วงออทิดสา หมอลำแบนด์ มมส
วงออทิดสา เป็นวง หมอลำ ที่ผสมผสานกับแนวเพลงดนตรี จากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยใช้แนวคิด "รื้อโครงสร้าง" ของดนตรีอีสาน จึงได้นำเอาจังหวะของดนตรีสไตล์ต่างๆ อาทิ ร็อค เร็กเก้ และดิสโก้ มาเป็นพื้นฐานในการถ่ายทอดอารณ์ของบทเพลง แนวหมอลำ ตามแบบของวง ออทิดสา ให้มีสีสัน และเกิดเป็นดนตรีอีสานในรูปแบบใหม่ เรามารู้จักกับวงออทิดสา หมอลำแบนด์ มมส มากยิ่งขึ้น
ที่มาของชื่อวง ออทิสา
เบื้องต้นเป็นการเล่นดนตรีด้วยกัน เป็นเพื่อนที่ทำวงร่วมกัน ในตอนแรกไม่มีชื่อวง อีกทั้งเพื่อนๆ ให้ตนเองเป็นผู้ประสานงาน และเป็นหัวหน้าไปโดยปริยาย ทุกคนเลยเอาชื่อของตนเองเป็นชื่อวง คือมาจาก ผมชื่ออาทิตย์ คำหงษ์ศา เลยนำเอา ทิด และสา นำมารวมกัน เลยเป็นวงออทิดสา ส่วน ออ หมายถึงอาจารย์ เพราะว่าโดยทั่วไปวงหมอลำในภาคอีสาน มักจะมีอักษรนำหน้า อย่างเช่น ส.ทองสา อะไรประมาณนี้ เลยมาตั้งลักษณ์นี้ลองดูเท่ห์ดี แต่ว่าเวลาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ออหมายถึงรวม เลยเอาทุกๆ คนมารวมเป็นออทิดสา หมอลำแบนด์ มมส
ที่มาของการรวมตัว
สมาชิกทั้งหมดส่วนใหญ่เราเรียนดนตรีร่วมกันมา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อีกทั้งได้มีการเล่นดนตรีด้วยกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะแนวหมอลำ และการเล่นหมอลำ เราได้ร่วมไปเล่นกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงด้วยหลายท่าน และมีการทำเพลงของตนเองในการเล่นหมอลำ มีแนวความคิดว่าต้องการทำโปรเจค อะไรสักอย่างที่เป็นเชิงทดลอง และคิดว่าน่าจะมีดนตรีแนวที่เกิดขึ้นในวงการหมอลำในรูปแบบต่างๆ ได้ เพราะโดยลักษณะของดนตรีอีสานนั้น มีการเปิดโอกาสให้ศิลปินมีโอกาสแสดงความคิดใหม่ๆ เข้าไปในเนื้องานดนตรีอีสานได้เป็นอย่างดี เรามองเห็นวงเพชรปิ่นทองที่เรา และหลายๆ คนชื่นชอบ อีกทั้งกลอนหมอลำต่างๆ ที่เราชื่นชอบ เราเลยต้องการทำงานชิ้นหนึ่งของทีมขึ้นมา และเป็นที่มาของการรวมวงกันถึงปัจจุบัน
ระยะเวลาในการรวมวง
ระยะเวลาในการรวมวง นับโปรเจคนี้ ประมาณ 3-4 ปี สำหรับโปรเจคของ ออทิดสา หมอลำแบนด์ มมส
ลักษณะพิเศษของเพลง
ลักษณะพิเศษของเพลงที่ทำ โดยพื้นฐานของดนตรีแนวหมอลำเป็นดนตรีที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นคนชาติไหน ที่ได้ฟังเพลง และดนตรีนี้ก็สามารถเข้าใจได้ง่าย เพราะว่าเป็นดนตรีพื้นบ้าน เข้าถึงกลุ่มบุคคลได้ง่าย เรามีการคิดรูปแบบการแสดง พยายามผสมผสานกับแนวดนตรีอื่นทั่วโลกนำมาใส่ในเพลงดนตรีหมอลำของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรกเก้ ร๊อค และฟังค์ เรานำมาใส่ในชิ้นงาน และในอนาคตเราพยายามจะทดลองกับแนวดนตรีอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นดนตรีแนวของอินเดีย จีน เราก็พยายามนำมาใส่ในแนวเพลงของเราลองดู ซึ่งวงของเราจะเป็นแนวดนตรีอีสานร่วมสมัย บางครั้งเราก็พูดว่าเราเป็นดนตรีร่วมสมัย บางครั้งเราก็พูดว่าเราเป็นหมอลำ และบางทีมีการตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า มันควรจะเป็นดนตรีแนวไหนที่ถูกต้องกันแน่ เราจึงพยายามจะรื้อโครงสร้าง และพยายามทำแนวเพลงขึ้นมาใหม่ โดยยึดพื้นฐานดนตรีแนวหมอลำ โดยประกอบไปด้วย พิน แคน ซอ และนำมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ในเบื้องต้นเราได้นำเอามาผสมกับดนตรีแนวตะวันตก ประกอบไปด้วย เบส กีต้า คีบอด กลองชุดเป็นพื้นฐาน ในการบรรเลง
ปัญหา และอุปสรรค
ปัญหา และอุปสรรคที่พบ งานชิ้นนี้เป็นงานเชิงทดลองฉะนั้นในช่วงการทดลองจะมีอุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่น การฟังเพลงของแต่ละบุคคล แต่ละพื้นที่ จะมีทั้งคำติชมมากมายเกิดขึ้น ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง หรือถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราคิด และปรับปรุงให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อผู้ฟังทุกท่าน เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรค คำติชม ขึ้นอยู่กับท่านผู้ชม เพราะนั่นจะเป็นสิ่งที่จะมาเติมเต็มในการทำงานที่ออกมาได้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป อุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรวมพลในวง เรื่องของการฝึกซ้อม เรื่องการเล่นเพลง จนกระทั่งนำผลงานเพลงที่สมบูรณ์ที่สุด ออกบรรเลงสู่ผู้ฟัง และมีฟีดแบค กลับมาทุกครั้งนั่นจะเป็นสิ่งที่เราจะนำไปปรับปรุงวงดนตรี แนวดนตรีของวง ออทิดสา หมอลำแบนด์ มมส ให้ดีมากยิ่งขึ้นในอนาคตให้สมบูรณ์ที่สุด
งบประมาณที่ใช้ในการตั้งวงดนตรี
ในเบื้องต้น พยายามจะใช้งบประมาณส่วนตัวกับเพื่อนๆ ทุกคนในวง เช่นถ้ามีการซ้อมเพลงกัน เราไปซ้อมที่บ้านเพื่อนโดยไม่ต้องเข้าไปใช้ห้องบันทึกเสียง ผมมีเพื่อนที่มีสวนที่ร่มรื่น ต้นไม้มากมายที่จังหวัดร้อยเอ็ด เราไปซ้อมที่สวนกลางแจ้ง เพื่อนที่อยู่จังหวัดกาฬสินธุ์มีห้องซ้อมดนตรีเป็นของตนเอง ทีมเราก็จะเปลี่ยนไปซ้อมที่กาฬสินธุ์บ้าง ในบางครั้งก็ขออนุญาตใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นสถานที่ฝึกซ้อม เพราะเนื่องจากบุคลากรในวงส่วนใหญ่เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เราประหยัดในส่วนนี้ลง ปีที่ผ่านมาได้ของบประมาณจากมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะทำงานวิจัยต่อยอดในเรื่องของดนตรี จากสิ่งที่เราทำงาน และพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สนับสนุนด้านใดบ้าง
ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สนับสนุนวงออทิดสา เป็นอย่างดี ที่อำนวยความสะดวกสถานที่ในการฝึกซ้อม ผู้บังคับบัญชาให้การสนับสนุน เพื่อนร่วมงานที่คอยให้กำลังใจเสมอมา และสิ่งสำคัญที่สุด คือการสนับสนุนด้านงบประมาณในการรวงวงจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งที่ผ่านมาเราของบประมาณเพื่อมาทำงานวิจัยต่อยอดในเรื่องของดนตรี จากสิ่งที่เราทำมา และจะพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
สมาชิกในวงเป็นใคร
สมาชิกในวงส่วนใหญ่จะเป็นศิษย์เก่า และเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีสมาชิกในวงออทิดสา หมอลำแบนด์ ประกอบด้วย
1. อาจารย์อาทิตย์ คำหงษ์ศา (พิณ/ร้อง) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีรยุทธ สีคุณหลิ่ว (ซอ) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
3. อาจารย์สิทธิพงษ์ ยอดนนท์ (เครื่องประกอบจังหวะ) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
4. อาจารย์ศตวรรต มาไลศรี (กลองชุด) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
5. อาจารย์ ดร.ธวัชชัย ศิลปโชค (เบส) มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
6. อาจารย์ชัชวาลย์ สร้อยกุดเรือ (คีย์บอร์ด) มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
7. อาจารย์คมแมน ครีวิชัย (กลองคองก้า) เจ้าของห้องบันทึกเสียง Kiss Me Studio และโปรดิวเซอร์อิสระ
8. นางสาวนิดติญา นันภักดี (หมอลำ) ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
9. นายโชคชัย ไพรพฤกษ์ (แคน) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
แรงบันดาลใจในการเลือกทำผลงานชิ้นนี้
เรามองเห็นความคิดสร้างสรรค์ในวงการหมอลำที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งคิดว่า เรามีความต้องการจะเป็นส่วนหนึ่ง แล้วเข้าไปร่วมอยู่ในกระบวนการนั้นด้วย เพื่อนำแนวคิดบางอย่างของเราเข้าไปสู่เส้นทางการเปลี่ยนแปลงดนตรีแนวหมอลำ เช่น จากหมอลำกลอนมาเป็นหมอลำซิ่ง จากเพลงหมอลำ มาเป็นลูกทุ่งหมอลำ จนทำให้เกิดศิลปินใหม่ๆ ที่มีคุณภาพเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน และศัพท์ที่มักใช้กันมากที่สุดคือ เราไม่สามารถที่จะนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างได้ เราจะต้องเข้าไปสู่กระบวนการนั้นให้ได้ เพื่อจะได้เรียนรู้ว่า สิ่งนั้นคืออะไร เราจะได้หยิบเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียน และเราสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนของนิสิตต่อไป
ในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อยอดไปในทิศทางใด
ในช่วงปีที่ผ่านมาเรามีโปรแกรมเดินทางไปงานเสวนางานศิลปะหลายๆ ที่ อาทิ วงออทิดสา หมอลำแบนด์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้าร่วมแสดงดนตรี ในการประชุมของสมาคมสภาดนตรีโลก “The 45th International Council for Traditional Music World Conference” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้จัดการประชุมดนตรีระดับโลก จากนั้นวงออทิดสา หมอลำแบนด์ ได้เข้าแสดงดนตรีในเทศกาลศิลปะ ณ เกาะโซโดะชิมะ จังหวัดคางาวะ ประเทศญี่ปุ่น และเราได้เดินทางไปงานแสดงศิลปะที่ เสียมเรียบ กัมพูชา หรือเขมร และล่าสุด ฉะนั้นผมคิดว่าในอนาคตเราจะพยามทำผลงานแนวหมอลำโดยอาศัยพื้นฐานที่แสดงในงานต่างๆ ว่าผู้ชมผู้ฟัง มีฟิดแบค อย่างไรในการแสดงดนตรีในแต่ละครั้ง แนวโน้มของกลุ่มผู้ชมงานแสดงศิลปะต่างๆ เขามีความคิดกับงานของเราอย่างไร และเราก็จะนำมาพัฒนาปรับปรุงงานของเราให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อที่จะได้นำผลงานที่เราทำขึ้นมานั้นเมื่อนำไปเสนอให้กับผู้ชม ผู้ฟัง และได้ชื่นชมผลงานของเราที่เราตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อทุกคน จึงคิดว่าน่าจะเป็นแนวงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่น่าชื่นชมอย่างมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบผลงานด้านดนตรีแนวหมอลำ และอื่นๆ ต่อไป
ดนตรีมีความสำคัญอย่างไร
ดนตรีเป็นตัวช่วยที่ดีมากกับทุกๆ คนในสังคม เพราะว่าถ้าผู้คนไม่มีงานศิลปะ ไม่มีดนตรีในหัวใจ จะแข็งกระด้าง ไม่มีความอ่อนโดย เมื่อใครได้ฟังดนตรี ได้รู้จักงานศิลปะ ผู้คนเหล่านั้นก็จะเป็นคนที่อ่อนโยน มีความเกื้อกูลกันและกันในสังคม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ดนตรีจะสามารถช่วยอะไรได้หลายๆ อย่าง ด้วยตัวของดนตรีเอง โดยเฉพาะตัวของตนเอง เมื่อดนตรีเกิดขึ้นในชีวิตของตนเองนั้น ตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากที่เคยเป็น ในช่วงชีวิตตอนเป็นเด็กนั้น มักจะไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก ใจร้อน โดดเดี่ยว แต่พอมารู้จักดนตรี และได้มีการเรียนรู้ดนตรี มีกลุ่ม มีครูบาอาจารย์ที่ช่วยสอนวิธีการเล่นดนตรีแต่ละชนิด ดนตรีสามารถทำให้ตนเองเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่อ่อนโยนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ดนตรีเป็นศิลปะที่อ่อนโยนอย่างหนึ่งที่ต้องการให้ทุกคน ได้เข้าไปมีส่วนในชีวิตของทุกคน แล้วเราจะเป็นคนที่มีศิลปะที่สวยงามที่สุดในการดำเนินชีวิตให้อยู่ในสังคมต่อไปได้อย่างเข้มแข็งที่สุด
ฝากอะไรถึงผู้ที่ชื่นชอบดนตรี
ฝากถึงผู้ที่ชื่นชอบเรื่องดนตรี และผู้ที่ชื่นชอบในการฟังดนตรีด้วยเช่นกัน หากต้องการจะสร้างผลงาน และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลงานในเบื้องต้น ต้องฝึกเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน เมื่อสามารถที่จะฝึกหัดดนตรีได้แล้ว ก็ควรที่จะฝึกดนตรีด้านต่างๆ ที่เราชอบ และถนัด เพื่อให้เรามีฝีมือที่ดียิ่งขึ้น หลังจากนั้นพยายามมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างงาน โดยเฉพาะนักดนตรีพื้นบ้านของอีสาน คิดว่านักดนตรีต้องมีความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่เสมอ จากที่ตนเองเริ่มศึกษาดนตรีพื้นบ้านอีสาน ตนเองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านดนตรีพื้นบ้านอยู่ตลอดเวลา แสดงว่าเราสามารถที่จะเติมเต็ม สร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอยากฝากว่า ใครที่เป็นนักดนตรี หรือใครที่ชื่นชอบดนตรีให้พยายามเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจะสามารถพัฒนาดนตรีพื้นบ้านอีสานได้เป็นอย่างดีในอนาคต