การทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่  ทุกคนในทีมมีเป้าหมายเดียวกันชัดเจน โดยร่วมกันทำงานเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้  ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และช่วยสนับสนุนให้ทุกคนในทีมทำงานให้เสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน เช่นเดียวกับ อาจารย์ นิสิต สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม “ทีม สารคามน้ำบ่ต้อง” ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ ในเทศกาลหุ่นฟางโคราช ครั้งที่ 2 MSU Online ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ด้วยค่ะ และเราจะพาทุกท่านไปพูดคุยกับสมาชิกในทีมถึงที่มาของความสำเร็จในครั้งนี้กัน ตามเรามาเลยค่ะ



แนะนำสมาชิกในทีม
สวัสดีครับ  พวกเรา ทีม "สารคามน้ำบ่ต้อง" นิสิตชั้นปีที่ 2 และ ชั้นปีที่ 3 สาขาทัศศิลป์ และสาขาประติมากรรม ซึ่งมีสามาชิกในทีมดังนี้ 1)นายสุธี  เล็กปัญญาวัฒน์  2)นายวัชรภรณ์  อุดมปรีชา 3)นายแทนไทย  น้อยสุวรรณา 4) น.ส.กฤติญาดา  ไปยะพรหม 5)นายภิมพศ ทาเงิน  6)นายศิลธร  เกษมรัตนพงษ์  7)น.ส.สุพิชชา แสนเขื่อน 8)น.ส.ฉัตรสุดา พุ่มทอง  9)น.ส.พิยาดา  แซ่พัน 10) นายนพรัตน์ สอสมิง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันติสุข แหล่งสนาม เป็นอาจารย์ผู้ควบคุมทีมครับ 

รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้
    สำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคามปีนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทอุดมศึกษา จากการประกวดแข่งขันเทศกาลหุ่นฟางโคราช ครั้งที่ 2 และได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาทครับ

เทศกาลหุ่นฟางโคราช ครั้งที่ 2
    เทศกาลประติมากรรมหุ่นฟางที่โคราชจัดขึ้นโดยการนำวัสดุที่เหลือใช้จากอาชีพเกษตรกรรมหรือฟางข้าว นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานในรูปต่าง ๆค่ะ จะนำมาสร้างพวกการ์ตูน ศิลปะการแสดงพื้นบ้านก็ได้ ในการจัดงานครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “โลกหลังโควิด กับชีวิตที่สมดุล” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยการสร้างสรรค์ผลงาน คือ การนำเอาหัวข้อที่เขากำหนดให้ในแต่ละปี ยกตัวอย่างเช่นปีนี้ ให้แนวคิดมาเป็น “โลกหลังโควิด กับชีวิตที่สมดุล” เราก็จะทำงานออกมาให้ตรงตามหัวข้อค่ะ





จุดเริ่มต้นของผลงานครั้งนี้
    เริ่มจากการคัดเลือกตัวการ์ตูน และได้ข้อตกลงในการนำตัวการ์ตูนน้องอาเนียมาต่อยอดในผลงาน เป็นเพราะด้วยตัวการ์ตูนนี้เป็นที่นิยมและมีบุคลิกที่เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ โดยมีการสะเก็ดไอเดียจากตัวการ์ตูนเรื่อง สปาย แฟมิลี (Spy X Family) ซีรีส์มังงะญี่ปุ่นที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ โดยนำตัวละครน้องอาเนียที่เป็นตัวละครเด็กผู้หญิงหัวสีชมพู และยานพาหนะก็คือโควิด เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด “โลกหลังโควิด กับชีวิตที่สมดุล” ครับ

แรงบันดาลใจของผลงานครั้งนี้
    สำหรับการประกวดแข่งขันในปีนี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากตัวการ์ตูนที่กำลังฮิตในปัจจุบันค่ะ ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนที่มีชื่อว่า น้องอาเนีย เป็นการ์ตูนที่มีบุคลิกที่น่ารักสดใสค่ะ ซึ่งน้องมีความสามารถในการอ่านใจของคนอื่นได้ สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่าย ก็เหมือนกับตอนนี้ที่เราต้องปรับตัวกับโรคระบาดในปัจจุบันค่ะ และน้องอาเนียมาพร้อมกับยานพาหนะที่เป็นเชื้อโรค ซึ่งจะสื่อถึงการขับเคลื่อนชีวิตไปพร้อมกับสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถเลือกที่จะมีความสุขได้ค่ะ

ขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้อย่างไรบ้าง
    เริ่มจากการร่างภาพคร่าว ๆ 2 มิติ พวกเราช่วยกันทำ ซึ่งมีสมาชิกชั้นปีที่ 2 และ 3 ครับ จากนั้นปั้นโมเดล 3 มิติ ด้วยดินน้ำมัน พี่ปี 3 จะเป็นคนปั้น และปี2เป็นคนเก็บรายละเอียด และได้ขยายแบบโดยมีอาจารย์ผู้ควบคุม แนะนำวิธีการขยายแบบ ขยายลงบนพื้นและเชื่อมเหล็กตามโครงสร้างของแบบ โครงสร้างเหล็กต้องเสร็จก่อนจึงจะใส่ฟางเข้าไปได้ครับ และต่อมาก็แยกโครงสร้างเหล็กออกเป็นส่วน ๆ ในการแยกเป็นส่วน ก็จะแยกส่วนที่เป็นหัวออกมาเพื่อให้สะดวกต่อการทำ เพราะส่วนหัวเป็นส่วนที่ใหญ่มากครับ รวมทั้งหมดก็ประมาณ 10 เมตรครับ จากนั้นค่อยนำมาต่อเข้ากันกับส่วนตัว และต่อมาก็เป็นส่วนของยานพาหนะเราใช้การประกอบโครงขึ้นมาใหม่ครับ และเอาล้อเก่าที่มีอยู่แล้วนำเข้ามาดัดแปลงในการทำยานพาหนะ ต่อมาก็เป็นขั้นตอนการใส่ฟางครับ เราใช้ตะข่ายลวดในการสร้างให้เป็นแผ่นฟางจะเป็นรูปทรงคล้ายๆโพรง จากนั้นทีมของเราก็ทำการใช้เชือกสีสันต่าง ๆนำมาถักบนผิวฟาง และใช้วัสดุต่าง ๆตามท้องตลาดมาผสมผสานให้เข้ากับฟางครับ เช่น กะละมังสแตนเลส ฝาชี สายลัดไฟ แล้วก็ต้นกก ต้นไหลมาผสมผสานให้เข้ากับหุ่นฟาง และระยะเวลาในการทำ เราใช้เวลาในการทำ 8 วันในการทำผลงานครั้งนี้ครับ





เกณฑ์ในการตัดสิน
ในการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มครับ มีกลุ่มของภาคอุดมศึกษา หรือของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มภาคประชาชน กลุ่มนี้จะมาจากตำบลและระแหวกใกล้เคียงที่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาครับ

ผู้เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้
ผู้เข้าร่วมมี 10 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนศิลป์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคามค่ะ

ความรู้สึกที่ได้รับรางวัล
ในการทำหุ่นฟางของทีมเราครั้งนี้เป็นครั้งแรกเลยครับ เนื่องจากเทศกาลหุ่นฟางที่จัดขึ้นมาครั้งแรกก็เป็นช่วงโควิด ซึ่งพักไปประมาณ 3 ปีครับ แต่ครั้งที่ 2 ได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวดครับ จากการเข้าแข่งขัน พวกเราได้แชมป์ 2 สมัยติดครับ มีความรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจที่ได้ครองแชมป์เป็น 2 สมัย รวมถึงทีมของเราที่เป็นทีมใหม่และเป็นปีแรกที่เคยสร้างสรรค์หุ่นฟางเป็นครั้งแรก เพราะทีมที่ได้แชมป์ในสมัยแรกเป็นอีกทีมหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงานของรุ่นพี่ครับ



ทำงานร่วมกันอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ
วิธีทำงานร่วมกันของพวกเราก็จะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยพี่ปี 3 จะเป็นฝ่ายเชื่อมเหล็ก ส่วนปี 2 ก็จะเป็นการใส่ฟางเข้ากับลวด แบ่งหน้าที่กันไปเรื่อย ๆ ทำตามขั้นตอนทีละส่วน ตามที่วางแผนไว้ หากมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาที่เกี่ยวกับงาน พวกเราจะปรึกษากันและช่วยกันแก้ไขครับ หากไม่มีแนวทางในการแก้ไข ก็จะปรึกษาอาจารย์เพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขให้เร็วที่สุด ไม่ล่าช้าต่องานที่ทำครับ และทุกคนในทีมจะมีบทบาทในการทำผลงานเท่า ๆกันครับ จะไม่มีใครได้ทำมากหรือน้อยจนเกินไป เพราะหน้าที่ที่เราแบ่งกันทำ ก็ล้วนแต่สำคัญเท่า ๆกันหมดครับ 

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าประกวด
จากการได้เข้าร่วมประกวด ก็ได้ประสบการณ์การเรียนรู้วิธีการทำหุ่นฟางและได้รู้จักการใช้วัสดุต่าง ๆให้เกิดประโยชน์ และได้ประสบการณ์จากการทำงานเป็นทีม โดยการแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งเห็นถึงความสามัคคีที่ต้องช่วยกันทำงาน จนถึงจุดที่ประสบความสำเร็จครับ และก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ให้โอกาส ขอบคุณโครงเทศกาลหุ่นฟางโคราช ครั้งที่ 2 ที่ให้ประสบการณ์การแข่งขันในครั้งนี้

ฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจในด้านนี้กันหน่อย
ขอเชิญชวนน้อง ๆปี 1 ที่กำลังเลือกวิชาเอกในปี 2 นะคะ พี่แนะนำให้เราเลือกสิ่งที่เราชอบหรือเราถนัด เพราะเราจะทำได้ดีและมีความสุขในการเรียน สำหรับเอกประติมากรรมเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจค่ะ เพราะว่าเอกของนี้มีหลากหลายเทคนิค วิธีการ และความรู้อีกมากมายรอพวกเรามาเรียนรู้อยู่นะคะ และที่สำคัญอาจารย์ใจดีมากค่ะ มาเรียนกันเยอะ ๆ นะคะ



Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts