หากมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในความสามารถของเรา ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด ก็มักจะผ่านไปด้วยดีอยู่เสมอ เพราะความเชื่อมั่นจะทำให้เรากล้าแสดงความคิดเห็น ลงมือทำงานด้วยความมั่นใจ ประสิทธิภาพของงานก็จะออกมาดี หรือหากมีข้อผิดพลาดเราก็จะสามารถยอมรับคำวิจารณ์ได้ และพร้อมที่จะพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น และเมื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น การที่เรามีความเชื่อมั่นไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อความรู้สึกของเรา แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่น และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น และที่สำคัญเราต้องมีความเชื่อมั่นในตัวซึ่งกันและกัน จึงจะนำมาสู่ความสำเร็จ เช่นเดียวกับนิสิต มมส คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ ที่สามารถคว้าเหรียญเงินจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565 ซึ่งได้นำผลงานนวัตกรรม “อุปกรณ์ช่วยประเมินผลการฝึกกำลังนิ้วมือสำหรับการนวดไทย” เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาจากทั้ง 2 คณะ วันนี้ MSU ONLINE จะพาไปรู้จักกับนิสิตคนเก่งของเรา ตามมาดูกันเลยค่ะ



แนะนำสมาชิก
    สมาชิกในทีมของเรามี นายสิทธิศักดิ์ ขำเกษม นางสาวสุทธิดา สมสอางค์ สาขาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ นางสาวสิริยากร นันตลาด นางสาวสุพิชชา สาฆ้อง สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อ.ดร.ปริญญ์ ชุปวา และ ผศ.พท.ป. วัลลภา ลีลานันทกุลครับ

รางวัลที่ได้รับ
    รางวัลที่ได้รับคือ รางวัลเหรียญเงิน จากโครงการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ปี 2565 (Thailand Research Expo 2022) จากหน่วยงานสำนักงานวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาฯครับ

รับทราบข่าวการประกวดได้อย่างไร
    รับทราบจากทางอาจารย์ปริญญ์ ชุปวา อาจารย์ได้เป็นผู้ชักชวนให้มาเข้าร่วมทีม เพราะเดิมทีตัวผลงานนี้ก็เป็นการต่อยอดนวัตกรรมมาจากโปรเจกต์ของรุ่นพี่ที่อาจารย์ท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาครับ ซึ่งทำร่วมกับทางสาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ครับ



แนวคิด แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้
    แนวคิด แรงบันดาลใจมาจากการมองเห็นผู้นวดบำบัด ซึ่งเวลานวดแล้วกดจุดจะมีการกดที่ต้องใช้แรงเยอะ ถ้ากำลังนิ้วมือไม่แข็งแรงพอก็จะกดไม่ถูกหลัก จึงต้องมีการฝึกกำลังนิ้วมือเข้ามาในการเรียนการสอนครับ เพื่อให้มีกำลังนิ้วมือที่แข็งแรงพอ ซึ่งเรียกว่า การยกกระดานครับ การยกกระดานเวลาฝึกมันจะต้องให้ส่วนต่าง ๆ  ของร่างกายลอยเหนือพื้นให้เหลือแค่นิ้วมือ จึงใช้คนตรวจสอบต่ำกว่า 4 คนในการประจำแต่ละจุดเพื่อดู ลักษณะท่าทางแล้วจับเวลาครับ ทำให้ตัวเวลาที่ได้ค่าเฉลี่ยมันไม่ค่อยเท่ากัน ซึ่งมันไม่แม่นยำ บางคนก็มีดูผิด ด้วยครับ พวกเราจึงคิดค้นอุปกรณ์ช่วยประเมินผลการฝึกกำลังนิ้วมือสำหรับการนวดไทยขึ้นมา เพื่อช่วยลด กำลังคนในการฝึกและก็เพิ่มความแม่นยำมากขึ้น ทำให้ไม่เสียเวลาในการจัดตำแหน่งผู้ประเมินการฝึกครับ 

 เตรียมตัวอย่างไรในการเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ 
    เริ่มต้นได้มีการส่งเอกสารงานวิจัยไปให้กับทางต้นสังกัดเพื่อให้เขาคัดเลือกผลงานครับ หากประกาศทีมที่ได้เข้า ร่วมแล้ว สิ่งที่ต้องทำตามมาคือการเตรียมความพร้อมในการตอบคำถามเชิงวิชาการ รวมถึงการซ้อมการ Pitching  (การนำเสนอผลงาน) ซึ่งก็จะมีการเตรียมความพร้อมร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 ท่าน และน้องๆ แพทย์แผนไทยประยุกต์ พอถึงวันที่ต้องนำเสนอผลงาน จะต้องมีการอยู่ที่บูทผลงาน เพื่อรอนำเสนองานต่อคณะกรรมการและบุคคลภายนอกที่คอยเดินมาสอบถามข้อมูลต่าง ๆเกี่ยวกับงานวิจัยครับ





เกณฑ์การตัดสินในการแข่งขัน
    เกณฑ์การตัดสินในการแข่งขันก็เริ่มจากการคัดเลือกในรอบแรกคือการส่งผลงานไปเข้าร่วมกิจกรรมครับ หากผ่านการคัดเลือกรอบนี้ เราต้องพาทีมและผลงานไปนำเสนอหน้าบูทที่เขาได้จัดไว้ให้ พอถึงเวลาที่กรรมการเดินมาบูทของเรา กรรมการแต่ละท่านก็จะสอบถามผลงานของเรา และนำไปพิจารณาในส่วนของผลงานและการนำเสนอผลงาน ซึ่งไม่ได้ให้เกณฑ์การตัดสินไว้ครับ แต่ผมมองว่าสิ่งที่ทำให้ได้รับรางวัลมาส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะตัวนวัตกรรมของเราที่สามารถใช้งานได้จริงครับ   

ปัญหาและอุปสรรคในระหว่างการจัดทำผลงานชิ้นนี้ 
    เนื่องจากว่าสมาชิกในทีมของเรามาจาก 2 คณะ คือคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ ดังนั้นปัญหาหลักก็จะเป็นเรื่องของการไม่เข้าใจงานในส่วนของกันและกันครับ แต่สุดท้ายพวกเราก็ต้องทำความเข้าใจงานในส่วนของภาพรวมให้ได้ เพราะเราทั้ง 4 คนจะรู้งานในส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้นะครับ จะต้องให้รู้ทุกอย่างในผลงานของเรา เพื่อจะได้นำเสนอผลงานและตอบคำถามได้อย่างตรงไปตรงมาครับ

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าประกวด
ประสบการณ์ที่ได้รับคือ การได้เห็นนวัตกรรม ผลงานวิจัยใหม่ๆ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยที่มารวมอยู่ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565 ในครั้งนี้ จากผลงานที่เคยเห็นผ่านๆมาที่ เราอาจจะมองว่าสุดยอดแล้ว   แต่พอได้มาเห็นผลงานใหม่ ๆจากมหาลัยอื่น ก็ทำให้รู้ว่ามีผลงานสุดยอดกว่าที่เราเคยคิดไว้เยอะ และสิ่งที่เราได้เห็นในงานครั้งนี้ก็เป็นแรงกระตุ้นที่จะกลับไปต่อยอดผลงานของเราให้ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากเลยครับ



มองอนาคตการผลิตและพัฒนานวัตกรรมต่อไปอย่างไร
การพัฒนาผลงานชิ้นนี้ในอนาคต ก็ขึ้นอยู่กับรุ่นน้องในรุ่นถัดไปครับ เพราะผลงานนี้เป็นการต่อยอดนวัตกรรมมาจากโปรเจกต์ของรุ่นพี่อีกทีครับ ซึ่งเป็นการต่อยอดรุ่นต่อรุ่นที่ทำร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ แต่ถ้าหากผลิตและพัฒนาต่อไป ผมว่าคงต้องเป็นเรื่องของการพกพาที่จะทำให้อุปกรณ์ช่วยประเมินผลการฝึกกำลังนิ้วมือสำหรับการนวดไทยนี้พกพาได้ง่ายขึ้น และสามารถรองรับการฝึกกำลังได้หลากหลายท่าทางที่มากขึ้นต่อไปในอนาคตครับ

ข้อคิดดี ๆในการทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จ
ข้อคิดดี ๆในการทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จก็คงต้องเป็นความเชื่อมั่นในทีมและเชื่อมั่นในตัวเองครับ อย่างเช่นการแข่งขันที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าช่วงเวลาที่กรรมการเขาเดินมาสอบถามผลงานของเรา เราไม่รู้เลยว่ากรรมการจะถามอะไร และกรรมการแต่ละท่านก็ถามไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำในจุด ๆนั้นคือเราต้องเอาทุกอย่างที่เรารู้จัก เข้าใจในตัวผลงานมาตอบกรรมการทุกๆ ท่าน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับใครเป็นคนตอบ และถ้าหากเป็นผมหรือสมาชิกในทีม ก็ต้องมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันครับ

Author

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี
Email : jutamas.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0942915414

Related Posts