รางวัลเชิดชูเกียรตินักประดิษฐ์นวัตกรรมดีเด่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2565 


         อีกหนึ่งความประทับใจกับรางวัลเกียรติคุณ โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีมติมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักประดิษฐ์นวัตกรรมดีเด่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2565 ให้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสบอร รินทอง สังกัดคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

รู้สึกอย่างไรกับการที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
รู้สึกประหลาดใจค่ะที่ได้รับรางวัล เพราะเมื่อปี 2563 เคยส่งผลงานตรีผลาเข้าประกวด แต่ไม่ได้รับคัดเลือก ก็เข้าใจได้ว่าผลงานของเรามันเป็นงานเล็ก ๆ จนกระทั่งปีนี้ ทางคณะเภสัชได้ส่งผลงานชุดโครงการตรีผลาเข้าประกวดอีกครั้งจึงได้รับรางวัล น่าจะเป็นเพราะในปีนี้อนุสิทธิบัตรต่าง ๆ ที่ได้ยื่นขอไว้ได้รับอนุมัติทะเบียนครบทั้งหมดและมีภาคเอกชนมาขอใช้ประโยชน์เทคโนโลยี งานจึงดูสมบูรณ์มากขึ้น มีตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากสังคม ในฐานะนักวิจัยรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจมากค่ะ



อยากให้ขยายความคำว่า นักประดิษฐ์นวัตกรรมคิดค้นดีเด่น
ไม่รู้ว่าตัวเรากับคณะกรรมการที่ตัดสินรางวัลมีนิยามของ “นักประดิษฐ์นวัตกรรมคิดค้นดีเด่น” ตรงกันรึเปล่านะคะ โดยส่วนตัวเป็นคนชอบคิดทำอะไรที่มันใช้งานได้ งานมันต้องมีจุดขาย ซึ่งแน่นอนว่า อยู่ ๆ จะให้มาประดิษฐ์คิดค้นอะไรที่มันดูเป็นนวัตกรรม มันทำได้ยากอยู่นะคะ 
ก่อนอื่นมันต้องรู้ลึก รู้จริงในเรื่องนั้นก่อน ความรู้มันถึงจะกลั่นตัวออกมาผสมกับความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบเป็นเทคโนโลยีหรือแนวคิดใหม่ได้ แล้วบางทีสิ่งที่เราคิด พอทำออกมากจริง ๆ ก็อาจจะไม่สำเร็จอย่างที่เราคิดด้วย ก็คิดว่า “นักประดิษฐ์นวัตกรรมคิดค้นดีเด่น” เนี่ย เค้าน่าจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ ผ่านความผิดหวัง ช้ำชอกมาเยอะ กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เพราะนวัตกรรมมันต้องมีขั้นตอนสุดท้ายมาพิสูจน์ด้วยนะ คือมีคนเอางานของเราไปใช้และมันจะต้องใช้ได้ผลดีด้วยนะ ฟังดูหนทางชีวิตลำบากเหมือนกันนะคะ

มีมุมมองเกี่ยวกับงานวิจัยอย่างไรบ้าง
ทำงานวิจัยสนุกนะคะ ท้าทายดี เหมือนเล่นเกม ได้ลองคิด ลองทำดูสิว่ามันจะเป็นจริงหรือมันจะแก้ปัญหาได้อย่างที่เราคิดไว้ตอนแรกรึเปล่า แต่อันที่ไม่สนุกคือ ตอนที่ต้องทำรายงานตามรูปแบบที่กำหนด ปีนี้ใช้หน้าปกหนังช้างสีเหลือง มีสารบัญ ภาคผนวก ระเบียบพัสดุ จัดซื้ออะไรแบบนี้ เข้าใจว่าเป็นระเบียบราชการ แต่มันน่าเบื่อมากค่ะ ขอบ่นหน่อยนะคะ



ผลงานที่ผ่านมีอะไรบ้าง
ตอนขึ้นรับโล่รางวัล นายกสภามหาวิทยาลัยถามว่า ใช้เวลาทำผลงานนี้มานานเท่าไร ตอบไปว่า ประมาณ 15 ปีค่ะ ท่านก็บอกว่า ก็สมควรได้รางวัลนะครับ พอเรากลับมาคิดดูใช้เวลานานอยู่นะ สรุปว่าควรจะได้รางวัลดีมั้ย เพราะทำผลงานตรีผลาเป็นธีมหลักเลยนะคะ น่าจะประมาณ 70% ของงานวิจัยที่ทำมา ส่วนที่เหลือก็ทำสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่เป็นงานที่ทำร่วมกับนักวิจัยท่านอื่น 
ขออธิบายก่อนว่า พอเราจะทำผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นยาหรืออยากให้มันออกฤทธิ์ต่อร่างกาย มันก็ต้องเริ่มตั้งแต่สร้างข้อมูลวิจัยพื้นฐานของสมุนไพร ทดสอบว่ามันมีฤทธิ์ดีมั้ย เป็นพิษหรือเปล่า กินเยอะแค่ไหน ใช้นานเท่าไรถึงจะเห็นผล คิดออกแบบ ดีไซน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เราคิดว่ามันเจ๋ง แล้วเอาไปขึ้นทะเบียนยา 
อย่างตรีผลา มันเป็นตำรับยาที่มีสมุนไพร 3 ชนิด สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ก็เหมือนทำพืช 3 ชนิด ก็อาจจะใช้เวลานานหน่อย ดีนะที่ไม่ไปเลือกทำตำรับยาอย่างเบญจกูลที่มีพืช 5 ชนิด ไม่งั้นอาจจะใช้เวลาทำนานกว่านี้อีก
ตอนนี้ผลงานที่มีอยู่ในมือก็เป็นองค์ความรู้ตั้งแต่วิธีการคัดเลือกวัตถุดิบสมุนไพรที่จะเอามาทำผลิตภัณฑ์ว่าจะเลือกยังไงถึงจะดี การแปรรูปสมุนไพร ทำสารสกัด กระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ตรีผลา ทั้งที่เป็นสารสกัด ยาเม็ด แคปซูล ชาชง ผงชง เม็ดฟู่ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงถ้าอยากจะใช้ตรีผลาเพื่อให้เป็นยาระบาย ขับถ่ายคล่อง หรือกินเพื่อลดไขมันในเลือดจะต้องใช้ยังไง ตอนนี้เรามีอนุสิทธิบัตรเกี่ยวกับตรีผลา 7 ฉบับ ทำทั้งในรูป know how ไปจนถึงเป็น product และมีภาคเอกชนนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์แล้ว 2 ชิ้นงานค่ะ



มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบพระคุณทุนวิจัย เงินรายได้จากคณะเภสัชศาสตร์นะคะ ที่สนับสนุนทุนวิจัยและวัสดุอุปกรณ์มาตั้งแต่แรกเริ่มเลย และทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยด้วย ขอขอบคุณทีมวิจัยและนิสิตในที่ปรึกษาที่ช่วยกันทำชุดโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง รุ่นแล้วรุ่นเล่า และหน่วยงาน MSU UIC ที่ช่วยดำเนินการเรื่องการจดทรัพย์สินทางปัญญาและพาออกงานประชาสัมพันธ์ให้องค์กรภายนอกได้รู้จักผลงานเราค่ะ

มีแผนการนำผลงานวิจัยลงสู่ชุมชนอย่างไร
ชุดผลงานตรีผลาถูกเอาไปใช้นานแล้วนะคะ เราอาจจะอ่อนแอเรื่องการประชาสัมพันธ์ผลงาน แต่มีการใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีและการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสู่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะตัวชุดโครงการจะเป็นลักษณะการทำงานวิจัยแล้วเอาชิ้นงานมาลองใช้ ตรงไหนที่ไม่ดีหรือเราคิดว่ามีจุดอ่อน หรือตรงส่วนนี้น่าจะเอามาปรับปรุงให้ดีได้อีก เราก็จะเอาไปทำต่อ ก็ทำวนไปมาแบบนี้ ในช่วงปีหลังที่เรามีข้อมูลวิจัยสะสมมากขึ้น จะเห็นว่าเริ่มมีผลิตภัณฑ์ออกมาให้รู้จักมากขึ้นค่ะ ถ้าพูดถึงคณะเภสัช มมส คุณต้องนึกถึงตรีผลาตามมาด้วย นี่คือเป้าหมายที่วางไว้

ในอนาคตจะมีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อย่างไรบ้าง
คิดว่าจะหันไปทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากตรีผลาค่ะ คราวนี้น่าจะทำออกมาได้เร็วขึ้น เพราะเรามีประสบการณ์มาแล้ว น่าจะยังคงเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในแนวทางที่เราถนัด แต่จะมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือ กลุ่มวัยกลางคนที่กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
อย่าท้อค่ะ ขอให้ทำงานแล้วรู้สึกสนุกกับงานก็พอ ความสำเร็จมันต้องรอเวลาที่เหมาะสมร่วมกับความพยายามและความอดทนค่ะ

คติในการทำงาน
เมื่อก่อนเป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ จะทำออกมาให้ดีที่สุดจนสุดความสามารถ แต่ตอนนี้คติการทำงานเปลี่ยนเป็น “มีแต่งานที่ดีและเสร็จทันเวลาค่ะ”


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์ / นายวรเมธ ดวงกุลสา นิสิตฝึกประสบการณ์

Related Posts