มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถาบันการศึกษาที่พร้อมทางด้านวิชาการ และบุคลากรที่มีคุณภาพอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน จึงเป็นที่จับตามองของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ต้องการเข้ามาทำความร่วมมือทั้งด้านวิชาการ ด้านงานวิจัย และขับเคลื่อนองค์ความรู้ต่างๆ อย่างต่อเนื่องร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เป็นบริษัทเอกชนที่ผลิตอุปกรณ์ทางด้านการสื่อสารที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย โดยเข้ามาพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ครอบคลุมการทำงานภายในองค์กร รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร และหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งเตรียมพร้อมจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยี 5G ห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ทางด้านดิจิทัล เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับภูมิภาค ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย สาวิถี ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


ที่มาของโครงการนี้เป็นอย่างไรบ้าง

โครงการ Huawei ICT Academy เป็นโครงการที่ทางบริษัทหัวเว่ยจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในหลักสูตรที่เป็นดิจิทัลยุคใหม่ ตัวอย่างเช่นเรื่อง Big Data, IoT, Cloud Computing และ Network Technology ต่างๆ ซึ่งในการเข้าถึงหลักสูตรของหัวเว่ยและได้รับใบ certificate ในหลักสูตรเหล่านี้เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะว่าจะต้องมีการเข้ารับการฝึกอบรมให้จบหลักสูตรก่อน ทั้งในรูปแบบออนไลน์ หรือด้านออนไซต์ก็ตาม เมื่ออบรมเสร็จสมบูรณ์แล้วผู้เข้าอบรมจะต้องสอบ certificate ของหัวเว่ยให้ได้ แต่ในการสอบ certificate ก็จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าอบรมด้วย ซึ่งเป้าหมายของหัวเว่ยที่จริงแล้วต้องการจะเปิดศูนย์ฝึกอบรมทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ กับมหาวิทยาลัยมหาสารคามมานานแล้ว ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีการติดต่อกับบริษัทหัวเว่ยมาเกือบ 2 ปีแล้ว ในตอนแรกคิดว่าจะเปิดศูนย์นี้ที่คณะการบัญชีและการจัดการ และคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มอบหมายให้ตนเองมาเป็นผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างยากในการติดต่อประสานงาน เหตุผลก็คือเราไม่มีความพร้อมทางด้านบุคลากร ในการจัดตั้งศูนย์ อีกทั้งยังต้องมีบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่เป็นอาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน หรือนิสิต เข้าไปฝึกอบรมแล้วก็สอบให้ได้ certificate ก่อน


วัตถุประสงค์

ด้วยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยเข้ามาใช้งานเพื่อพัฒนาศักยภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ครอบคลุมทั้งภายในองค์กร การพัฒนาบุคลากร ผู้เรียนและระบบการพัฒนาการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน จึงมีวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยเข้ามาใช้งาน พัฒนาศักยภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดหลักสูตรอบรมให้กับบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัย และพัฒนาการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีขอบเขตของบันทึกข้อตกลง คือ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจะยื่นความจำนงค์เพื่อเข้าร่วมกับหัวเว่ยในโครงการ หัวเว่ย ไอซีที อคาเดมี และยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน Huawei ICT Academy Agreement

เมื่อเรา MOU เสร็จแล้วจะสามารถนำหลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ของหัวเว่ยมาฝึกอบรมให้กับนิสิต บุคลากร รวมถึงให้กับคณาจารย์ ไม่ว่าจะเป็น Big Data, IoT, Cloud Computing และ Network Technology ต่างๆ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหา แนวปฏิบัติ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และมีเทคโนโลยีสนับสนุนที่เป็นของหัวเว่ยโดยเฉพาะ เมื่อฝึกอบรมเสร็จแล้วนิสิตหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย สามารถสมัครสอบเพื่อรับ certificate ได้ฟรีทันที และเมื่อนิสิตที่สำเร็จการศึกษาแล้วสามารถนำใบ certificate ไปร่วมกับการสมัครงานได้ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับตนเอง


จุดเด่นของโครงการ

จุดเด่นของโครงการคือ หัวเว่ยมีความแตกต่างจากหลักสูตรทางด้านดิจิทัลอื่นๆ เพราะว่าหลักสูตรของหัวเว่ยเป็นหลักสูตรที่ค่อนข้างทันสมัย และบริษัทดำเนินธุรกิจทางด้านการสื่อสารระดับโลก หลักสูตรของเขาจะมีความเฉพาะเจาะจงที่เป็นเรื่องของดิจิทัลยุคใหม่ที่ไม่มีในตำราเรียน และเป้าหมายของหัวเว่ยก็คือการให้ certificate ที่สามารถนำไปสมัครงานได้โดยไม่มีปัญหา

หลักสูตรที่นำมาใช้ในการอบรมครั้งนี้มีอะไรบ้าง

สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในการอบรมนอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมี หลักสูตรทางด้าน Computer Networks, Cellular Networks และ Mobile Application ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ เรามีข้อตกลงว่าในการพัฒนาบุคลากรเหล่านี้เราจะได้รับการสนันสนุนจากหัวเว่ยทั้งหลักสูตรและเอกสารการสอน เมื่อเรา MOU แล้วหัวเว่ยสามารถให้เอกสารการสอน หรือเนื้อหาต่างๆ ทางด้านดิจิทัลกับมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้โดยไม่มีปัญหาด้านลิขสิทธิ์เพราะเรามี MOU ร่วมกันอย่างเป็นทางการแล้ว 


ระยะเวลาของผู้ที่จะเข้าร่วมอบรมของหัวเว่ยใช้ระยะเวลามากน้อยเพียงใด

ระยะที่ใช้ในการเข้าร่วมโครงการ และอบรมนั้น จะใช้เวลาประมาณ 5 วันต่อหลักสูตร เป็นการอบรมออนไซต์หรือออนไลน์ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ วิทยากรที่อบรมจะต้องเป็นวิทยากรของมหาวิทยาลัยที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว และสอบ certificate ได้แล้ว ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมมาและได้รับ certificate แล้วประมาณ 5 – 6 ท่าน ซึ่งตนเองพยายามจะให้บุคลากรของสำนักคอมพิวเตอร์ หรือบุคลากรของหน่วยงานอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้าร่วมเป็นวิทยากร เพราะในความหมายของการ MOU สำนักคอมพิวเตอร์ได้ MOU กับหัวเว่ยในนามมหาวิทยาลัย ดังนั้น คณะหน่วยงานต่างๆ มีสิทธิ์เข้ามาอบรม มีสิทธิ์ใช้ทรัพยากรร่วมกันทุกอย่าง และเราได้คุยกันไปถึงว่าหัวเว่ยจะมีศูนย์เทคโนโลยีทางด้าน 5G ศูนย์เทคโนโลยีทางด้านดิจิทัล เป็นห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน เป็นศูนย์ฝึกอบรมทางด้านดิจิทัลระดับภูมิภาค นั่นคือ ก้าวต่อไปจากการที่เรามีการ MOU ร่วมกับหัวเว่ย 


ปัจจุบันเรามีบุคลากรพร้อมในส่วนที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการอบรมให้กับบุคลากร นิสิต มากน้อยเพียงใด

ณ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรามีอาจารย์ที่ผ่านการอบรมมาก่อนหน้านี้พร้อมแล้ว หลักสูตรเราไม่ต้องเตรียม เพราะเป็นหลักสูตรที่หัวเว่ยเตรียมให้อยู่แล้วทั้งหลักสูตร เนื้อหาของหลักสูตรทั้ง E-book และ PowerPoint และการปฏิบัติการแบบออนไลน์ โดยหัวเว่ยได้เตรียมไว้พร้อมแล้ว เราเพียงแค่เตรียมบุคลากรให้พร้อมเท่านั้นเอง

คุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีอะไรบ้าง

ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการอบรมของหัวเว่ยนี้ จะต้องเป็นบุคลากร นิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มนิสิต เช่น กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมสาสตร์ที่ไม่เคยรู้เรื่อง IT มาก่อน ก็จะมีหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับกลุ่มนี้ อย่างเช่น Cloud Computing ระดับเบื้องต้น และมีหลักสูตรสำหรับนิสิตกลุ่มที่มีความรู้ด้านดิจิทัลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ ก็สามารถเข้ามาอบรมในหลักสูตรที่สูงขึ้นได้ มีหลายระดับในการฝึกอบรม ถ้าจำนวนของผู้อบรมมากขึ้น เราก็ต้องเตรียมบุคลากร ซึ่งเป็นบุคลากรที่เราต้องไปประชาสัมพันธ์ให้อาจารย์มาเข้ารับการฝึกอบรมและสอบ certificate ให้ได้ก่อน เพื่อให้อาจารย์เหล่านี้สามารถเป็นวิทยากรได้เพิ่มขึ้น


โครงการที่จะจัดตั้งศูนย์ในอนาคต มหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะนำหลักสูตร หรือโครงการเหล่านี้ไปพัฒนาให้กับบุคลากร อย่างไรบ้าง

ในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรก็คือ สิ่งที่เราต้องการจะดำเนินการ คือตนเองเป็นอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ที่นี่มาเกือบ 20 ปี สิ่งที่เราขาดก็คือ เรื่องอะไรใหม่ๆ เรามักจะไม่สามารถตามทันการทำงานของผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อยู่ภายนอกได้ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เราน่าจะได้นำมาเผยแพร่ นำความรู้มาถ่ายทอดซึ่งกันและกัน หรือมาถ่ายทอดให้กลุ่มคณาจารย์ มาถ่ายทอดให้กับนิสิต หรือเอาบางส่วนของหลักสูตรเขาเข้าไปเสริมในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย อย่างเช่น ของสำนักศึกษาทั่วไปในกลุ่มวิชาพวกดิจิทัลทั้งหลาย สามารถนำเนื้อหาของหลักสูตรเหล่านี้ไปฝึกอบรมในรายวิชาต่างๆ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้กับนิสิตได้ หรือนำไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรได้เป็นอย่างดี 

สิทธิพิเศษจากหัวเว่ยมีอะไรบ้าง

สำหรับสิทธิพิเศษนั้นกลุ่มคณาจารย์ บุคลากร หรือนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถเข้าฝึกอบรมหลักสูตรของหัวเว่ยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งการฝึกอบรมและสอบเพื่อขอรับ certificate แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากร นิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็สามารถเข้าฝึกอบรมได้แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการสอบ ซึ่งหลักสูตรหนึ่งจะตกอยู่ที่ 5,000 – 8,000 บาท 


ฝากถึง หรือเชิญชวนบุคลากร นิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการเข้าร่วมโครงการนี้ 

อยากฝากถึงบุคลากร นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งบุคลากรที่อยู่ในสายวิชาการ และฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งนิสิตทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Non-IT อาจารย์จะใช้คำว่ากลุ่ม Non-IT หมายความว่ากลุ่มที่ไม่ได้เรียนทางด้าน IT กับกลุ่มที่เรียนทางด้าน IT เมื่อเรามีศูนย์ Huawei ICT Academy ของหัวเว่ยเกิดขึ้นเราจะมีหลักสูตรอบรมที่ทันสมัย และสามารถสอบ certificate ได้ฟรี ดังนั้นในฐานะผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการ จึงมีความต้องการจะเชิญชวนนิสิต บุคลากรทุกท่านเข้ามาฝึกอบรมและสอบ certificate สำหรับน้องๆ ที่เป็นนิสิต certificate ที่ได้รับ สามารถนำไปสมัครงานได้โดยไม่มีปัญหา ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับตัวบัณฑิตในอนาคตได้เป็นอย่างดี สำหรับบุคลากร และคณาจารย์สามารถเพิ่มพูนความรู้ได้ การสอบก็ไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งเรื่องของการฝึกอบรม และการสอบ ในอนาคตเมื่อมีผู้ที่สนใจมากขึ้น อาจจะมีห้องปฏิบัติการหรือศูนย์เทคโนโลยีของหัวเว่ยเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็นศูนย์กลางในภาคอิสานต่อไป

บุคคลภายนอก หน่วยงานภายนอก ในจังหวัดมหาสารคาม มีโอกาสเข้ามาใช้ได้ไหม

บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาฝึกอบรมได้ มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีความยินดี แต่การสอบ certificate จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการสอบเกิดขึ้น 


ช่องทางติดต่อ

สามารถติดต่อได้ที่สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เลย 

โครงการอบรมระยะแรกจะเริ่มขึ้นประมาณช่วงไหน

เมื่อเราออนไซต์ได้ในเร็วๆ นี้ ให้ติดต่อทางเพจสำนักสำนักคอมพิวเตอร์ ทางเพจมหาวิทยาลัย ทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัย และทางเว็บไซต์ของสำนักคอมพิวเตอร์ได้เลย


Author

ผู้เรียบเรียง : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล
Email : sineenard.p@msu.ac.th
หมายเลขติดต่อภายใน : 0-4375-4315 (ภายใน) 1722

ภาพประกอบบทความ

  :   สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล/กราฟิก:คุณปิยะฉัตร ธนภัทรธุวานันท์/พิสูจน์อักษร : นางสาวมลฤดี โคตมูล

Related Posts