นักวิจัย มมส สร้างผลงานวิจัยเด่นการเพิ่มมูลค่าแหนแดง และการใช้ประโยชน์จากแหนแดงทางการเกษตร นำแหนแดงที่หาได้จากธรรมชาติ มาเพิ่มมูลค่า ในงานวิจัยเป็นวัสดุปลูกไนโตรเจนสูงจากแหนแดง ซึ่งแหนแดงเป็นพืชน้ำ มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น อีกทั้งแหนแดงมีโปรตีนสูง เมื่อเน่าสลายจะมีการปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้อย่างรวดเร็ว สามารถขยายพันธุ์ฯ ได้อย่างรวดเร็ว เหมาะในการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจนประสิทธิภาพสูง โดยอาจารย์ ดร.ศุภชัย  สุทธิเจริญ รองคณบดีฝ่ายจัดการทรัพยากรและพัฒนาคุณภาพนิสิต  คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



กล่าวถึงที่มาของโครงการ
     แหนแดงเป็นพืชน้ำมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น และแหนแดงมีโปรตีนสูง เน่าสลายปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย มีประโยชน์คือ ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยที่ในโพรงใบแหนแดง สามารถดึงเอาไนโตรเจนจากอากาศมาใช้สำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ แหนแดงมีอัตราส่วนระหว่างคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C : N) อยู่ระหว่าง 8 – 13 หลังถูกไถกลบ จะย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในระยะเวลาที่สั้นประมาณ 8 สัปดาห์ ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น ลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว แหนแดงจะคลุมผิวน้ำป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องลงไปในน้ำ ทำให้วัชพืชในน้ำเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่แหนแดงสามารถเลี้ยงได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแหนแดงในนาข้าวร่วมกับการเลี้ยงปลา พบว่า มีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตข้าวใกล้เคียงกับการเลี้ยงปลาในนาข้าวโดยใช้ปุ๋ยเคมีตามปกติ และยังให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนเพียงอย่างเดียว


    จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำแหนแดงมาเป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตวัสดุปลูกพืชและวัสดุเพาะเมล็ดคุณภาพสูงจากพืชที่สามารถหาได้ในพื้นถิ่นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนให้มาทำการเกษตรแบบอินทรีย์มากยิ่งขึ้น และได้กำหนดให้จัดทำองค์ความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ในชุมชนใกล้เคียงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง



ความพิเศษของงานวิจัยชิ้นเป็นอย่างไร
ความพิเศษของงานวิจัยนี้คือ”ได้วัสดุเพาะและวัสดุปลูกมีคุณภาพสูงเทียบเคียงกับหลายยี่ห้อทางการค้าที่มีจำหน่ายทั่วไป” มีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.5-7.5  รักษาความชื้นได้ดี ไม่มีเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการเน่าของระบบรากและเมล็ดได้ เหมาะสำหรับการนำไปเพาะเมล็ดพืชผักและการนำไปอนุบาลไม้ประดับที่มีมูลค่า เช่น ตระกูลไม้ด่าง เป็นต้น รวมถึงสามารถลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการผลิตของเกษตรกรเนื่องจากแหนแดงมีคุณสมบัติพิเศษคือ ไม่จำเป็นต้องนำมาหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลายที่สมบูรณ์เหมือนกับปุ๋ยคอก หรือเศษพืช ทั่วไป 



ทำไมเลือกทำงานวิจัยชิ้นนี้ 
เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาด้านของต้นทุนการผลิต เช่น วัสดุเพาะเมล็ดสำหรับพืชผักมีราคาค่อนข้างสูง และอยากให้เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรทั่วไปให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดอยางต่อเนื่อง



ระยะเวลาในการทำงานวิจัยชิ้นนี้
เราใช้ระยะเวลาในการทำวิจัยชิ้นนี้ เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ของแหนแดง การอนุบาล และขั้นนำไปทดลอง ใช้ระยะเวลาในการทำวิจัยครั้งนี้ประมาณ 6 เดือน

เราสามารถนำงานวิจัยนี้มาต่อยอด พัฒนา อย่างไรได้บ้าง
งานวิจัยชิ้นนี้เราสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น วัสดุปลูกและวัสดุเพาะเมล็ดคุณภาพสูงเชิงการค้าได้



ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
ปัญหาของการดำเนินงาน ได้แก่
1. เกษตรกรจะต้องมีพื้นที่สำหรับทำบ่ออนุบาลเพื่อนำแหนแดงไปขยายปริมาณให้เพียงพอต่อการนำมาเป็นส่วนผสม
2. สภาพแวดล้อมในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน จะมีสภาพอากาศค่อนข้างร้อนอาจจะทำให้แหนแดงไม่ขยายปริมาณได้ดีเท่าที่ควร

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรและเป็นที่ถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางการเกษตรในพื้นที่ฟาร์มนาสีนวน



มีแผนการนำงานวิจัยนี้ลงสู่ชุมชนเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรอย่างไร

ตอนนี้มีการนำไปขยายผลในพื้นที่นำร่องภายในฟาร์มเกษตรพื้นที่นาสีนวนโดยมีเกษตรกรตัวอย่างจำนวน 10 ครอบครัวที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ของมหาวิททยาลัยมหาสารคาม โดยจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับเกษตรและผลิตพืชผักที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่อไปในอนาคต

ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่
คิดงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ชุมชนและเกษตรกรโดยสามารถนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่



คติในการทำงาน
มองทุกอย่างเป็นเรื่องเป็นไปได้และลงมือทำ

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
อาจารย์ ดร.ศุภชัย   สุทธิเจริญ  รองคณบดีฝ่ายจัดการทัพยากรและพัฒนาคุณภาพนิสิต
คณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรง081-3872812  
Supachai606@gmail.com


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์

Related Posts