อาจารย์นักวิจัย มมส ร่วมกับหน่วยวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ บริษัท BCF life sciences ประเทศฝรั่งเศส พัฒนาสูตรอาหารปลานิลโดยเสริมกรดอะมิโนอิสระจากธรรมชาติ เร่งการเจริญเติบโตของปลานิล เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในเนื้อปลา โดยปลาที่เลี้ยงด้วยอาหารเสริมกรดอะมิโนอิสระจากธรรมชาตินี้ให้ผลผลิตเร็วกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารธรรมดาจากท้องตลาดและมีคุณค่าทางอาหารในเนื้อปลาสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปลาที่ไม่ได้เสริมด้วยกรดอะมิโน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพล วังคะฮาตอาจารย์สาขาประมงคณะเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ชื่อผลงาน และผู้รับผิดชอบ
การพัฒนาสูตรอาหารปลานิลโดยใช้กรดอะมิโนอิสระจากธรรมชาติ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพล วังคะฮาต
กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา
ตั้งแต่ปี 2018 ได้รู้จักหน่วยวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ BCF life sciences ประเทศฝรั่งเศส ผ่านการประชุมสัมมนาวิชาการ ซึ่ง BCF ถือเป็นเอกชนรายใหญ่ระดับภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตวัตถุดิบเสริมในอาหารสัตว์ พืช และเวชภัณฑ์สำหรับคน และได้รับติดต่อให้ร่วมทีมวิจัยในการพัฒนาสูตรอาหารปลานิลเสริมกรดอะมิโนอิสระจากธรรมชาติ จากนั้นตัวเองก็พัฒนาสูตรอาหารให้มีปริมาณโปรตีนที่เทียบเท่ากับท้องตลาด จากนั้นทำการศึกษาผลของการใช้กรดอะมิโนอิสระนี้ด้วยพารามิเตอร์ที่สำคัญต่าง ๆ และประสบผลสำเร็จได้สูตรอาหารที่เหมาะสำหรับปลานิลวัยอ่อน
วัตถุประสงค์ในการพัฒนาสูตรอาหารปลา
เราต้องการพัฒนาสูตรอาหารที่เสริมกรดอะมิโนอิสระจากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโต เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และมีคุณภาพของเนื้อปลาที่ดีมีคุณค่าทางอาหาร เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
จุดเด่นของสูตรอาหารปลานี้เป็นอย่างไร
เราพบว่า สูตรอาหารของเราที่พัฒนาขึ้นสามารถเร่งการเติบโตของปลานิลได้ดีมากเมื่อเปรียบกับปลาในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เสริมกรดอะมิโน และที่น่าสนใจอย่างมากของการศึกษานี้ เราพบว่าปลาที่ทดลองกับอาหารนี้ สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันของปลาได้อย่างชัดเจนและยังสามารถเพิ่มกรดไขมันในเนื้อปลา อีก 2 ชนิด คือ omega 3 และ omega 6 ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ถือมีความสำคัญและจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ หรือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคปลานิลที่นิยมบริโภคและเป็นปลาเศรษฐกิจของไทยและของโลกอีกด้วย
สูตรอาหารปลาที่ผลิตออกมามีความโดดเด่นจากอาหารปลาทั่วไปอย่างไร
เราพบว่า สูตรอาหารของเราที่พัฒนาขึ้นสามารถเร่งการเติบโตของปลานิลได้ดีเมื่อเปรียบกับปลาในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เสริมกรดอะมิโน แตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ และที่น่าสนใจอย่างมากของการศึกษา เราพบว่าปลาที่ทดลองกับอาหารนี้ มีคุณค่าสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันของปลาได้เด่นชัดมากและสามารถเพิ่มกรดไขมันในกลุ่ม omega 3 และ omega 6 ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว และเป็นสารอาหารที่สำคัญยิ่งต่อร่างกายผู้บริโภค
ในอนาคตเราจะมีการผลิตสูตรอาหารปลาขึ้นมาเอง หรือว่าให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ผลิตให้ภายใต้การกำกับของเรา
ปัจจุบันเรากับทางผู้ประกอบการมีการพัฒนาสูตรร่วมกัน โดยตนเองจะคิดค้นสูตรและทดลองในดับห้องปฏิบัติการ สำหรับขั้นตอนการผลิตกรดอะมิโนอิสระ หลังจากนั้นผู้ประกอบการได้นำไปจดสิทธิบัตรแล้วในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบันเราในฐานะเจ้าของผลงานวิจัย และ BCF มีการประชาสัมพันธ์งานวิจัย และนำเสนอผลงานวิจัยออกสู่ตลาดฝั่งอเมริกาใต้ เพื่อนำสูตรอาหารของเราไปใช้ในระดับภาคอุตาหกรรมอาหารปลานิลแล้ว
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
เนื่องจากต้องใช้ฟาร์มในการทดลอง ซึ่งเราต้องใช้น้ำในการเลี้ยงปลา บางครั้งมีอุปสรรคน้ำไม่เพียงพอ และเราต้องใช้น้ำร่วมกับฟาร์มมหาวิทยาลัย ดังนั้น บางทีเราต้องทำการทดลองในช่วงที่มีปริมาณน้ำมาก ลดการทดลองในช่วงหน้าแล้ง
กลุ่มเป้าหมายสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้คือกลุ่มใด
เนื่องจากเราร่วมวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นเป้าหมายของเราจึงเป็นภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหาร อย่างไรก็ตาม เราก็ยินให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้ที่สนใจ หรือคำแนะนำด้านการเลี้ยงปลาโดยใช้สูตรอาหารเร่งโต ปลามีสุขภาพที่ดีได้
งบประมาณในการจัดทำสูตรอาหารปลา
เนื่องจากเราต้องพัฒนาสูตรอาหารขึ้นเอง ทาง BCF จึงให้งบลงทุนวิจัยทั้งทางด้านการสูตรอาหาร และการทดสอบกับปลานิลทดลอง ซึ่งงบประมาณในการผลิตอาหารยังแตกต่างจากท้องตลาดไม่มากนัก เนื่องจากยังต้องพึ่งปลาป่นในตัววัตถุดิบของอาหารอยู่ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่กำลังดำเนินการอีกโครงการ ณ ขณะนี้ เราได้ทดลองการลดปริมาณปลาป่นลง เราหวังว่าจะตอบโจทย์ด้านต้นทุนการผลิตอาหารปลานิลที่มีราคาถูกลงได้อย่างแน่นอน
มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไร
ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สนับสนุนด้านสถานที่ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิล พื้นที่นาสีนวน และห้องปฏิบัติการของสาขาประมง คณะเทคโนโลยี รวมไปถึงคณบดี กองส่งเสริมการวิจัยที่ช่วยดำเนินการเอกสารต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกจนงานทดลองสำเร็จลุล่วง
เรามีแผนการนำผลงานวิจัย สูตรผลิตอาหารปลา นี้ลงสู่ชุมชนอย่างไร
ตอนนี้เราเผยแพร่สูตรอาหาร และปริมาณของกรดอะมิโนอิสระที่เสริมลงในอาหารโดยตีพิมพ์ลงในวารสาร Aquaculture ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำของโลกด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรานำเสนอผลวิจัยผ่านงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และกำลังเผยแพร่ผลงานตีพิมพ์ลงในนิตยสาร เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงง่ายอีกด้วย นอกจากนี้เราเพิ่งได้รับการจัดตั้งหน่วยวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย เรามีนโยบายในการเผยแพร่องค์ความรู้นี้สู่ชุมชนผ่านโครงการบริการวิชาการต่างๆ ที่เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ในอนาคตจะมีการพัฒนาผลงานวิจัย สูตรอาหารปลา อย่างไรบ้าง
ขณะนี้ทางเราได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องจาก BCF ที่สนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องอีก 2 โครงการในปีนี้ เพื่อพัฒนาสูตรอาหารต้นทุนต่ำในปลานิล และสูตรอาหารในปลากระพงขาว นอกจากนี้ ทางเรายังมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอีกส่วนหนึ่งในต่างประเทศในการพัฒนาสารเสริมในอาหารสัตว์น้ำ และประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน
ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
เมื่อปี 2556 รัฐบาลภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มอบทุนการศึกษาเพื่อส่งไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ณ ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นคิดเลยว่าเราต้องไปเรียนรู้งานวิจัยจากต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาประเทศไทยให้มากที่สุด และได้ทำตามรอบแนวคิดของตนเองในหลาย ๆ ส่วนแล้ว ดังนั้น อยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ การทำงานวิจัยหากเรามองไปที่ประโยชน์ของประเทศ สังคมและชุมเป็นหลัก การคิดค้นงานวิจัยใหม่ๆ หากตั้งใจจริงและเรียนรู้ไปกับมัน สักวันเราจะสบผลสำเร็จอย่างแน่นอนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนแน่นอน
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน
สามารถติดต่อที่ผมได้โดยตรง ผศ.ดร.เอกพล วังคะฮาต ห้องทำงาน 409 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ขามเรียง มือถือ 094-6843745 อีเมล์ eakapol.w@msu.ac.th