มมส เร่งพัฒนาภูมิปัญญากระติบข้าวกับวิถีชาวอีสานในกลุ่มชาติพันธุ์ภาตะวันออกเฉียงเหนือ
“ความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณไม้ในการจักสารกระติบข้าวอีสาน” กระติบข้าว : ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ความหลากหลาย และอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์
              โดย อาจารย์วีรชัย สายจันทา /คมกริช วงษ์ภาคำ/สุรพล ยอดศิริ/ลำตอน ศรีหาตา ได้ให้สัมภาษณ์ในการลงวิจัยร่วมกับชุมเพื่อเร่งพัฒนาภฺมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการร่วมวิจัยในการพัฒนากระติบข้าวในการเก็บความร้อยได้นานที่สุด




รายละเอียดของโครงการ 

                ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการภูมิปัญญากระติบข้าวกับวิถีชาวอีสานในกลุ่มชาติพันธุ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน ให้สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช เป็นหัวหน้าโครงการและผู้ประสานงาน ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินโครงการแบบบูรณาการสหสาขาระหว่างคณาจารย์ และนักวิจัยของสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช (ด้านชีววิทยา พฤกษศาสตร์ ชีวโมเลกุลพืช) สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน (คติชนความเชื่อ วัฒนธรรมศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น) คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วัสดุศาสตร์ การถ่ายเทความร้อน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ภาษาศาสตร์) ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยใช้ความรู้แต่ละศาสตร์และสาขาในการต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการผลิตกระติบข้าวในชุมชนเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาการใช้รูปแบบการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์  ภาษาศาสตร์ วัฒนธรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมกัน เพื่อใช้สนับสนุนนวัตกรรมการสร้างมูลค่า และพัฒนายกระดับภูมิปัญญาการผลิตกระติบข้าวในชุมชนเป้าหมาย 3 ชุมชน



วัตถุประสงค์ของโครงการ 

1. ศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไม้ไผ่ และวัสดุที่ใช้ผลิตกระติบข้าว ด้านการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความชื้น และเนื้อสัมผัสของข้าวเหนียวนึ่งสุก ความเป็นรูพรุน และการซึมผ่านของไอน้ำในกระติบข้าว ด้านคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างสรรค์กระติบข้าวของโครงสร้างและองค์ประกอบทางความหมายตามทฤษฎีอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ ด้านการศึกษาคติชนวิทยา เพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการผลิตกระติบข้าวในชุมชนเป้าหมาย 
2. พัฒนารูปแบบการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์  ภาษาศาสตร์ วัฒนธรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมกัน เพื่อใช้สนับสนุนนวัตกรรมการสร้างมูลค่าและพัฒนายกระดับภูมิปัญญาการผลิตกระติบข้าวในชุมชนเป้าหมาย

ลักษณะพิเศษของงาน

งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นต้นแบบ และตัวอย่างการดำเนินงานวิจัยและนำร่องการวิจัยบนฐานความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้การทำงานร่วมกันของคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และปราชญ์ท้องถิ่นในชุมชน ประกอบด้วยอาจารย์และนักวิจัยของสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ร่วมกับอาจารย์และนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และปราชญ์ท้องถิ่นที่จักสานกระติบข้าวของชุมชนกุดบอด ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นงานวิจัยบูรณาการสหสาขาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามโครงการหนึ่ง


สาเหตุที่เลือกวิจัยกระติบข้าว

ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีพื้นบ้านด้านวัสดุศาสตร์ของบรรพบุรุษที่สืบทอดจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง ในเรื่องภาชนะบรรจุข้าวเหนียวนึ่ง หรือที่คนอีสานเรียก กระติบข้าว ซึ่งภาชนะที่จักสานจากไม้ไผ่ที่มีเอกลักษณ์และเฉพาะในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงและเป็นแหล่งผลิตแหล่งใหญ่คือชุมชนบ้านกุดบอด ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท มีกลุ่มช่างจักสานกระติบข้าวเหนียวทั้งหมู่บ้าน โดยการสานใช้รูปแบบดั้งเดิมตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และใช้วัสดุดั้งเดิมจากไม้ไผ่ไร่ หวายป่า และไม้ยอป่า ซึ่งมีความประณีตของช่างฝีมือ คงไว้ซึ่งลวดลายดั้งเดิม สามารถผลิตกระติบข้าวเหนียวที่มีคุณภาพสูงในการเก็บรักษาอุณหภูมิข้าวเหนียวนึ่ง ซึ่งมีการทดสอบและการศึกษาวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความชื้น และเนื้อสัมผัสของข้าวเหนียวนึ่งสุก ความเป็นรูพรุนและการซึมผ่านของไอน้ำ เป็นข้อมูลวิชาการยืนยัน  


ระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานชิ้นนี้

ระยะเวลา 8 เดือน 

ปัญหา และอุปสรรค์ในการทำผลงานชิ้นนี้มีอะไรบ้าง

การเก็บข้อมูลภาคสนามในชุมชน ข้อมูลชุมชนที่ศึกษาและรวบรวมบางประเด็นยังขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากมีระยะเวลาจำกัด และขาดความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารภาษาถิ่นของชุมชน คือภาษาผู้ไท 
เป็นโครงการที่ได้รับการสนับเพียง  8 เดือน  จึงขาดความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการวิจัยหรือต่อยอดผลการวิจัยร่วมกันเครือข่ายในชุมชนเป้าหมาย 



งบประมาณในการทำงานวิจัยเรื่องนี้

เราใช้งบประมาณ 240,000 บาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย 4 โครงการ ๆ ละ 60,000 บาท

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีส่วนในการสนับสนุนอย่างไร

มหาวิทยาลัยสนับสนุนงบประมาณดำเนินการผ่านกองส่งเสริมการวิจัย และบริการวิชาการ หน่วยงานสังกัดของคณะทำงานทั้ง 4 หน่วยงาน ร่วมให้การสนับสนุน และอนุเคราะห์เครื่องมือ และห้องปฏิบัติการวิจัย 

ในอนาคตจะมีการพัฒนาผลงานชิ้นนี้อย่างไรบ้าง

ทำงานวิจัยในพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนสามารถเพิ่มมูลค่าจากการผลิตกระติบข้าวให้สูงขึ้น เป็นเอกลักษณ์ชุมชน ตามเป้าหมายการสร้างผลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่เชิงพานิชย์ ต่อไป



Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล

Related Posts