รางวัลชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีพุทธศักราช 2565 
      ด้วยความมุ่งมั่น รอบรู้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และกำลังสติปัญญา ตลอดทั้งความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยอันเป็นที่ยอมรับของวงวิชาการในระดับชาติและระดับนานาชาติ และการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น รางวัลเชิดชูเกียรติพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ให้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพล วังคะหาด 



รู้สึกอย่างไรกับการที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
       รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีพุทธศักราช 2565 เหมือนเป็นรางวัลของชีวิตนักวิจัยคนหนึ่งที่ได้ทุ่มเทให้กับงานวิจัยและจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้สร้างสรรผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนและมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อไป

มองเรื่องของงานวิจัยในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
        ปัจจุบัน เทคโนโลยีต่าง ๆ มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วมาก เรียกได้ว่ามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเกิดขึ้นมากมาย หากเราเข้าถึงและรู้จักใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้งานวิจัยของเราสามารถพัฒนาต่อยอดต่อไปได้อีกหลายด้าน จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาอย่างมากมาย เรียกได้ว่าเป็นคลังความรู้อย่างมหาศาลที่เราสามารถเข้าถึงง่ายกว่าสมัยก่อน การค้นคว้างานวิจัยใหม่ ๆ จึงสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นผลดีต่อนักวิจัยที่จะนำมาต่อยอดหรือพัฒนาเป็นงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนต่อไปได้ 



ผลงานที่ได้รับการคัดเลือก และผลงานที่ผ่านมามีอะไรบ้าง
        ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ผมได้รับทุนวิจัยในฐานะหัวหน้าโครงการมากกว่า 20 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนจากหน่วยงานในต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม และยังมีความร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ออกมาเรื่อย ๆ โดยหลัก ๆ จะเป็นงานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันวิทยาในสัตว์น้ำที่เน้นการพัฒนาวัคซีนสำหรับปลาเศรษฐกิจ รวมทั้งงานวิจัยที่ใช้องค์ความรู้ทางภูมิคุ้มกันร่วมกับเทคโนโลยีโอมิกส์ (Omics Technologies) เพื่อใช้ในงานวิจัยทางโภชนศาสตร์สัตว์น้ำของประเทศไทย ผมมีบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ที่มีค่า Impact Factor (IF) และจัดอยู่ใน Quartile 1 กว่า 25 บทความ และมีบทความที่สามารถตีพิมพ์ลงในวารสารอันดับที่ 1 ของสาขา Fisheries ที่มีค่า IF เท่ากับ 10.618 และที่สำคัญผมได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการพิเศษ (Guest Editor) ของวารสาร Frontiers in Immunology ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำของโลกด้านภูมิคุ้มกันวิทยา และผมยังเป็นคณะกรรมการกองบรรณาธิการ (Editorial Board) ของวารสาร Frontiers in Immunology และ Frontiers in Aquaculture อีกด้วย นอกจากนี้ผมยังได้รับเชิญเพื่อเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ (Invited Speaker) ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติในต่างประเทศ เป็นกรรมการภายนอกในการสอบดุษฎีนิพนธ์ให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ และได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ (Invited Lecture) เพื่อบรรยายให้กับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA) และโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมแม่น้ำโขง มาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย



ที่ผ่านมามีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างไรบ้าง
        การทำงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จย่อมต้องผ่านปัญหาและอุปสรรคนานัปการ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราผ่านมันมาได้จะทำให้เราเข้มแข็งและอดทนขึ้น ตัวผมเองนั้นผ่านปัญหาและอุปสรรคมามากมายเช่นกัน เริ่มจากการเขียนขอทุนวิจัยที่ถือว่ายากมากสำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ในช่วงเริ่มต้น ห้องปฏิบัติการที่ขาดแคลนเครื่องมือที่ทันสมัย ขาดผู้ช่วยวิจัย รวมทั้งสถานที่วิจัยก็อยู่ห่างไกล เนื่องจากสาขาประมงมีห้องปฏิบัติการและโรงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในเขตพื้นที่นาสีนวน งานวิจัยแรกที่ได้รับทุนนั้น ผมต้องขับรถไปกลับจากมหาวิทยาลัยพื้นที่ขามเรียง (มอใหม่) เพื่อไปเลี้ยงปลาเองและลงทำวิจัยด้วยตัวเอง วันหนึ่งต้องขับรถไปกลับมากกว่า 35 กิโลเมตร เป็นเวลาหลายเดือนจนปิดโครงการ สุดท้ายแล้วผลงานวิจัยเรื่องนั้นทำให้ผมตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ใน Quartile 1 สำเร็จ ทำให้ผมภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก และผมใช้ประสบการณ์และอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นวิทยาทานให้กับผู้อื่น รวมทั้งใช้เป็นแรงผลักดันในการทำวิจัยโครงการอื่น ๆ ต่อมา



มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
         การเป็นอาจารย์และนักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคามนี้ถือว่าโชคดี เรียกได้ว่าอยู่ในสถานที่ที่เพียบพร้อมด้วยโจทย์วิจัยมากมาย เราอยู่มหาวิทยาลัยภูธรก็จริง แต่เรามีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่รายล้อมมหาวิทยาลัยให้เข้าถึงง่าย ปัจจุบัน ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้มีการทำวิจัยแก่อาจารย์และนักวิจัยมากมาย มีการให้ทุนวิจัยหลายช่องทางและปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้ทุนที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นทำให้นักวิจัยเข้าถึงทุนวิจัยได้ง่าย รวมทั้งยังมีการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหน่วยวิจัย (Research Unit) เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม และการได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นนี้ก็ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผมในการพัฒนางานวิจัยให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไปอีกเช่นกัน ผมต้องขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ช่วยสนับสนุนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ และทำให้เกิดบรรยากาศการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยขึ้นอย่างแท้จริง
 

มีแผนการนำผลงานวิจัยลงสู่ชุมชนอย่างไร
            งานวิจัยที่ทำในปัจจุบัน ผมเน้นงานวิจัยใน 2 ประเด็นหลัก คือการทำงานพื้นฐานในเชิงลึกในห้องปฏิบัติการ (Basic Sciences) เพื่อใช้ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Sciences) ซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลสู่สังคมและชุมชน ที่ผ่านมา ผมมีผลงานวิจัยที่ได้ทำร่วมกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในปลาเศรษฐกิจ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีของเกษตรกรให้เกิดความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโอมิกส์ (Omics Technologies) ร่วมกับการวิจัยด้านโภชนศาสตร์สัตว์น้ำของประเทศไทย มีการแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยและถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมในหลายโครงการ และมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยให้กับชุมชนผ่านการถ่ายทอดบริการวิชาการอีกด้วย การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมของผมนี้นับเป็นข้อดีในการทำงานวิจัยอย่างมาก ซึ่งช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นไปยังเกษตรกรผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก ไปจนถึงการการเผยแพร่ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติอีกด้วย



ในอนาคตจะมีการพัฒนาสิ่งงานวิจัยอย่างไรบ้าง
         จากที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า เทคโนโลยีมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การค้นหาเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหน้าที่หนึ่งของนักวิจัย ขณะนี้ผมได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาการใช้สารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant) ชนิดใหม่ของโลกและเป็นงานนวัตกรรมชิ้นใหม่ของประเทศไทย ร่วมกับวัคซีนที่ผมพัฒนาขึ้นเองในห้องปฏิบัติการ โดยให้วัคซีนผ่านวิธีการฉีด การแช่และการผสมวัคซีนลงในอาหาร ซึ่งผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการออกมาค่อนข้างดีมาก และผลการศึกษาในระดับฟาร์มเลี้ยงของเกษตรกรที่ได้ทดลองจริงก็ถือว่าดีเยี่ยมเช่นกัน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีมากว่า ทีมวิจัยของเรานำโดยผมเป็นหัวหน้าโครงการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามประสบผลสำเร็จขั้นต้น ขณะนี้เรามีการเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และเรากำลังจะตีพิมพ์ผลงานในวารสารชั้นนำของโลกอีกด้วย รวมทั้งจะขยายผลและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป นอกจากนี้ ผมได้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาโมโนโคลนอลแอนติบอดีขึ้นใหม่กว่า 20 ชนิด ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือทางชีวภาพที่นำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจโรคในสัตว์น้ำแบบง่าย ประหยัดและรวดเร็ว เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้งานแบบเรียลไทม์และหาแนวทางป้องกันโรคได้ทันท่วงทีอีกด้วย ทีมวิจัยของเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมใหม่ที่เรากำลังพัฒนาขึ้นนี้จะสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์อีกเช่นเดียวกัน



ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
           อยากฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า ความขยัน อดทน และความมุมานะในการทำงาน หากเรามีความตั้งอกตั้งใจในการทำงานแล้วย่อมจะนำไปสู่ความสำเร็จ แน่นอนว่า การวิจัยและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชนนั้น ย่อมต้องผ่านปัญหาและอุปสรรคมากมาย ดังนั้น หากเรามีความแน่วแน่และก้าวผ่านความยากลำบากนั้นมาได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมและสอนให้เราเป็นนักวิจัยมืออาชีพและเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศได้ในอนาคต ตัวผมเองก็ผ่านปัญหาและอุปสรรคมาเหล่านี้มาเช่นเดียวกัน คนเราย่อมมีจุดเริ่มต้นที่แสนยากลำบากและเราสามารถเลือกเส้นทางเดินงานวิจัยของเราได้ อยากฝากถึงน้อง ๆ นักวิจัยรุ่นใหม่ว่า การทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็งจะนำพาให้เราประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น เดินคนเดียวเราอาจจะเดินได้ไว แต่ถ้าจะเดินให้ไกลเราต้องไปด้วยกันนะครับ


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์/ นายวรเมธ ดวงกุลสา นิสิตฝึกประสบการณ์

Related Posts