มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับ
“ทีมเด็กปั้นปุ๋ย” นิสิตชั้นปีที่ 4 หลักสูตรเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับแนวคิดดีๆ
“เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นเรื่องปุ๋ยๆ” ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการ CSR Tollway Contest 2022 ปั้น ปลูก คิด(ส์) By Tollway Green Way และวันนี้สาร MSU ONLINE จะพาทุกท่านไปรู้จักกับน้องๆ “ทีมเด็กปั้นปุ๋ย” และพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิด ในการสร้างสรรค์ผลงานนี้ออกมาจนประสบความสำเร็จ จะเป็นอย่างไรนั้น ตามเรามาค่ะ
แนะนำสมาชิกในทีม "เด็กปั้นปุ๋ย"
สมาชิกในทีมเด็กปั้นปุ๋ย นายจักรพรรดิ คณารส , นางสาว วรดา ชัยศรี ,นาย สกลภัทร วงษ์เฮือน กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษาในการจัดทำโครงการนี้ ผศ.ดร.อภิพงษ์ พุฒคํา ค่ะ
อยากให้เล่าถึงที่มาของโครงการ และรางวัลที่ได้รับจากการประกวดแข่งขันครั้งนี้ ?
ทีม "เด็กปั้นปุ๋ย" ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดโครงการ CSR Tollway Contest 2022 ในหัวข้อ ปั้น ปลูก คิด(ส์) By Tollway Green Way การประกวดโครงการ “ปั้น ปลูก คิด(ส์)” จัดโดย บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) โดยหัวข้อของการจัดประกวดในครั้งนี้ คือ “ปั้น ปลูก คิด(ส์) by Tollway Green Way” นโยบายการยกระดับด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งแบบยั่งยืน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาอายุระหว่าง 18 - 25 ปี ที่อยากพัฒนาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก ส่งผลงานเข้าประกวดด้วยการคิดค้นโครงการที่สามารถปฏิบัติได้จริงมีเหตุผลรองรับ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมที่อยู่ในชุมชนและชาวบ้าน เพื่อชิงทุนการศึกษากว่า 150,000 บาท โดยมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม 8 มหาวิทยาลัย จำนวน 10 ทีม และทีม "เด็กปั้นปุ๋ย" ได้รับรางวัลชนะเลิศค่ะ
ทีม “เด็กปั้นปุ๋ย” กับแนวคิด “เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นเรื่องปุ๋ยๆ”
เนื่องจากก่อนหน้าที่จะทำโครงการ ทีมเด็กปั้นปุ๋ยได้ไปถอดบทเรียนเกี่ยวกับขยะ และพวกเราได้เจอกับชุมชนบ้านหนองโก และชุนชนหนองโก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ซึ่งชุมชนได้ทำบ่อหมักปุ๋ยอยู่แล้ว ทำให้ทีมเด็กปั้นปุ๋ยและอาจารย์ได้มีความสนใจเกี่ยวกับปุ๋ยที่ชุมชนได้นำเสนอในการประชุมถอดบทเรียน ดังนั้นทีมเราจึงทำการลงพื้นที่ที่ชุมชนบ้านหนองโก เพื่อศึกษาวิธีการทำบ่อซีเมนต์ในการหมักปุ๋ยที่ได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งการเกษตรของชุมชน อาทิ แกลบข้าว มูลสัตว์ เถ้าชานอ้อย และขี้หม้อกรอง และได้เห็นว่าชุมชนไม่มีการคิดสัดส่วน และใช้ระยะเวลาในการหมักนานถึง 6 เดือน ต้องพลิกกลับกอง ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน ทีมเด็กปั้นปุ๋ยเลยได้ทำการคิดสูตรและทำวิธีการหมักใหม่ เพื่อไม่ให้ชุมชนหนองโกไม่ต้องใช้ระยะเวลานาน ( 2 เดือน) ก็สามารถนำไปขึ้นเม็ดปุ๋ยได้ คิดสูตรในการหมักให้เป็นสัดส่วน และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานรากชุมชน จึงได้ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และได้สร้างโรงเรือนผลิตปุ๋ยอัดเม็ดบ้านหนองโก ที่เป็นสถานที่หมักปุ๋ย พร้อมเครื่องร่อนปุ๋ย และเครื่องขึ้นเม็ดปุ๋ย ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดทำปุ๋ยขายในต่อๆ ไปได้
ระยะเวลาที่ใช้เวลาในการดำเนินการ?
ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 1 เดือนค่ะ
อุปสรรคและปัญหาที่พบระหว่างดำเนินงาน?
เรามีปัญหาเรื่องระยะเวลาที่เร่งด่วนของการดำเนินการ และเรื่องอบรมชาวบ้าน เนื่องจากช่วงที่ดำเนินโครงการเป็นช่วงเกี่ยวข้าว ซึ่งทำให้การอบรมชาวบ้านต้องเว้นระยะในการอบรม เพื่อที่จะได้ให้ชาวบ้านไปเกี่ยวข้าวค่ะ
อยากให้เล่าถึงการทำงานเป็นทีม (Teamwork) ของ “เด็กปั้นปุ๋ย”
ทีมเด็กปั้นปุ๋ยของเรา ในการทำงานเป็นทีมอย่างแรกเราต้องมีเป้าหมายเดียวกันก่อน เพื่อต่อไปในการทำงานเป็นทีมเด็กปั้นปุ๋ยจะไม่มีปัญหา และต้องมีการวางแผนในการทำงานก่อนว่าเราจะทำอะไรกันบ้าง แต่ละคนได้ไอเดียหรือความคิดอะไรบ้างค่ะ ซึ่งในการทำงานเป็นทีมเด็กปั้นปุ๋ยนั้นแทบไม่มีปัญหา เลยทำให้การทำงานเป็นทีมของเราผ่านไปได้โดยที่ไม่คิดอะไรมากค่ะ
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้
ประสบการณ์ที่ทีมเด็กปั้นปุ๋ยก็คือทำให้ รู้วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะมากขึ้น กล้าพูดกล้าตอบมากขึ้นหรือมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นมากขึ้น
บอกเล่าความรู้สึกเมื่อได้รับรางวัลในครั้งนี้
พวกเรารู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก ทีมเด็กปั้นปุ๋ยเราไม่เคยมีใครไปแข่งมาก่อน พอได้รับรางวัลชนะเลิศทำตัวไม่ถูกเลย และยังทำให้ชาวบ้านหรือชุมชนดีใจมากๆ อีกด้วย ภูิใจมากค่ะ
แนะนำ เชิญชวนน้องๆ มาเรียนที่คณะสิ่งแวดล้อม มมส
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับพวก ขยะ อากาศ บำบัดน้ำเสีย ดิน และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ เข้าห้องแลปซะส่วนใหญ่ ถ้าถามว่ามีเข้าป่าไหม ก็มีบ้างนะคะ แต่มันขึ้นอยู่กับสาขาที่น้องๆเลือก ถ้าน้องๆชอบแลป ก็มาสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เลยค่ะ