ปัจจุบันหลายคนหันมาให้ความสนใจต่อสุขภาพ ผ่านการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ส่งผลให้เกษตรกรมีแนวโน้มการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยการลด หรือเลิกใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมี อีกทั้งยังหันมาทำเกษตรกรรมธรรมชาติ และอะไรคือตัวช่วยที่สำคัญ และปลอดภัยบ้าง
       "กิ้งกือ” นั่นเอง ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบมากในประเทศไทย มากมายหลายชนิด กิ้งกือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ปลอดภัยในการเกษตร จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามูลกิ้งกือมีส่วนประกอบของธาตุอาหารมากมายที่เป็นประโยชน์กับพืช เนื่องจากกิ้งกือส่วนใหญ่กินซากพืชเป็นอาหาร และการย่อยสลายตามธรรมชาติทำให้มีการปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ดิน ส่งผลให้พืชเจริญงอกงามได้เองโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เนื่องจากกิ้งกือจะทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายเศษซากอินทรีย์ให้กลายเป็นธาตุอาหารหมุนเวียนกลับสู่ดิน โดยเฉพาะมูลกิ้งกือ จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพของดิน โดยมูลกิ้งกือนี้จัดว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูปตามธรรมชาติที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างครบถ้วนเป็นต้น โดยการวิจัยของ ผศ.ดร.วราภรณ์ สุทธิสา และรศ.ดร.ปิยะธิดา พิมพ์วิชัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



ชื่อผลงาน และผู้รับผิดชอบ
ชื่อผลงาน ปุ๋ยชีวภาพมูลกิ้งกือเสริมพีจีพีอาร์ (Millipede fecal Bio-fertilizer Supplement PGPR)
      ผู้รับผิดชอบ ผศ.ดร.วราภรณ์ สุทธิสา
       รศ.ดร.ปิยะธิดา พิมพ์วิชัย

กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา
       กิ้งกือเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เนื่องจากทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายเศษซากอินทรีย์ให้กลายเป็นธาตุอาหารหมุนเวียนกลับสู่ดิน จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพของดินเช่นเดียวกับสัตว์หน้าดินชนิดอื่นๆ มูลของกิ้งกือที่ขับถ่ายออกมามีลักษณะเป็นก้อน คล้ายยาลูกกลอน มีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของกิ้งกือ โดยมูลนี้จัดว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูปตามธรรมชาติที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชครบถ้วนทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม จึงกล่าวได้ว่ากิ้งกือเป็นเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคลื่อนที่ (สมศักดิ์ ปัญหา และคณะ, 2552) กระบวนการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์ของกิ้งกือยังช่วยกระตุ้นกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่จำเป็นสำหรับการหมุนเวียนของสารอาหาร เพราะเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวของเศษซาก ส่งผลให้จุลินทรีย์ต่างๆ ทำงานได้มากขึ้น และดียิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหาร ที่จำเป็นกลับสู่ดิน ดังนั้นในมูลกิ้งกือ จึงสามารถพบเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา และแอคติโนมัยซีส ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์ให้กับธรรมชาติ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามูลกิ้งกือมีส่วนประกอบของธาตุอาหารมากมาย ที่เป็นประโยชน์กับพืช เนื่องจากกิ้งกือส่วนใหญ่กินซากพืชเป็นอาหาร และการย่อยสลายตามธรรมชาติทำให้มีการปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ดิน ส่งผลให้พืชเจริญงอกงามได้เองโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย นอกจากนี้มูลกิ้งกือถือเป็นแหล่งเก็บเชื้อจุลินทรีย์ และมีบทบาทในการหมุนเวียนแร่ธาตุ โดยพบว่ามูลกิ้งกือมีการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ดีกว่ามูลสัตว์อื่นๆ  ถึงแม้ว่า


มูลสัตว์ต่างๆ มีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยที่สามารถนำมาใช้กับการเพาะปลูกได้ แต่การที่จะนำมูลสัตว์มาใช้จำเป็นต้องปล่อยให้เกิดกระบวนการการหมัก หรือย่อยสลายให้เสร็จสิ้นก่อน เพราะไม่เช่นนั้นก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นระหว่างการย่อยสลาย อาจสร้างความเสียหายให้กับพืชได้ หากเกษตรกรต้องการนำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ไปใส่ให้กับพืช จำเป็นต้องรอจุลินทรีย์เหล่านี้ไปช่วยย่อย พืชจึงจะสามารถดูดซึมธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ แต่การใช้มูลกิ้งกือซึ่งประกอบไปด้วยธาตุอาหารและจุลินทรีย์ที่อยู่ร่วมกัน เมื่อนำไปใส่ให้พืช พืชสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ทันที กิ้งกือกระบอกสามารถนำมาเลี้ยง และใช้ประโยชน์ได้ เพราะมูลของกิ้งกือมีจุลินทรีย์ ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของพืช เช่นเดียวกับมูลไส้เดือน แต่ข้อดีของกิ้งกือคือ เป็นสัตว์ที่กินอาหารด้วยการกัดแทะ ทำให้สามารถย่อยอาหารที่มีขนาดใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเศษซากใบไม้ หรือผลไม้ที่ร่วงหล่น ทั้งยังกระตุ้นการทำงานของจุลินทรีย์ ให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น และมีการขับถ่ายมูลเป็นก้อนกลมๆ ซึ่งเป็นเม็ดปุ๋ยสำเร็จรูป ทำให้มูลค่อนข้างบริสุทธิ์ ขณะที่ไส้เดือนกินอาหาร โดยการดูดน้ำจากการเน่าเปื่อยของอาหาร ไม่สามารถกินเศษใบไม้ หรือผลไม้ที่แข็งได้ ทั้งยังไม่สามารถขับถ่ายมูลออกมาเป็นก้อน แยกจากดินได้ นอกจากนี้ กิ้งกือสามารถกินอาหารที่มีความชื้นต่ำๆ ได้ ต่างจากไส้เดือนที่ต้องกินอาหารที่มีความชื้นสูงเท่านั้น  ตลอดจน กิ้งกือมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอากาศหนาว ซึ่งเป็นปัญหากับผู้เลี้ยงไส้เดือนอยู่ตลอด และระยะเวลาในการเลี้ยงกิ้งกือ ให้สร้างมูลสั้นกว่าการเลี้ยงไส้เดือน "มูลกิ้งกือสามารถนำมาใช้กับการปลูกพืชได้ทุกระยะ" เพราะความเข้มข้นของธาตุอาหารไม่สูงเกินไป จึงไม่เป็นอันตรายกับต้นพืช ทั้งยังมีจุลินทรีย์ช่วยในการย่อยสลาย ทำให้เกิดการดูดซับธาตุอาหารที่อยู่ในมูลกิ้งกือให้แก่ต้นพืชได้รวดเร็วขึ้น 


       
         งานวิจัยนี้ได้ทำการเก็บรวบรวมมูลกิ้งกือกระบอก Thyropygus resimus Attems, 1938 ที่มีการแพร่กระจายอย่างกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อศึกษาความหลากชนิดของจุลินทรีย์ในมูลกิ้งกือกระบอก และทดสอบความสามารถในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชของจุลินทรีย์เหล่านั้น (Plant growth-promoting rhizobacteria, PGPR) เพื่อพัฒนาสูตรสำเร็จมูลกิ้งกือเสริมจุลินทรีย์ สำหรับส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะแก่การทำการเพาะปลูก และควบคุม หรือยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคพืช ซึ่งเป็นแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และยังสามารถเป็นทางเลือกในการลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อให้เกิดระบบเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน รักษาสภาพแวดล้อมในดิน และช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของดินให้ดีขึ้นได้

วัตถุประสงค์ในการจัดทำงานวิจัย
- เพื่อศึกษาความหลากชนิดของจุลินทรีย์ในมูลกิ้งกือกระบอก T. resimus จากภูกุ้มข้าว จังหวัดกาฬสินธุ์
- เพื่อทดสอบคุณสมบัติของจุลินทรีย์ที่แยกได้จากมูลกิ้งกือในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
- เพื่อพัฒนาสูตรสำเร็จมูลกิ้งกือเสริมจุลินทรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช 



จุดเด่น และคุณสมบัติของงานวิจัย 
       เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจต่อสุขภาพ ผ่านการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ส่งผลให้เกษตรกรมีแนวโน้มการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และปลอดภัยมากขึ้น โดยการลด หรือเลิกใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมีในกระบวนการผลิต หันมาทำเกษตรกรรมธรรมชาติ พึ่งพาตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่มีนโยบายด้านการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยเกษตรกรมีการใช้มูลสัตว์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้นมูลกิ้งกือจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาทดแทนปุ๋ยเคมีได้ โดยเฉพาะกิ้งกือกระบอกสกุล Thyropygus Pocock, 1894 เนื่องจากลำตัวมีขนาดใหญ่ มีการขับถ่ายมูลออกมาในปริมาณมาก ก้อนมูลมีขนาดใหญ่ และในมูลยังพบเชื้อจุลินทรีย์ที่หลากหลาย ซึ่งเชื้อเหล่านั้นยังสามารถ ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และลดการเกิดโรคกับพืชได้



มูลกิ้งกือมีความพิเศษอย่างไร
         มูลของกิ้งกือที่ขับถ่ายออกมามีลักษณะเป็นก้อน คล้ายยาลูกกลอน ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูปตามธรรมชาติที่มีธาตุอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชครบถ้วนทั้ง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม มีคุณสมบัติพร้อมใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากมูลสัตว์อื่นๆ  ที่จำเป็นต้องปล่อยให้เกิดกระบวนการการหมัก หรือย่อยสลายให้เสร็จสิ้นก่อน เพื่อป้องกันก๊าซมีเทนที่จะสร้างความเสียหายให้กับพืชได้ มูลกิ้งกือยังเป็นแหล่งเก็บเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และมีบทบาทในการหมุนเวียนแร่ธาตุ เมื่อนำไปใส่ให้พืช พืชจึงสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ทันที
         ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณขยะ และของเสียจากชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ขยะที่พบส่วนมากเป็นขยะอินทรีย์ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ และมีปริมาณมากเกินจนไม่สามารถย่อยสลายเองได้ทัน การนําชีววิธีมาใช้ในการกําจัดขยะอินทรีย์เหล่านี้จึงเป็นวิธีที่ง่าย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้กิ้งกือเพื่อช่วยย่อยสลายจึงเป็นทางเลือกในการกําจัดขยะอินทรีย์อีกทางหนึ่ง เพราะกิ้งกือสามารถย่อยสลายเศษซากอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงก่อให้เกิดรายได้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วย 



ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน
เนื่องจากเป็นงานวิจัย ที่ทำตั้งแต่พื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการแยก และจำแนกเชื้อโดยใช้ข้อมูลลักษณะทางสัณฐาน และชีวโมเลกุล ไปจนถึงการทดสอบ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ จึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการทำวิจัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งทุนวิจัยที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินการให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เอื้อเฟื้อสถานที่ในการทำงานวิจัย 

ในอนาคตจะมีการพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้อย่างไรบ้าง
       ในอนาคตจะพัฒนาปุ๋ยมูลกิ้งกือออกมาในรูปแบบของชีวภัณฑ์ มูลกิ้งกือเสริมพีจีพีอาร์ ที่พร้อมใช้สำหรับส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะแก่การทำการเพาะปลูก และควบคุม หรือยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคพืช เพื่อเป็นแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดระบบเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน รักษาสภาพแวดล้อมในดิน และช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของดินให้ดีขึ้นได้   “กิ้งกือเหมือนเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยตามธรรมชาติ ”



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
งานวิจัยทุกอย่างล้วนมีประโยชน์ เพราะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และเมื่อถึงเวลาความรู้เหล่านั้น จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

คติในการทำงาน
ความสำเร็จเริ่มต้นจากการตัดสินใจลงมือทำ



ผู้ที่สนใจงานวิจัยชิ้นนี้สามารถติดต่อได้ที่ไหน
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
เบอร์โทร 043 71 9861
Email : science@msu.ac.th
Facebook : https://facebook.com/science.msu



Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts