝากมหาวิทยาลัยมหาสารคามไว้กับน้อง ๆ ทุกคนด้วยนะครับ
รางวัลที่เคยได้รับ หรือ ผลงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา
1. ได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศ การประกวดบทกวี “ภูมิคุ้มใจในวันทุกข์” จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สสส. สถาบันราชานุกูล ธนาคารจิตอาสา และมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ปี 2565
2. ได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศ ประเภทบทกวีในการประกวดบทกวีนิพนธ์และเรื่องสั้นรางวัลบัวแก้ววรรณศิลป์ ครั้งที่ 1 จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2565
3. ได้รับรางวัลอย่าให้ได้จับไมค์ จากการประกวด พูดสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยน พฤติกรรมในการป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากมูลนิธิซิสเตอร์ศูนย์ระยอง ประจำปี ๒๕๖๔
4. ได้รับรางวัลเหรียญทองระดับประเทศ การประกวดอ่านออกเสียงภาษาไทย ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป ในโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาไทยในศตวรรษที่ ๒๑ : ร้อยเรียงรากวรรณวัจน์พัฒนาทักษะทางภาษาไทย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔จากวิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี ร่วมกับ สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย
5. ได้รับรางวัลช่อราชพฤกษ์ ด้านสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระดับดีเด่น ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕
6. ได้รับรางวัลช่อบุนนาค ด้านนิสิตสัมพันธ์และวิชาการ ระดับดีเด่นพิเศษ ประจำปีการศึกษา 2565
7. ได้รับรางวัล “เป็นนิสิตผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕” ในโอกาสครบรอบ ๕๕ ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
8. ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ารับประเมินและคัดเลือกนักศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๖๕
9. ได้รับคัดเลือกให้เป็นผตัวแทนเยาวชนดีเด่นจังหวัดมหาสารคามในการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลเยาวชนดีเด่น สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2566
10. เข้าร่วมและทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามอยู่อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่เป็นพิธีกรของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาอย่างสม่ำเสมอ
11 วิทยากรให้ความรู้และแนะแนวการเข้าศึกษาต่อในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในงานมหกรรมสวนสนุกความฝัน I ONE Deamland Find Fun Fin เป็นการทำงานร่วมกับระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ สถาบันกวดวิชา I One tutor
12 วิทยากรบรรยายให้ความรู้ หัวข้อ The Inspiration สานฝันสู่มหาวิทยาลัย บรรยายให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสตรีศึกษา จังหวัดร้อยเอ็ด ถือดเป็นการให้ความรู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับกลุ่มนักเรียนที่กำลังค้นหาตนเองและค้นหาแนวทางในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา
13 วิทยากรบรรยายและให้ความรู้ หัวข้อ “การพูดในที่สาธารณะ (การเป็นพิธีกร)” ในโครงการตุ้มโฮม น้องพี่ สานสัมพันธ์ไมตรี ๑๗ ปี รักษ์ทางไทย จากชมรมรักษ์ทางไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม