“หมอ” หรือ แพทย์ในสาขาต่าง ๆ นับเป็นหนึ่งในอาชีพที่นักเรียนหลายคนใฝ่ฝันจะเรียนและจบออกมาได้ทำงานในสายงานนี้  และน้องๆ ต่างก็รู้ดีว่าการที่จะสอบเพื่อเข้าไปเรียนในคณะแพทย์นั้น  ต้องมีการเตรียมตัวและมีพยายาม  เตรียมความพร้อม ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา  เพื่อที่จะสอบเข้าไปในเรียนตามความฝันให้ได้  MSU ONLINE  ได้มีโอกาสที่ได้พูดคุยกับ นส.พ.ณัฐชานันท์ พันธุมชัย  นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 3 สาขาแพทยศาสตรบัณฑิต  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ในการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อในคณะแพทย์  ตลอดจนเทคนิคดีๆ ในการเตรียมตัวเพื่อน้องๆ จะได้เป็นแนวทางในการเดินตามฝัน ตามเรามาดูกันค่ะ



แนะนำตัว
    สวัสดีค่ะ ชื่อเล่น ชื่อเล่น “เนย” ค่ะ ชื่อจริง นางสาวณัฐชานันท์ พันธุมชัย   เนยจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.)  เนยเข้า Tcas ปี 2563 สอบติดในรอบที่ 2 การรับเข้าแบบ โควตา ปัจจุบันเป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 3 สาขาแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามค่ะ ซึ่งกำลังเตรียมขึ้นชั้นคลินิก ในเทอมหน้านี้ค่ะ

อยากให้เล่าถึงเหตุผลที่เลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ค่ะ
    เป็นคำถามที่โดนถามบ่อยมากๆ ค่ะว่าทำไมถึงเลือกเรียนแพทย์? ก็มีหลายเหตุผลเลยค่ะ เนื่องจากว่าเนยเรียนสายวิทย์-คณิตมาตั้งแต่ ม.ต้น จนถึง ม.ปลาย ซึ่งใน ม.ต้น เรียนห้อง Gifted ส่วน ม.ปลาย เนยเรียนห้องเรียนพิเศษในโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ซึ่งเนยเรียนที่ศูนย์มหาสารคาม นั่นคือ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตอนที่ตัดสินใจว่าตัวเองจะเลือกเดินทางไหนก็มีอยู่ไม่กี่คณะ ตอนนั้นที่คิดไว้ก็จะมีคณะวิศวะ คณะวิทย์ แล้วก็วิทยาศาสตร์สายสุขภาพทั้งหมดค่ะ ขอบอกก่อนเลยนะคะว่า วิชาที่เนยถนัดมากที่สุดคือ คณิตศาสตร์กับเคมีค่ะ ส่วนวิชา ชีววิทยา ไม่ได้ถือว่าเก่งมากแต่พอเรียนให้ผ่านไปได้ แต่สุดท้ายก็ตกลงเลือกเรียนที่คณะแพทย์ค่ะ เพราะ รู้สึกว่าอยากลองท้าทายตัวเองดูในวิชาที่ไม่ถนัด จะไม่เสียใจทีหลังว่าทำไมไม่เลือกแพทย์ตั้งแต่แรก อีกเหตุผลคือ ถ้ามองระยะยาวเรื่องความมั่นคง อาชีพแพทย์ตอบโจทย์ได้มากที่สุดค่ะ ทั้งด้านการช่วยเหลือสังคมผู้ป่วย แบ่งเบาภาระครอบครัว รวมถึงความมั่นคงในอาชีพของตนเอง

อะไรคือแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์ของน้องเนยคะ
    แรงบันดาลใจที่สำคัญของเนยก็คือ “คุณแม่” ค่ะ ท่านเป็นส่วนหนึ่งในการให้คำแนะนำในเรื่องการเลือกคณะฯ  และท่านคือผู้ที่ผลักดันและสนับสนุนในการเรียนทุกช่วงเวลาของเนย ในยามที่เนยท้อแท้ เหนื่อย คุณแม่นี่แหละค่ะที่คอยให้คำแนะนำ ทุกคำแนะนำก็ดีมากๆ ทั้งให้กำลังใจเรื่องการเรียน ทั้งยังช่วยเหลือเรื่องต่างๆที่เนยประสบปัญหา คุณแม่เลยเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เนยทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้ประสบความสำเร็จค่ะ



เรามีวิธีเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ในการสอบเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์
    เนยเริ่มเตรียมตัวอ่านหนังสือตอน ม.5 เทอม 2 ค่ะ เริ่มจากการเก็บเนื้อหา ม.ปลายทุกวิชาให้จบก่อน พอเรียนทุกวิชาจนจบแล้วเนยก็ทำโจทย์ค่ะ เนยสร้างตารางวางแผนในแต่ละวันว่าวันนี้เนยจะทำโจทย์วิชาอะไรบ้าง เน้นไปที่วิชาที่มีน้ำหนักมากๆก่อน คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ค่ะ  พอใกล้จะสอบช่วงปิดเทอมก็รีวิวเนื้อหาทุกวิชาใหม่อีกครั้งเป็นการทบทวนอีกครั้งค่ะ ทำโจทย์ให้เยอะที่สุดค่ะ และก็เช็คว่าครบทุกวิชาที่ต้องสอบ ก่อนวันสอบ 2-3 วันก็ไม่อ่านแล้วค่า ทำสมองให้โล่งๆ เพื่อให้มีสมาธิก่อนสอบมากที่สุดค่ะ

ทุกๆ คนจะรู้ว่าการเรียนคณะแพทย์นั้น เรียนหนักมาก! และมันยากมาก น้องเนยเคยเจอประสบการณ์แบบนั้นมาบ้างหรือปล่าว  และเราข้ามผ่านมันมาได้อย่างไร 
    เนยเชื่อว่าทุกคนที่เรียนมาทางสายนี้ต้องเจอกับความเครียดและความกดดันแน่นนอนค่ะ เนยไม่ใช่คนที่เรียนเก่งมากก็จะเจอปัญหาเรียนแล้วไม่เข้าใจบ้าง เราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเนื้อหาเพื่อเช็คความเข้าใจกับเพื่อนได้ค่ะ แต่สิ่งที่แย่กว่านั้นก็คืออ่านไม่ทัน เพราะว่าคณะแพทย์ใช้ระบบการเรียนแบบ “บล็อก” คือ เรียนเป็นระบบร่างกาย เช่น เรียนระบบทางเดินอาหาร 1 ก็จะเรียนจบภายใน 2 อาทิตย์ รวมถึงวันที่เราต้องสอบก็จะอยู่ใน 2 อาทิตย์นี้ด้วย ดังนั้น เนยจะต้องสอบค่อยข้างถี่ เวลาอ่านหนังสือก็ต้องอ่านแต่เนิ่นๆ บางทีก็มีเหนื่อยบ้าง แต่เนยก็มีแนวคิดว่าทำปัจจุบันให้เต็มที่ ผลลัพธ์จะเป็นยังไงเราจะไม่เสียใจเพราะเราได้ทำเต็มที่แล้วค่ะ ถ้าไม่ไหวจริงๆลองปรึกษาเพื่อนหรือคุณแม่ให้ท่านคอยให้กำลังใจให้เราสู้ต่อไปค่ะ





เรียนหนักๆแล้ว อยากให้เล่ากิจกรรมยามว่างของของน้องเนยให้ฟังหน่อยค่ะ
    ก็เหมือนชีวิตนักศึกษาทั่วไปเลยค่ะ ก็มีอ่านหนังสือบ้าง เล่นเกมส์ ดูหนัง เล่นดนตรีร้องเพลง ว่ายน้ำออกกำลังกายค่ะ ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้างถ้าได้หยุดยาว แต่ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านมากกว่าค่ะ หลังเรียนเสร็จบางวันก็จะนัดกับเพื่อนๆไปทานข้าวกันบ้าง แชร์สารทุกข์สุขดิบกันต่างๆนานาค่ะ

เคล็ดลับดีๆ ในการเรียน 
เนยแนะนำนะคะ พยายามตั้งใจเรียนในห้องให้เข้าใจก่อน พอเรากลับมาอ่านซ้ำจะได้ไม่กลับมาเสียเวลาทวนว่า เราเรียนอะไรไปบ้างค่ะ ต้องขยันค่ะแนะนำว่าก่อนเราจะเรียนให้อ่านเนื้อหาไปก่อนคร่าวๆก่อนหนึ่งรอบ และหลังเรียนเสร็จให้อ่านทบทวนเนื้อหาตอนหัวค่ำอีกหนึ่งรอบ วิธีนี้จะช่วยให้ไม่ต้องเร่งอ่านมากตอนใกล้สอบ สุดท้ายตอนใกล้สอบพยายามจดสรุปเนื้อหาแบบย่อเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ถ้าลืมก็กลับมาอ่านสรุปที่ทำไว้ ชีวิตจะง่ายขึ้นมากๆเลยค่ะ ไม่แนะนำให้โต้รุ่งก่อนสอบนะคะ เพราะสมองจะทำงานได้ไม่เต็มที่ค่ะ

ความภูมิใจในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    อันแรกคือที่เนยภูมิใจคือ อาจารย์ค่ะ อาจารย์ที่สอนเนยก็มีสไตล์การสอนของแต่ละคนแตกต่างกันไปค่ะ แต่ทุกท่านมีความรู้ที่จะมอบให้นิสิตทุกคน มีคำถามหรือสงสัยอะไร สามารถามได้เลยค่ะอาจารย์ทุกท่านพร้อมที่จะให้คำตอบ ที่ปรึกษาก็ดูแลแบบครอบครัว รู้สึกอบอุ่นมากเลยค่ะ  ที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่นี่มีห้องอ่านหนังสือ 24 ชั่วโมงด้วย สามารถเข้าใช้บริการได้ตลอด ซึ่งดีมากเลยค่ะ ในส่วนของมหาวิทยาลัย เนยเรียนที่นี่ตั้งแต่มัธยมปลาย แล้วค่ะ แล้วก็เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ก็มีความผูกพัน คุณแม่ก็ทำงานที่นี่ ครอบครัวก็อยู่มหาสารคาม  และที่สำคัญเนยมองว่าไม่ว่าแพทย์ที่ไหนก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้คะ เนยเกิดที่ภาคอีสานและถ้าจบการศึกษาก็ต้องใช้ทุนในเขตภาคอีสาน เป็นการตอบแทนบ้านเกิด และได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมค่ะ



หากมีน้องๆ มัธยมกำลังอ่านอยู่  อยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ ว่าน้องๆ ต้องเตรียมตัวกันอย่างไรบ้าง
    น้องๆคนไหนที่รู้ตัวแล้วว่าตัวเองอยากเป็นแพทย์ ต้องเข้าใจก่อนเลยว่า อาชีพแพทย์คืออาชีพที่ต้องรักษาชีวิตคน ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยที่ต้องรักษา แต่รวมไปถึงญาติพี่น้องของผู้ป่วยด้วยที่เราต้องรับมือ เพราะฉะนั้นน้องๆ นอกจากจะต้องมีความรู้แล้วต้องมีความเห็นอกเห็นใจและทักษะการสื่อสารที่ดีด้วย ใครที่คิดว่าจะเข้ามาเรียนเป็นแพทย์ เพื่อจบแล้วจะร่ำรวยมีเงินทอง อาจจะยังไม่ถูกต้องทีเดียว อาชีพอื่นที่หาเงินง่ายกว่ามีเยอะแยะ ดังนั้น ต้องถามใจตัวเองมากๆ หลายๆ รอบค่ะ
 สิ่งที่ต้องต่องเตรียมเลยคือ หนึ่ง เตรียมร่างกาย เตรียมเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาด เช่น โควิด-19 เพราะฉะนั้นน้องต้องมีความรู้ พร้อมรับมือตลอดเวลา สอง เตรียมใจ คนไข้ที่จะเจอมีมากมาย ต่างคนต่างต้องการให้เราเข้าไปรักษา ถ้าหากเรารักษาแล้วเกิดความไม่พึงพอใจบ้าง เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้คิดว่าผู้ป่วยคือญาติคนสนิทของเรา เราอยากได้รับการรักษาแบบไหน เขาก็อยากได้แบบเดียวกัน สุดท้าย เตรียมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความกดดันทั้งช่วงเรียนและช่วงทำงาน อย่ามองความลำบากให้มองไปที่ผลลัพธ์ ผู้ป่วยแฮปปี้ ญาติแฮปปี้ เราก็แฮปปี้ ทุกคนมีความสุข ลองเอาสิ่งที่เนยได้บอกไปลองคิดดูค่ะว่า อาชีพแพทย์ใช่ตัวตนจริงๆของเรารึเปล่า ถ้าน้องยอมๆรับได้ รั้วประตูสู่คณะแพทย์ตามหาคนแบบน้องอยู่ค่ะ
















Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

ภาพประกอบบทความ

  :   ถ่ายภาพ : จุฑามาศ ภิญโญศรี / กราฟิก : ปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts